svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Health & Lifestyle

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ภัยร้ายใกล้ตัวส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว

โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังพบได้มากขึ้น ตั้งแต่กลุ่มคนอายุน้อยไปจนถึงกลุ่มคนวัยเริ่มต้นทำงาน อาการเริ่มต้นของกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท มักจะมีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา แข้งขาอ่อนแรง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

 

ยังมีหลายๆ คนที่เข้าใจผิดว่ากระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ทั้งบริเวณหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลัง มักจะเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังพบได้มากขึ้น ตั้งแต่กลุ่มคนอายุน้อยไปจนถึงกลุ่มคนวัยเริ่มต้นทำงาน สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากการแตกหักของชิ้นส่วนกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเกิดจากความไม่แข็งแรงของชิ้นกระดูกในวัยเด็ก หรืออาจเกิดเพราะอุบัติเหตุถูกกระแทก รวมไปถึงอาจเกิดจากการเล่นกีฬาก็ได้เช่นกัน อาการเริ่มต้นของกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท มักจะมีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา แข้งขาอ่อนแรง เมื่อเป็นแล้วก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท และวิธีป้องกันเบื้องต้นกัน

 

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทคืออะไร?

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือ Spondylolisthesis คือลักษณะอาการที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเสื่อม ส่งผลให้ข้อต่อของกระดูกสันหลังเสื่อมตามกัน โดยกระดูกสันหลังจะเคลื่อนไปทางด้านหน้ามากขึ้น จนทำให้โพรงประสาทบริเวณดังกล่าวตีบแคบลง ในที่สุดก็จะไปกดทับเส้นประสาทนั่นเอง โดยทั่วไปแล้วกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักเกิดขึ้นในบริเวณกระดูกช่วง L4 - L5 หรือบริเวณด้านล่างสุดติดกับสะโพก ซึ่งเป็นข้อต่อที่ต้องขยับเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้เวลาขยับตัวจะมีอาการปวดหลัง ชา และปวดร้าวลงขา ถ้าปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง จนถึงขั้นไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้อีกด้วยเช่นกัน

 

อาการของกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

ผู้ที่มีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทในระยะเริ่มต้น ส่วนใหญ่อาการจะไม่ค่อยชัดเจน แต่จะแสดงอาการชัดขึ้นเมื่อเป็นสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งความรุงแรงจะแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลังช่วงล่าง และอาการจะหนักขึ้นหลังออกกำลังกาย โดยเฉพาะเมื่อมีการขยับหรือบริหารบริเวณช่วงบั้นเอว อาการที่แสดงออกชัดจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนหลัง จะมีอาการปวดหลังตั้งแต่บริเวณบั้นเอวส่วนล่างลงไป จะปวดหนักเมื่อต้องก้มหรือแอ่นหลัง แต่อาการจะดีขึ้นถ้าได้นอนหรือนั่งพัก แต่ถ้าอาการหนักจะรู้สึดปวดร้าวลงมายังสะโพกและต้นขา
  • ส่วนขา จะมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกส่วนล่าง ต้นขาด้านหลัง ทำให้รู้สึกเหมือนกล้ามเนื้ออ่อนแรง และส่งผลกระทบต่อการเดิน ถ้าโพรงประสาทส่วนนั้นตีบแคบลงอาจส่งผลต่อการควบคุมการขับถ่ายได้

 

กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทกับการเล่นกีฬา

ปกติแล้วการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง รู้สึกกระปรี้กระเปร่า คลายความเมื่อยล้า และช่วยให้อาการปวดหลังดีขึ้นได้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท อาจแตกต่างออกไป ควรต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะกีฬาหลายประเภทสามารถส่งผลเสียต่ออาการได้ โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการเอี้ยวตัว-บิดตัวกะทันหัน หรือกีฬาที่มีการปะทะ มีการกระแทก และมีแรงกดต่อกล้ามเนื้อ เช่น

