ในที่สุดได้ก็ข้อสรุป สำหรับคดีมหากาพย์ โครงการวอเตอร์ฟรอนท์ พัทยา (Waterfront Pattaya) หรือ วอเตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์ ริมทะเลพัทยา ที่สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด อ.เมือง จ.ระยอง ฟ้อง นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม ในขณะดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ในคดีการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟรอนท์
โดยคดีนี้ เป็นข่าวใหญ่โตเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ นายอิทธิพล ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ออกหมายจับ และต่อมา นายอิทธิพล ได้เดินทางหลบหนีออกไปนอกประเทศไปยังประเทศกัมพูชา ก่อนจะเดินทางกลับมาสู้คดีในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 และปรากฎภาพข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปควบคุมตัวนายอิทธิพล ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อส่งตัวไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งต่อมานายอิทธิพล ได้รับการประกันตัวออกไป
ล่าสุด มีรายงานว่า วันนี้ (13 พ.ค.) นายอิทธิพล ได้เดินทางมายังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 เพื่อรับฟังตัดสินคดีดังกล่าว โดยศาลได้ระบุคำตัดสินยกประเด็นขาดอายุความในกรณีออกใบอนุญาตกรณีต่อใบอนุญาต ศาลระบุเจ้าหน้าที่มีความผิด ส่วนผู้บริหารยกฟ้อง ทำให้นายอิทธิพล ไม่ต้องถูกโทษจำคุก จึงได้เดินทางกลับ
ย้อนเส้นทางคดีมหากาพย์โครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ พัทยา
สำหรับคดี คดีการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ พัทยา นั้น เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จังหวัดระยอง ได้ออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา
โดยในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายอิทธิพล และพวก กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า นายอิทธิพล มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และออกหมายจับดังกล่าว เนื่องจากพนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามคดีทุจริตภาค 2 ได้นัดตัวส่งฟ้องนายอิทธิพล เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566
แต่ปรากฏว่า นายอิทธิพล ไม่ได้เดินทางมาตามนัด ป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้องจึงยื่นขอศาลออกหมายจับ เพื่อนำตัวยื่นฟ้องศาล ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทราบหมายโดยชอบแล้วไม่เดินทางมา มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับในวันที่ 5 ก.ย. 66 แต่ในวันที่ 4 ก.ย. 66 นายอิทธิพล ไม่เดินทางมาพบพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ตามกำหนดนัดดังกล่าว
จึงน่าเชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ประกอบกับเรื่องดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงเกินกว่า 3 ปี อันเป็นเหตุที่จะออกหมายจับได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 จึงขอให้ศาลออกหมายจับ เพื่อแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจจัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาตามหมายจับ แล้วส่งอัยการสูงสุดดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
กระทั่งวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สุวรรณภูมิ ทำการควบคุมตัว นายอิทธิพล ไว้ได้ ขณะเดินทางเข้ามาประเทศไทย เที่ยวบิน KR701 หลังบินกลับจากกรุงพนมเปญ กัมพูชา ถึงสนามบินสวรรณภูมิ เมื่อเวลา 10.00 น. พร้อมนำตัวส่งอัยการคดีทุจริตภาค 2 ระยอง ทันที
เบื้องต้น นายอิทธิพล ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ไปดักรอสัมภาษณ์โดยพูดเพียงว่า มารายงานตัวต่ออัยการเท่านั้น ก่อนจะเดินขึ้นไปบนสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 เพื่อรายงานตัว ก่อนนำตัวส่งฟ้องศาลอาญาคคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ต่อไป
ภายหลัง ดร.ชำนาญ ชาดิษฐ์ อดีตที่ปรึกษา รมว.วัฒนธรรม ในฐานะทนายความนายอิทธิพล เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้พานายอิทธิพล มามอบตัวกับอัยการคดีปราบปรามทุจริต ภาค 2 จากนั้นได้เดินทางมายังศาลคดีปราบปรามและประพฤติมิชอบภาค 2 เพื่อขอยื่นประกันตัว ใช้วงเงินเป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท และศาลอนุญาตให้ประกันตัว และกำหนดมิให้เดินทางออกนอกประเทศ หลังจากนี้จะขอต่อสู้คดีในชั้นศาล ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 ต่อไป
รู้จัก "โครงการอเตอร์ฟรอนท์สวีทแอนด์เรสซิเดนซ์ พัทยา"
สำหรับโครงการ วอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” พัทยา จ.ชลบุรี เป็นโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสุดหรู ตั้งตระหง่านริมอ่าวพัทยา บริเวณท่าเรือแหลมบาลีฮาย ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยเป็นโครงการที่มีขนาดความสูง 53 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา บริหารงานโดย บริษัท บาลีฮาย จำกัด ที่ได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างจากเมืองพัทยาในปี 2551 จากจำนวนห้องพัก 312 ห้อง ซึ่งในครั้งนั้นมีกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติพากันเช่าซื้ออย่างคึกคัก สนนราคาตั้งแต่ 4-12 ล้านบาท
