svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

Easy E-Receipt ช่วยลดหย่อนภาษี แต่ไม่ช่วยลดหย่อนรายจ่าย?

12 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ใกล้ช่วงโค้งสุดท้ายของมาตการ Easy E-Receipt กับเอาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากการใช้จ่ายสินค้ามาลดหย่อนภาษี แต่ก่อนที่รีบไปใช้จ่ายให้ครบโควตา คอลัมน์ 'Save ศาสตร์' อยากมาชวนคำนวณกันก่อนว่า มันคุ้มค่ากับเราจริงไหม?

“ซื้อตอนนี้! ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท” เชื่อว่าในช่วงต้นปีแบบนี้ คงเห็นคำเชิญชวนให้เราจับจ่ายใช้สอยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีอย่าง Easy E-Receipt อยู่ใช่ไหม?

“ซื้ออะไรดีนะ จะได้เอาไปลดหย่อนภาษีได้” ถ้าใครเริ่มเกิดคำถามนี้ขึ้นมาในใจ ข้อควรระวังก็คือ นี่อาจจะเป็นสัญญาณที่นำไปสู่การใช้จ่ายที่เกินตัวครับ

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เงินมันก็เงินเรา? แน่นอนว่าเงินใครก็เงินมัน แต่เอาแบบนี้ก่อนดีกว่าครับ ผมอยากชวนทุกคนมองย้อนไปที่เหตุผลของมาตรการ Easy E-Receipt  ก่อนว่ามาจากแนวคิดแบบใด และมีเป็นประโยชน์แบบไหนต่อประเทศเราบ้าง

ในมุมของรัฐ มาตรการ Easy E-Receipt  เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เพราะเมื่อประชาชนมีการบริโภคเพิ่มขึ้นผ่านการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ผลที่ตามมาก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
 

แต่ถ้ากลับมามองในมุมของการเงินส่วนบุคคล การบริโภคที่เกินความจำเป็นจากมาตรการนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่เราต้องตั้งคำถามตัวเองเหมือนกัน และเป็นคำถามสำคัญที่ผมอยากชวนคนที่คิดจะใช้สิทธิ์ตามมาตรการนี้ หรือกำลังตัดสินใจใช้สิทธิ์ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้อยู่ นั่นคือ ‘ถ้าใช้สิทธิ์ซื้อครบตามมาตรการในจำนวนเงิน 50,000 บาท เราจะลดภาษีได้กี่บาท?’

ภาพจาก: TAXBugnoms

คำถามที่ว่าจะตอบได้ง่ายขึ้น ถ้าเราทราบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เราต้องจ่ายครับ เช่น ถ้าหากเราเสียภาษีในอัตรา 20% และเราซื้อของตามมาตรการ Easy E-Receipt เต็มสิทธิ์ 50,000 บาท เราก็จะลดภาษีที่ต้องจ่ายไปได้ถึง 10,000 บาท

ดังนั้น จะเห็นว่าสำหรับคนที่เสียภาษีในอัตราต่ำๆ หรืออยู่ในกลุ่มที่ยกเว้นภาษี การที่ต้องจ่ายเงินออกไป เพื่อภาษีที่ประหยัดได้ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่คุ้มค่า นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่น่าคิดต่ออีกนั่นคือ ของที่เราซื้อมานั้นเป็นของที่ ‘จำเป็น’ กับเราจริงๆ หรือเราซื้อมันเพื่อ ‘ลดภาษี’ (และลดได้แค่บางส่วน) กันแน่?

