svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ปิดเทอมนานๆ สนุกดี แต่หยุดนานไปกลับมีโอกาสสูญเสียความรู้

งานวิจัยยุคใหม่ฉายให้เห็นปรากฎการณ์ ‘ความถดถอยจากปิดภาคฤดูร้อน’ ที่เหล่าเด็กๆ จะหลงลืมความรู้ที่เพิ่งร่ำเรียนไปหลังจากปิดเทอมใหญ่ วิชาที่เป็นปัญหามากที่สุดคือคณิตศาสตร์ โดยพบว่าความรู้ที่สูญเสียไปจากการปิดภาคฤดูร้อนเทียบเท่ากับการเรียนการสอนหนึ่งเดือน

สมัยเด็กการปิดภาคเรียนคือช่วงเวลาที่ผมรอคอย เพราะนี่คือห้วงเวลาสั้นๆ ที่จะได้หลุดพ้นจากวัฏจักรของการเข้าออกรั้วโรงเรียน ทำแบบฝึกหัด และเตรียมตัวสอบสู่การใช้ชีวิตอย่างอิสระ จะตื่นกี่โมงก็ไม่มีใครว่า จะนอนอ่านนิยายทั้งวันก็ไม่มีใครห้าม หรือแม้แต่นั่งเล่นเกมจนดึกดื่นก็อาจต้องทนฟังเสียงบ่นเล็กน้อย

แต่ตอนนี้ สถานะของผมเปลี่ยนจากลูกชายกลายเป็นคุณพ่อของเด็กชายวัยย่างสี่ขวบ จากที่เคยทำงานได้อย่างสบายตัวหลังจากส่งลูกเข้ารั้วโรงเรียนนานหลายเดือน ปฏิทินการศึกษาก็แจ้งผมว่า ‘ปิดเทอม’ กำลังใกล้จะมาเยือน นี่คือศึกหนักของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องเตรียมรับมือให้พร้อม ทั้งเรื่องการจัดสรรเวลาทำงาน ผลัดเปลี่ยนกันดูแล และสารพันกิจกรรมที่จะทำให้เจ้าตัวเล็กไม่เบื่อเมื่อต้องอยู่บ้าน พร้อมกับกระตุ้นการเรียนรู้ในช่วงปิดภาคเรียน

ปัญหาน่าปวดหัวนี้นำไปสู่การตั้งคำถามว่าถ้าโรงเรียนไม่มีปิดภาคเรียน หรือลดเวลาลงสักหน่อยจะเป็นไปได้หรือเปล่า แล้วการหยุดเรียนเป็นเวลานานส่งผลต่อผลการศึกษาของเด็กๆ อย่างไรบ้าง

 

ผลกระทบจากการปิดภาคเรียน

ทราบไหมครับว่าระยะเวลาในการปิดภาคเรียนของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างหลากหลายอย่างยิ่ง เช่นในฝั่งประเทศสหภาพยุโรปที่แม้จะโด่งดังเรื่องสวัสดิการวันหยุดคนทำงานที่มากจนน่าอิจฉา หลายคนอาจแปลกใจเมื่อทราบว่าประเทศอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสมีระยะเวลาปิดภาคเรียนที่ค่อนข้างสั้น (13 สัปดาห์ และ 10 สัปดาห์ตามลำดับ)  เช่นเดียวกับฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่น (10 สัปดาห์) และสิงคโปร์ (12 สัปดาห์) ขณะที่สหรัฐอเมริกากลับมีช่วงเวลาปิดเทอมยาวเหยียด (16 สัปดาห์) ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มกลางๆ (14 สัปดาห์)
 

แรกเริ่มเดิมที การปิดภาคเรียนมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กๆ ได้กลับไปช่วยครอบครัว ทำงานด้านการเกษตร เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือทำนอกเหนือจากร่ำเรียนวิชาการในห้องเรียน แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรม การปิดภาคเรียนก็ถูกปรับเปลี่ยนเป้าหมายเสียใหม่ให้เป็นเวลาว่างเพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการ พักผ่อนสมองน้อยๆ หลังจากกรำงานหนักมาหลายเดือน พร้อมกับมีเวลาว่างเพื่อไปสำรวจโลกนอกห้องเรียน