  • ฟุตบอล เป็นกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังกล้ามเนื้อตลอดเวลา มีการกระแทกบ่อย จนทำให้กระดูกสันหลังตึงตัว อาจส่งผลให้กระดูกสันหลังเคลื่อน และมีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
  • กอล์ฟ การตีกอล์ฟมีจังหวะที่ต้องสวิง บิดตัว และเอี้ยวตัวกะทันหัน ซึ่งสามารถส่งผลทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน หรือทำให้หมอนรองกระดูกอักเสบ จนนำไปสู่การเป็นกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้เช่นกัน
  • โบว์ลิ่ง อีกหนึ่งกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังของกล้ามเนื้อหลังมากเป็นพิเศษ การโยนโบว์ลิ่งมีการบิดและเอี้ยวตัว สามารถส่งผลทำให้เกิดบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังได้
  • เทนนิส การวิ่งตีลูกจำเป็นต้องใช้ความรวดเร็ว ใช้กล้ามเนื้อทั้งช่วงหลังและช่วงขามากเป็นพิเศษ มีจังหวะบิดตัว และต้องกระโดด อาจทำให้เสียจังหวะล้มหลังกระแทก ซึ่งอาจส่งผลต่อกระดูกสันหลังนั่นเอง
  • วิ่งจ๊อกกิ้ง โดยปกติการวิ่งจ๊อกกิ้งถือเป็นการออกกำลังกายที่ค่อนข้างปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าเกิดการกระแทกและมีการลงน้ำหนักตัวต่อเนื่อง ในระยะยาวก็อาจส่งผลต่อกระดูกสันหลังได้โดยตรงเช่นกัน
  • ยกน้ำหนัก อีกหนึ่งประเภทกีฬาที่ร่างกายต้องแบกรับน้ำหนักจำนวนมากเอาไว้ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังที่มีส่วนในการช่วยถ่ายเทน้ำหนัก ถือเป็นกีฬาที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนเป็นอย่างมาก

 

วิธีป้องกันกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

 

ปรับวิธีออกกำลังกายเสียใหม่

  • ก่อนการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ควรวอร์มร่างกาย ยืดกล้ามเนื้อก่อนเสมอ
  • เลือกชนิดกีฬาที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนกลางลำตัวมีความแข็งแรงมากขึ้น เช่น เดิน เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน พายเรือ หรือโยคะ
  • ไม่ควรออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นเวลานานเกินไป
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ให้ร่างกายต้องแบกรับน้ำหนักมากเกินไป

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

  • การยืน ไม่ควรยืนท่าเดิมเป็นเวลานานๆ เวลายืนควรทิ้งน้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้าง หรือทิ้งน้ำหนักตัวไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่งสลับกันไป-มา หากจำเป็นต้องยืนนานๆ ควรบิดตัวเบาๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงนานมากเกินไปด้วย
  • การนั่ง ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ควรนั่งให้เต็มเก้าอี้ และนั่งหลังตรง พนักพิงเก้าอี้ต้องมีขนาดที่พอดีกับหลัง สามารถเลือกพนักที่มีความโค้งนูนเล็กน้อยเพื่อช่วยรองรับส่วนเว้าของช่วงเอว หากพนักพิงไม่โค้งนูนสามารถใช้หมอนใบเล็กๆ มารองแทนได้ และนั่งให้เท้าทั้งสองข้างแตะพื้น ไม่ควรนั่งไขว่ห้างและนั่งหลังค่อม หากเป็นการนั่งทำงานควรปรับพนักให้หลังตรง ไม่นั่งท่าเดิมนานเกินไป และอย่าลืมลุกขึ้นเดินปรับเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวันด้วย
  • การยกของ ไม่ควรยกของหนักหรือก้มตัวลงไปยก ส่วนการยกของที่ถูกต้องนั้นให้เริ่มจากยืนหลังตรง จากนั้นย่อเข่าลง ยกของ แล้วใช้กำลังจากข้อเข่าค่อยๆ ยืนขึ้น ของที่ยกต้องอยู่ชิดกับตัวมากที่สุด เพื่อเทแรงไปยังขาทั้งสองข้าง และระหว่างยกของไม่ควรบิดตัวเอี้ยวตัวไป-มา

 

เมื่อรู้สึกตัวว่าเริ่มมีอาการปวดหลังแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะปวดขณะเดิน ขณะก้ม ปวดแปลบเป็นประจำ อาจมีอาการชาบริเวณที่ถูกกดทับร่วมด้วย หรือมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อเดินต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ นั่นถือเป็นสัญญาณความเสี่ยงที่อาจเกิดกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทขึ้นมาได้ สำหรับใครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท กำลังมองหาแนวทางการป้องกันและการรักษาที่ถูกต้อง สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ KDMS HOSPITAL แต่ทางที่ดีไม่ควรนิ่งนอนใจ รีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา และหาแนวทางการรักษาอย่างทันท่วงที ใครที่กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูก ข้อเข่า และกล้ามเนื้อ ทางโรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข KDMS เป็นโรงพยาบาลที่มีทีมศัลยแพทย์มากประสบการณ์ พร้อมวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เทคนิคผ่าตัดต่างๆ รวมไปถึงการทำกายภาพบำบัดเวชศาสตร์ฟื้นฟูด้วยเช่นกัน