svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ถ้าไทยคือเมืองท่องเที่ยว เราควรมี “ตู้ล็อกเกอร์ฝากของ” มากกว่านี้รึเปล่า?

นโยบายหนึ่งที่ญี่ปุ่นใช้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการใช้พื้นที่สาธารณะคือ การไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องหอบหิ้วสิ่งของ โดยจะมีตู้ล็อกเกอร์ไว้ให้บริการตามแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่แลนด์มาร์ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คนและนักท่องเที่ยว

ส่วนหนึ่งของเมืองเดินได้คือการที่เมืองมีสาธารณูปโภคที่ช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ นอกจากการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ด้วยการเดินแล้ว หลายครั้งเราอาจพบว่าตัวเราเองต้องหอบหิ้วสิ่งของและต้องไปทำธุระอื่นๆ สำหรับคนไม่ใช้รถหรือคนเมืองทั่วไปที่อาจจะอยากแวะเพื่อเดินหรือวิ่งออกกำลังกาย ปัญหาหลักที่เรามักเจอคือมีไม่กี่สวนหรือพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพที่มีบริการฝากของชั่วคราว

‘ล็อกเกอร์สาธารณะ’ จึงเป็นอีกหนึ่งบริการที่บ้านเรายังไม่แพร่หลายนัก ในบางพื้นที่ที่มีให้บริการก็อาจจะมีราคาและจุดบริการที่ไม่สะดวกในการใช้งานนัก ตู้ล็อกเกอร์ฝากของนอกจากจะเป็นบริการของคนเมืองและท้องที่ ในประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น เรามักจะเจอกับตู้ล็อกเกอร์หยอดเหรียญซึ่งพบได้ทั่วไป ตู้ล็อกเกอร์เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถฝากของและกระเป๋าเดินทางไว้และไปเดินเล่นในย่านหรือพื้นที่รอบๆ ได้อิสระขึ้น ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาพใหญ่และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย

ถ้าไทยคือเมืองท่องเที่ยว เราควรมี “ตู้ล็อกเกอร์ฝากของ” มากกว่านี้รึเปล่า?
 

ด้วยความที่ผู้เขียนที่มักจะมีของเยอะ ไม่ขับรถแต่มักจะมีแผนทำกิจกรรมเป็นช่วงๆ เช่นทำงานตอนบ่าย ซื้อของตอนเย็น และไปเดินเล่นในที่อื่นๆ ช่วงหัวค่ำหรือไปออกกำลังที่สวน การมีที่ฝากของที่อยู่ในจุดที่กลับมาเอาได้—หรือในระดับพื้นฐานที่สุดคือบริการรับฝากของที่สวนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ—น่าจะเป็นอีกหนึ่งบริการที่ทำให้ชีวิตของการเดินและการใช้เวลาในย่านสะดวกสบายมากขึ้น

 

ล็อกเกอร์กับความเป็นสาธารณะ

ล็อกเกอร์ไม่ใช่สาธารณูปโภคใหม่ อันที่จริงน่าจะเป็นบริการเก่าแก่ที่เราคุ้นเคย ซึ่งล็อกเกอร์อันหมายถึงพื้นทีรับฝากของ ส่วนใหญ่มักหมายถึงตู้มีฝาปิดที่มีล็อกหรือเราต้องเอาตัวล็อกไปล็อกไว้เอง โดยทั่วไปเราอาจคุ้นเคยกับตู้ล็อกเกอร์ในโรงเรียน ในสนามกีฬาที่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเช่นสระว่ายน้ำ หรือในหลายพื้นที่การทำงานที่ต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดเครื่องแบบเพื่อควบคุมความสะอาด สถานที่เหล่านี้ก็มักจะมีตู้ล็อกเกอร์ไว้ให้บริการ