แต่งานวิจัยยุคใหม่กลับฉายให้เห็นปรากฎการณ์ ‘ความถดถอยจากปิดภาคฤดูร้อน’ (the summer slide) ที่เหล่าเด็กๆ จะหลงลืมความรู้ที่เพิ่งร่ำเรียนไปหลังจากปิดเทอมใหญ่เช่นด้านการอ่านเขียน แต่วิชาที่เป็นปัญหามากที่สุดคือคณิตศาสตร์ โดยงานวิจัยพบว่าความรู้ที่สูญเสียไปจากการปิดภาคฤดูร้อนนั้นเทียบเท่ากับการเรียนการสอนหนึ่งเดือนเต็ม  กลายเป็นว่าเหล่าคุณครูจะต้องเสียเวลาทบทวนเนื้อหาเดิมหลังจากเปิดเทอมใหม่

ที่สำคัญคือผลกระทบดังกล่าวผันแปรไปตามสถานะทางสังคม เด็กๆ จากครอบครัวที่ยากจนจะได้รับผลกระทบมากกว่า สาเหตุก็ตรงไปตรงมาเพราะพ่อแม่ฐานะดีย่อมมีทรัพยากรมากกว่าในการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ ในช่วงปิดเทอม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเชิงวิชาการ การเข้าค่ายภาคฤดูร้อนเพื่อเสริมทักษะที่เด็กๆ สนใจ หรือแม้แต่การพาไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพื่อซึมซับบรรยากาศและวัฒนธรรมที่แตกต่าง 
 

ในทางกลับกัน เด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจนหรืออยู่ในครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวจะได้รับผลกระทบสำคัญสองประการ อย่างแรกคือพ่อแม่ไม่มีเวลาและทรัพยากรเพียงพอที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกๆ ในช่วงปิดเทอม อย่างที่สองคือพ่อแม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อเด็กๆ อยู่บ้าน ทั้งการหาคนมาช่วยดูแลในช่วงที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหารซึ่งหลายประเทศรัฐบาลจะให้การสนับสนุนผ่านโรงเรียน งานวิจัยพบว่า ‘ช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างปิดภาคเรียน’ จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยเฉพาะเด็กๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมต้นขึ้นไป 

ยังไม่ต้องพูดถึง ‘ค่าเสียโอกาส’ ของทรัพยากรทั้งอาคารเรียนและบุคลากรที่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในช่วงปิดเทอม การปรับวิธีปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับผลการศึกษาและตารางชีวิตของพ่อแม่สมัยใหม่จึงเป็นเรื่องที่ควรถกเถียงอภิปรายเพื่อหาทางออกที่ก้าวข้าม ‘ความเคยชิน’ แบบเดิม

 

แล้วเราควรปรับการปิดภาคเรียนอย่างไรดี

หากจะยกเลิกการปิดภาคเรียน แน่นอนว่าเสียงบ่นขรมย่อมมาจากเหล่าเด็กๆ และบุคลากรในสถาบันการศึกษา ทั้งเด็กๆ ที่คงโอดอวยเพราะถูกช่วงชิงเวลาช่วงปิดเทอม บุคลากรด้านการศึกษาที่ไม่มีเวลาได้พักหายใจหรือพัฒนาตัวเอง รวมถึงผู้บริหารที่ไม่สามารถหาช่องว่างในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียนที่ทรุดโทรม

เอาเป็นว่าผมขอเสนอทางออกแบบหลากหลายโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับรูปแบบการปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับผลการวิจัยแล้วกันนะครับ

ทางเลือกแรกที่สามารถช่วยป้องกันการถดถอยด้านเรียนรู้ของเด็กๆ คือเปลี่ยน ‘รูปแบบ’ ของการปิดเทอม จากที่มีปิดเทอมใหญ่ (10 สัปดาห์) และปิดเทอมย่อย (4 สัปดาห์) ระหว่างภาคเรียน เราก็อาจปรับเป็นการปิดเทอมย่อยๆ ระยะสั้นคราวละ 2 สัปดาห์กระจายตลอดทั้งปี หรือในกรณีที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เราก็อาจเกลี่ยระยะเวลาการปิดภาคเรียนให้ใกล้เคียงกัน เช่นคราวละ 6-7 สัปดาห์แบบเนเธอร์แลนด์หรือเดนมาร์ก เพราะยิ่งปิดภาคเรียนนานเท่าไหร่ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียความรู้มากขึ้นเท่านั้น