ถ้าใครคำนวณมาถึงตรงนี้แล้วยังได้คำตอบว่า ของที่ซื้อนั้นจำเป็น และ มาตรการ Easy E-Receipt คุ้มค่ากับการใช้จ่ายของเรา ก็นับเป็นเรื่องน่ายินดีครับ เพราะนั่นแปลว่าเราสามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้ และไม่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว
 

สำหรับใครที่สามารถบริหารจัดการการเงินได้ดีกว่านั้น และอยากรู้สึกถึง ‘ความคุ้มค่า’ ที่มากกว่า เราก็สามารถทำได้ด้วยการมองหาสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับผ่านการซื้อสินค้า เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในอีกทางหนึ่ง มาดูกันว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง

ภาพจาก: TAXBugnoms

รูปข้างบนนี้เป็นตารางการใช้จ่ายตามมาตรการ Easy E-Receipt ของผมในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีที่ผมได้ใช้สิทธิ์ (ตามใบกำกับภาษี) คือ 40,560.30 บาท แต่จ่ายเงินไปจริงๆ เพียงแค่ 35,912.75 บาท เพราะมีส่วนหนึ่งที่ได้รับโค้ดส่วนลดจากแพล็ตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ ส่วนลดจากบัตรเครดิต และเครดิตเงินคืนต่างๆ และวิธีการจ่ายทั้งหมดเป็นการจ่ายผ่านบัตรเครดิต เพื่อให้ได้สิทธิ์สะสมแต้มเพิ่มเติมด้วย

สรุปสั้นๆ คือ ผมจ่ายเงินประมาณ 36,000 บาท แต่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีในจำนวน 40,500 บาทนั่นเอง ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขและเปรียบเทียบดู ก็น่าจะรู้สึกถึงความคุ้มค่าที่มากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ในความเป็นจริงสิ่งที่ผมทำมันก็อาจจะไม่ได้คุ้มค่าอยู่ดี

ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ? เพราะในระหว่างทางของการใช้จ่ายตามมาตรการนี้ เราอาจจะต้องเจอกับอุปสรรคหรือเสียสิทธิ์บางอย่างไป เช่น

  • ซื้อของจากร้านค้าบอกว่าออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่สุดท้ายไม่ได้ออกให้อย่างที่ตกลงไว้ 
  • ของที่ซื้อบางชิ้นอาจไม่ใช่ของที่จำเป็นอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องรีบซื้อเพื่อรักษาสิทธิ์ตัวเองไว้ 
  • บางรายการอาจไม่ได้กดโค้ดลดราคาที่ดีที่สุด บางรายการมีโค้ดที่คุ้มค่ากว่าแต่ออกมาทีหลัง หรือไม่แน่ว่าหลังจากมาตรการนี้ ของที่ว่าอาจจะมีส่วนลดที่มากขึ้น
  • เราไม่รู้ว่าปีนี้รายได้ตัวเองจะเป็นอย่างไร มากขึ้น ลดลง หรือเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหน การซื้อของในตอนนี้อาจจะไม่ได้ลดภาษีได้ในอัตราที่เราคิดไว้
  • ด้วยจำนวนเงิน 50,000 บาทเต็มวงเงิน หลายคนอาจต้องนำเงินบางส่วนที่เก็บไว้มาใช้จ่ายไปก่อน หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ไปจนถึงกระทบกับเงินที่ใช้หมุนเวียนในชีวิต เพื่อให้ตัวเองได้ใช้สิทธิ์อย่างคุ้มค่า

อย่างไรก็ดี มาตรการ Easy E-Receipt เป็นอีกหนึ่งแนวทางวางแผนจัดการเงิน ที่สามารถช่วยให้เราลดภาษีที่ต้องจ่ายได้หากคิดคำนวณได้อย่างถูกต้องและวางแผนใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสมกับฐานะการเงินของเราเอง

แน่นอนว่าตัวผู้เขียนเองไม่ได้มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าใครใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า และไม่มีสิทธิ์ว่าตัดสินว่าการใช้จ่ายในรูปแบบไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น แต่การพูดถึงในประเด็นต่างๆ ของบทความนี้ เป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ชี้ให้เห็นว่าตัวมาตรการอาจมีสิ่งที่ต้องควรระวังในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละร้านค้าที่ไม่สะดวกเท่าที่ควร หรือแม้แต่การใช้จ่ายที่อาจจะเกินกำลังที่เรามี ที่สุดท้ายแล้วก็จะมากระทบกับสถานะทางการเงินของเรา

หวังว่าทุกคนจะมองเห็นและเข้าใจถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายครับ
 

logoline