ทว่าตู้ล็อกเกอร์ก็ดูจะสัมพันธ์กับมิติทางวัฒนธรรมด้วย ในยุคหนึ่งเราอาจพบตู้เหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ข้างต้นและเราต้องพกแม่กุญแจมาล็อกไว้ ประกอบกับแนวคิดด้านความปลอดภัย ตู้ล็อกเกอร์ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยน่าไว้ใจที่เราจะทิ้งข้าวของไว้ แต่ในระยะหลังตู้ล็อกเกอร์ก็มีพัฒนาการขึ้น เริ่มนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ หรือมีหน้าตาที่แข็งแรงขึ้น อยู่ในบริเวณที่มองเห็นได้ มีผู้คนหรือเจ้าหน้าที่คอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ถ้าไทยคือเมืองท่องเที่ยว เราควรมี “ตู้ล็อกเกอร์ฝากของ” มากกว่านี้รึเปล่า?
 

ในบางพื้นที่เช่นโรงเรียนในสหรัฐฯ เรามักเห็นภาพในโรงเรียนที่บริเวณโถงทางเดินเรียงรายไปด้วยตู้ล็อกเกอร์และมักเกิดเหตุการณ์บูลลี่ทำร้ายกัน หรือห้องล็อกเกอร์ที่มักเป็นพื้นที่ลับตา สำหรับสหรัฐฯ ด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ตัวตู้ล็อกเกอร์อาจกลายเป็นจุดเสี่ยงภัย และเป็นพื้นที่เก็บวัตถุที่อาจเป็นอันตราย กลายเป็นพื้นที่ซุกซ่อนสิ่งของ โรงเรียนในสหรัฐฯ ก็เริ่มนำล็อกเกอร์ออกจากสถาปัตยกรรมของโรงเรียน และเปลี่ยนหน้าตาโถงทางเดินให้โปร่งโล่งและปลอดภัยขึ้น

ประเด็นเรื่องความปลอดภัยจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญของบริการตู้เก็บของ การรับส่งของที่ผิดกฎหมายหรืออันตราย ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีสำคัญเช่นกล้องวงจรปิดที่ชัดเจนขึ้น มีราคาถูกลง ระบบติดตามตัวที่ดีขึ้น การควบคุมอาชญากรรมและการดูแลความปลอดภัยในการใช้งานก็อาจเป็นสิ่งที่การออกแบบและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมได้

 

นโยบายท่องเที่ยวแบบไม่ต้องถือ

ญี่ปุ่นเป็นอีกดินแดนของตู้ล็อกเกอร์ แน่นอนว่าญี่ปุ่นเองเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับการเดิน มีการพัฒนาย่านไปจนถึงมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ดี ทว่าการขยายตัวของตู้ล็อกเกอร์นอกจากจะสัมพันธ์กับบริบทเมืองและวัฒนธรรมที่ผู้คนมักจะมีจุดสำคัญคือสถานีรถไฟหรือพื้นที่ต่างๆ ที่เราสามารถหย่อนของและกลับมารับได้ในจุดเดิมเมื่อเราจะเดินทางกลับหรือไปที่อื่นๆ การมีตู้ล็อกเกอร์อยู่ทุกหนแห่งยังสัมพันธ์กับแนวนโยบายการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Hand-free Tourism

ถ้าไทยคือเมืองท่องเที่ยว เราควรมี “ตู้ล็อกเกอร์ฝากของ” มากกว่านี้รึเปล่า?

นโยบายท่องเที่ยวแบบเดินสบายไม่ต้องหิ้ว หรือการท่องเที่ยวมือเปล่าเป็นนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นสนับสนุนกิจการและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการช่วยจัดการสัมภาระ การสนับสนุนให้มีพื้นที่รับฝากของ ไปจนถึงระบบการส่งต่อสัมภาระเช่นกระเป๋าเดินทางหรือสิ่งของต่างๆ ระหว่างเมือง ส่งไปจากสถานี สนามบิน ไปรษณีย์ หรือร้านสะดวกซื้อ บริการส่งข้าวของหรือสินค้าถึงที่พักหรือพื้นที่อื่นๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยว ซึ่งการอำนวยความสะดวกเหล่านี้จะนำไปสู่การจับจ่ายที่สะดวกสบายมากขึ้น การเดินในพื้นที่ได้มากขึ้นนำไปสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นที่เฟื่องฟูมากขึ้น

