svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Animals

13 มีนาคม "วันช้างไทย" ชวนรู้จัก 10 เรื่องน่ารู้ของช้าง

13 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันช้างไทย" เปิด 10 เรื่องน่ารู้ของ "ช้าง" รวมถึง ตัวอย่าง "เสียงร้องของช้างป่า" ซึ่งแต่ละแบบแสดงออกถึงการสื่อสารที่แตกต่างกัน

13 มีนาคม 2568 เนื่องใน 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันช้างไทย" เนชั่นทีวี ชวนรู้จัก 10 เรื่องน่ารู้ของ "ช้าง" และที่มาของวันช้างไทย กัน

วันช้างไทย ริเริ่มจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่า หากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2541

ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

10 เรื่องน่ารู้ของ "ช้าง"

ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลเนื่องในวันช้างไทย ระบุว่า เนื่องในวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันช้างไทย" ซึ่งถือเป็นการยกย่องช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาอย่างยาวนาน มีบทบาทสำคัญในหลายแง่มุมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ในอดีตเคยใช้รูปช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ในธงชาติ ใช้เป็นพาหนะ ยามออกศึกของพระมหากษัตริย์ ใช้ในการคมนาคมขนส่ง รวมถึงใช้ในพระราชพิธีต่างๆ

และอีกด้านหนึ่งของ "ช้าง" คือ ประชากรสัตว์ป่าที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศอีกมากมาย และในวันนี้เราได้รวบรวม 10 เรื่องน่ารู้ของช้าง มาฝากกัน

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" ชวนรู้จัก 10 เรื่องน่ารู้ของช้าง

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" ชวนรู้จัก 10 เรื่องน่ารู้ของช้าง

1. ช้าง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือช้างแอฟริกา มีงายาว หูใหญ่มาก พบได้ในทวีปแอฟริกา และช้างเอเชีย มีใบหูเล็ก หัวมีโหนก พบได้ในประเทศไทย เมียนมาร์ อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

2. ชื่อของช้างสามารถบอกเพศได้ ได้แก่ ช้างสีดอ คือ ช้างเพศผู้ ที่ไม่มีงา ช้างพลาย คือ ช้างเพศผู้ ที่มีงา ช้างพัง คือ ช้างเพศเมีย ซึ่งบางทีอาจมีงาเล็กๆ ออกมา เรียกว่า ขนาย

3. ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่นอนน้อยที่สุดในโลก โดยช้างป่านอนเพียง 1-3 ชั่วโมงต่อวัน หรือเฉลี่ย 1-2 ครั้ง ในลักษณะยืนนอนหรือยืนหลับเป็นช่วงๆ บางตัวอาจนอนตะแคงราบเมื่อรู้สึกปลอดภัย

4. แม่ช้างที่สมบูรณ์เต็มวัยจะอุ้มท้องนานถึง 22 เดือน หรือเกือบ ๆ 2 ปี และตกลูกครั้งละ 1 ตัว

5. ช้างสายตาไม่ดีมองเห็นชัดเจนที่สุดในระยะไม่เกิน 10 เมตร และมีลักษณะอาการตาบอดสีแดงและสีเขียว แต่สามารถมองเห็นแม่สีหลักอื่น ๆ ได้ชัดเจน

6. งวงช้าง ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อมากกว่า 40,000 มัด มีความแข็งแรงมาก ใช้สำหรับหยิบจับ เป็นจมูก มือ และนิ้ว

7. ช้างเป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นฝูงหรือที่เราเรียกว่า "โขลง" ประกอบด้วย แม่ช้าง ลูกช้าง และช้างตัวอื่น ๆ โดยมี "แม่แปรก" หรือช้างที่อายุมากที่สุดเป็น จ่าโขลง

8. ช้างเป็นสัตว์ชนิดกินพืชที่มีพฤติกรรมเดินหากินไปเรื่อยๆ เป็นระยะทางไกล ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่สัตว์กินพืชชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า และ "มูลช้างป่า" ยังช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืชได้กว้างไกลอีกด้วย

9. ช้างป่าเป็นสัตว์สังคมที่มีภาษาในการสื่อสารกันได้หลากหลายวิธี เช่น การแสดงท่าทาง การสัมผัส การส่งเสียง การรับแรงสั่นสะเทือน และการดมกลิ่น

10. ช้างป่ามักตกมันในฤดูหนาว หลังจากได้กินพืชอาหารที่สมบูรณ์ในช่วงฤดูฝน สังเกตอาการตกมันได้จากขมับทั้งสองข้างบวม มีน้ำมันไหลเปื้อนแก้ม และไหลเข้าปาก สามารถตกมันได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมียที่โตเต็มวัย มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง อายุระหว่าง 16-60 ปี แต่ส่วนใหญ่จะเกิดกับช้างเพศผู้มากกว่า ส่วนช้างเพศเมียเกิดขึ้นได้แต่น้อยและไม่รุนแรง


ขอบคุณภาพ : เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


สัตว์ป่าแต่ละชนิดล้วนแต่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การมีอยู่ของช้างบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง โดยในปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงอนุรักษ์และบริหารจัดการความเป็นอยู่ของช้างตามธรรมชาติ ร่วมกับหน่วยงาน องค์กร และชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ที่มาข้อมูล : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand , กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division
 

13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" ชวนรู้จัก 10 เรื่องน่ารู้ของช้าง

มีนาคม เดือนแห่งช้างไทย ชวนรู้จัก "เสียงร้องของช้างป่า"

นอกจากนี้ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า ช้างป่าเป็นสัตว์สังคม และมีการสื่อสารกันได้หลายวิธี ทั้งการใช้งวงสัมผัสตัวกัน การส่งเสียงร้อง และการรับแรงสั่นสะเทือนโดยประสาทสัมผัสที่เท้า เป็นต้น

ช้างป่า สามารถสื่อสารกันด้วยเสียงผ่านระยะทางไกลได้มากกว่า 10 กิโลเมตร เป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่ต่ำกว่าความถี่เสียงที่มนุษย์ได้ยิน เสียงของช้างป่าแต่ละแบบแสดงออกถึงการสื่อสารที่แตกต่างกัน เช่น

โฮก : เสียงเรียกสมาชิกในโขลงให้มารวมกัน มักส่งเสียงในช่วงก่อนออกเดินทาง หากิน ขณะกําลังหากิน และขณะจะเดินกลับที่พัก

แปร๋น : เสียงแสดงอาการตกใจ มีหลายระดับความดัง และมีพฤติกรรมติดตาม ด้วยการหนีหรือการเข้าทําร้าย

แอ๋ง แอ๋ง : เสียงแสดงอาการหงุดหงิดรําคาญ มักมีพฤติกรรมการส่ายหัว และโยกตัวพร้อมกันไปด้วย

เอ๊ก เอ๊ก : เสียงแสดงความยินดี หรือเป็นเสียงหัวเราะที่ช้างใช้สื่อสารกัน

เสียงต่ำ และใช้ปลายงวงแตะพื้นดิน : เสียงแสดงออกว่ากําลังเผชิญกับอันตรายอยู่



ขอบคุณภาพ : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
13 มีนาคม \"วันช้างไทย\" ชวนรู้จัก 10 เรื่องน่ารู้ของช้าง

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, Human Elephant Voices, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand , กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division, วิกิพีเดีย