ทางเลือกที่สองคือการกระตุ้นการเรียนรู้ในช่วงปิดภาคเรียน เช่น การแจกใบงาน การบ้าน หรือกิจกรรมระหว่างปิดภาคเรียนเพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ด้วยตนเอง วิธีการเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สำหรับผู้ปกครองอย่างผมแค่คิดว่านอกจากจะต้องคอยดูแลลูกที่บ้านแล้วยังต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชให้ทำการบ้านก็ชวนให้ปวดหัวไม่น้อย การกระตุ้นการเรียนรู้ในช่วงปิดภาคเรียนอีกรูปแบบหนึ่งเช่นในประเทศฝรั่งเศสคือการเปิดศูนย์นันทนาการบริหารจัดการโดยรัฐสำหรับเด็กๆ ที่พ่อแม่อาจไม่มีเงินพอจะส่งไปเรียนพิเศษ แม้ว่าศูนย์ดังกล่าวจะไม่เน้นการเรียนรู้แบบเข้มข้น แต่อย่างน้อยก็เป็นการพาเด็กๆ ออกจากบ้านและช่วยบรรเทาภาระพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องทำงาน

ส่วนทางเลือกสุดท้ายคือทางเลือกที่คนส่วนใหญ่คงไม่อยากได้ยินนักคือการลดช่วงเวลาปิดเทอม หนึ่งในประเทศที่มีช่วงเวลาปิดภาคเรียนน้อยที่สุดอันดับต้นๆ ของโลกคือเกาหลีใต้ แม้แต่ช่วงปิดภาคเรียนเองก็ยังอัดแน่นด้วยตารางเรียนเสริม ผลลัพธ์ที่ได้คือนักเรียนเกาหลีใต้มีคะแนนสอบของโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลหรือ PISA สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกทั้งในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน แต่แนวทางดังกล่าวก็มีราคาที่ต้องจ่ายคืออัตราการป่วยเป็นโรคจิตเวชของเด็กๆ ในเกาหลีใต้นั้นสูงที่สุดในหมู่ประเทศร่ำรวย

การระบาดของโควิด-19 คือหนึ่งสาเหตุที่เหล่านักวิจัยด้านการเรียนรู้หันมาศึกษาปรากฏการณ์การสูญเสียการเรียนรู้อย่างจริงจัง น่าเสียดายที่ภายหลังการระบาดของโควิด-19 การอภิปรายในหัวข้อดังกล่าวดูจะเงียบเหงาลง ทั้งที่ความจริงแล้วการปิดภาคเรียนฤดูร้อนที่ยาวนานร่วม 10 สัปดาห์ก็ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ในลักษณะเดียวกัน

หากต้องการให้นโยบายด้านการศึกษาสามารถเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงเวลาการปิดภาคเรียนเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคที่ภาครัฐต้องใส่ใจ โดยอาจปรับเปลี่ยนระยะเวลาให้สอดคล้องกับงานวิจัยสมัยใหม่ หรือออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กๆ ในครอบครัวร่ำรวยและครอบครัวยากจน

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • Cooper, H., Nye, B., Charlton, K., Lindsay, J., & Greathouse, S. (1996). The Effects of Summer Vacation on Achievement Test Scores: A Narrative and Meta-Analytic Review. Review of Educational Research, 66(3), 227–268. https://doi.org/10.3102/00346543066003227
  • Alexander, K. L., Entwisle, D. R., & Olson, L. S. (2007). Lasting Consequences of the Summer Learning Gap. American Sociological Review, 72(2), 167–180. https://doi.org/10.1177/000312240707200202
  • Xu, Jingyi and Lee, Sun Goo, Problems With Complex College Admissions Policies and Overloaded After-School Private Education on Middle- and High-School Students’ Mental Health in South Korea (October 1, 2022). Journal of Global Health Reports. 2023;7:e2023049. doi:10.29392/001c.84099, Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=4475257 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.4475257
  • https://www.economist.com/europe/2022/07/14/down-with-long-school-summer-breaks
  • https://www.economist.com/international/2018/08/09/long-summer-holidays-are-bad-for-children-especially-the-poor
  • https://brilliantio.com/is-summer-vacation-too-long/

 

ภาพประกอบโดย Krittaporn Tochan