ในปี 2017 มีรายงานจาก Nikkei ว่าทางการญี่ปุ่นต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบไม่ต้องหอบหิ้วของด้วยการขยายจุดฝากกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ให้ครอบคลุมขึ้น ในการสนับสนุนนี้กระทรวงท่องเที่ยวจะสนับสนุนงบประมาณให้กับพื้นที่หรือกิจการที่เกี่ยวข้อง งบประมาณจะสนับสนุนตั้งแต่พื้นที่รับฝากของในจุดบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว บริการรับฝากสัมภาระในสนามบิน สถานีรถไฟและพื้นที่พาณิชย์ต่างๆ ตัวงบประมาณจะรวมไปถึงการสนับสนุนสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องเช่นป้ายแสดงข้อมูลหลายภาษา ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่ใช้แสดงข้อมูลในบูธ

ตู้ล็อกเกอร์ของญี่ปุ่นมีอยู่แทบจะทุกพื้นที่ จุดเด่นของตู้ล็อกเกอร์ของญี่ปุ่นคือตู้ล็อกเกอร์ที่ใช้การหยอดเหรียญ ในสถานีหลักๆ เช่นชินจุกุมีตัวเลขจำนวนตู้ล็อกเกอร์มากถึง 3,000 ตู้ ซึ่งตู้เหล่านี้ส่งผลทั้งต่อคนท้องถิ่น และช่วยให้การวางแผนท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมีความยืดหยุ่นขึ้น จัดแผนท่องเที่ยวได้หลากหลายและขยายไปยังเส้นทางหรือพื้นที่อื่นๆ ได้ ตัวตู้ล็อกเกอร์ของญี่ปุ่นมีระบบขนาดที่เป็นมาตรฐาน มีเว็บไซต์ที่ตรวจสอบพื้นที่รับฝากได้

ถ้าไทยคือเมืองท่องเที่ยว เราควรมี “ตู้ล็อกเกอร์ฝากของ” มากกว่านี้รึเปล่า?

ด้วยประเด็นเรื่องพื้นที่รับฝากของในฐานะอีกบริการสาธารณะของเมือง เมื่อปลายปี 2023 ที่นิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียก็ได้ออกบริการและแพลตฟอร์มใหม่ชื่อ Momentum 2.0 แพลตฟอร์มเครือข่ายของพื้นที่รับฝากสิ่งของและตู้ล็อกเกอร์ดิจิทัลที่จะตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟของเมือง ในช่วงเปิดตัวระบบได้ติดตั้งจุดฝากของไว้มากถึง 50 สถานี และวางแผนว่าจะขยายให้ครบทุกสถานีภายในกลางปี 2024 นี้ 

ระบบของอินเดียมุ่งเน้นไปที่การให้ความสะดวกกับการเดินทางในชีวิตประจำวัน ใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ผู้ใช้งานสามารถระบุพื้นที่รับฝากของ เลือกขนาด และกดจอง จ่ายเงินได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ เมื่อทำการจองแล้วจะได้รหัสในการเปิดตู้เพื่อใช้งาน ไม่ต้องใช้กุญแจ

ประเด็นเรื่องตู้ล็อกเกอร์เช่นระบบตู้หยอดเหรียญ ในปี 2019 มีงานวิจัยที่ชี้ว่าตู้ล็อกเกอร์หยอดเหรียญเป็นอีกวิธีที่ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว งานศึกษาชี้ให้เห็นว่าตู้รับฝากจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข เช่น การใช้งานที่สะดวกและเข้าใจง่าย ที่สำคัญคือควรเป็นการลงทุนที่ลงทุนด้วยต้นทุนไม่สูงนักทำให้วางราคาให้บริการที่ไม่แพงได้ ทั้งนี้งานศึกษายังเชื่อมโยงวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ากับความสำเร็จของตู้ล็อกเกอร์คือการที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับบริการและความสะอาด ทำให้ตัวตู้บริการน่าเชื่อถือและให้ความรู้สึกสบายใจกับผู้ใช้งาน

สิ่งที่น่าสนใจคือราคา เมื่อเราไปที่ญี่ปุ่น การฝากของมักคิดราคาตามขนาด อยู่ที่ราว 200-800 เยน ส่วนใหญ่จะฝากได้ยาวนานถึง 24 ชั่วโมง ไม่ต้องห่วงเรื่องเวลาการให้บริการ โดยรวมราคาอยู่ที่ 50- 200 บาท สำหรับบ้านเราเองเริ่มมีตู้ให้บริการ แต่อาจเป็นตู้ที่เทคโนโลยีสูงกว่า ราคามักจะเริ่มต้นคิดเป็นรายชั่วโมง เช่น 30 บาท/ชั่วโมง และถ้าฝากถึงระยะเวลาหนึ่งจะคิดเป็นราคาเหมารายวัน ราคาตกอยู่ที่ราว 180-300 บาท/วัน ถ้าตู้ตั้งอยู่บริเวณที่ใช้งานเลยเช่นที่สวนสาธารณะ ค่าบริการก็อาจจะพอรับได้กับการฝากของสองชั่วโมงในราคา 60 บาท

ถ้าไทยคือเมืองท่องเที่ยว เราควรมี “ตู้ล็อกเกอร์ฝากของ” มากกว่านี้รึเปล่า?

ประเด็นเรื่องความคล่องตัวค่อนข้างสำคัญมาก หลายสวนโดยเฉพาะสวนสาธารณะใหม่ๆ ในบ้านเรา เช่นสวนป่าเบญจกิติที่ถือเป็นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ออกกำลังกายที่น่าจะเข้าข่าย hand-free ก็อาจจะยังไม่มีบริการรับฝากของ

ตรงนี้มีชาวต่างประเทศไปถามคำถามกับหลายๆ สวนใน Tripadvisor ถึงบริการรับฝากของตามสวนสำคัญต่างๆ คำตอบที่ได้คือ นอกจากสวนใหม่ๆ ที่ไม่มีบริการตู้ล็อกเกอร์เช่นสวนป่าเบญจกิติ ซึ่งอาจจะต้องไปฝากของที่อาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แทน สวนสาธารณะเช่นสวนลุมพินีที่มีจุดรับฝาก ก็เป็นบริการที่อาจจะต้องเข้าใจกันเอง ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใจว่าไม่มีให้บริการ บางสวนเป็นตัวแทนของความสะดวกสบายเช่นสวนอุทยานเบญจสิริข้างห้างเอ็มโพเรียมนับว่าโชคดีที่มีจุดรับฝากราคาประหยัดที่ราคา 10 บาท และบางสวนที่น่าจะมีคือสวนจตุจักรและสวนรถไฟซึ่งเป็นสวนขนาดใหญ่และเดินทางไปด้วยขนส่งสาธารณะได้ ก็ยังไม่มีให้บริการ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • Raihanah, N., & Syafariani, R. F. (2019). Coin Lockers as a Technology-Based Public Facility. IOP Conference Series: Materials Science and Engineering, 662(3), 032047. https://doi.org/10.1088/1757-899X/662/3/032047
  • Nikkei Japan. (2017, April 14). Japan touts 'hands-free travel' by storing tourists' luggage. Nikkei Japan. https://asia.nikkei.com/Economy/Japan-touts-hands-free-travel-by-storing-tourists-luggage
  • The Economic Times. (2023, November 2). Now, you can keep your belongings in a locker at Delhi Metro. Here are charges, stations, and other details. The Economic Times. https://economictimes.indiatimes.com/industry/transportation/railways/now-you-can-keep-your-belongings-in-a-locker-at-delhi-metro-here-are-charges-stations-and-other-details/articleshow/104907638.cms
  • iTravelBlog. (2024, May 15). Coin Locker: Tokyo coin locker practical strategy and experience. iTravelBlog. https://en.itravelblog.net/16858/