จุดเด่นของอาคารคือ เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ "เอช" (H) กลับข้าง และก่อสร้างบริเวณริมเชิงเขาพระตำหนักติดกับป้ายอักษร "PATTAYA CITY" ขนาดใหญ่บนเชิงเขา
ทั้งนี้มีรายงานว่า กรณีที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และพวกได้พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี นั้น เป็นการพิจารณาอนุญาตด้วยเพราะมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง โดยทางโครงการได้ยื่นเอกสารสำคัญประกอบการพิจารณา ทั้งเรื่องกรรมสิทธิ์ เอกสารการครอบครองที่ดิน แบบแปลนอาคาร รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และข้อมูลอื่นๆประกอบร่วม เพื่อให้เมืองพัทยาตรวจสอบ โดยขณะนั้นยังไม่มีเรื่องของการพิจารณา หรือคำสั่งในเรื่องของที่ดินว่า มีที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่แต่อย่างใด
ดังนั้น การพิจารณาออกใบอนุญาตจึงถือว่าเมืองพัทยาทำตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ รวมไปถึงการพิจารณาต่อใบอนุญาตครั้งแรก หลังผ่านพ้นเวลาตามกำหนดของกฎหมายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขของการพิจารณาว่า โครงการจะต้องมีความคืบหน้าการก่อสร้างไปในสัดส่วน 10 % ก็พบว่ามีการดำเนินโครงการตามกรอบที่กฎหมายกำหนด จึงมีการต่อใบอนุญาตไปให้
ต่อมาช่วงปลายปี 2551 นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการโดยระบุว่า เมืองพัทยาไม่สามารถต่อใบอนุญาตก่อสร้างในรอบที่ 3 ให้ได้ เนื่องจากตรวจพบว่า มีการก่อสร้างผิดแบบตั้งแต่ฐานราก รวมทั้งตำแหน่งช่องลิฟต์และบันไดหนีไฟ และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการช่าง เข้าตรวจสอบสภาพตัวอาคาร เพื่อให้แก้ไขรายละเอียดแบบแปลนรวม 42 จุด กระทั่งในช่วงปลายปี 2559 ทางโครงการฯ ได้แจ้งต่อเมืองพัทยาว่า พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามกฎหมาย รวมทั้งการลดระดับความสูงของอาคารลง 8 ชั้น เพื่อลดผลกระทบต่อภาคประชาชนที่กำลังต่อต้านอย่างหนัก
เนื่องจากโครงการบดบังภูมิทัศน์และตั้งขวางแนวอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนเขา สทร.5 พัทยา โดยในช่วงที่เมืองพัทยายังไม่ออกใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้าง พร้อมมอบหมายให้นิติกรเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัท บาลีฮาย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการใน 2 ข้อหาคือ 1.ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น และ 2.บุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณเชิงเขา จนต่อมาทำให้กลุ่มผู้ซื้อห้องพักรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ และความเสียหาย ทำให้โครงการต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการหลังต้องแบกภาระหนี้กว่า 2.39 พันล้านบาทในปี 2561 แต่ศาลไม่รับคำร้อง
หลังจากนั้น นายอภิชาต วีปรปาล รองนายกเมืองพัทยา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ในปี 2560 ได้ลงนามคำสั่งเมืองพัทยาแบบ ค.15 เลขที่ 367/2560 ประกาศให้มีการรื้อถอนอาคารตามมาตรา 4 และ 43 วรรคสาม (กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต) โดยแจ้งความไปยัง บริษัท บาลีฮาย จำกัด ซึ่งระบุว่า ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนอาคาร การรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตหรือคำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตรายตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งและมาตร 41 วรรคหนึ่ง ฯ
ซึ่งปรากฏว่า ทางโครงการมิได้ดำเนินการให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 และ มาตรา 43 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 25111 ให้ทำการรื้ออาคาร ค.ส.ล.50 ชั้น 3 ชั้นใต้ดิน ขนาด 19.70×91.35 เมตร จำนวน 1 หลัง ในส่วนที่ไม่ตรงกับแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตให้แล้วเสร็จใน 365 วันหลังได้รับคำสั่ง โดยหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะดำเนินการทางกฎหมาย
จนมาในปี 2563 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาคนต่อมา ได้ลงนามหนังสือประกาศคำสั่ง เมืองพัทยาที่ ชล. 52304/9377 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมเสนอราคาและวิธีการรื้อถอนอาคารอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยมีเนื้อหาระบุว่า เมืองพัทยาจำเป็นต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารโครงการฯ ซึ่งก่อสร้างผิดแบบจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหลังมีคดีความยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมว่า โครงการดังกล่าวจะจบลงอย่างสวยงาม และมีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการได้จริงเพียงใด จนปัจจุบันทาง ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา พร้อมพวกออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฏหมาย
มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลาต่อมาทางคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวดชลบุรี ได้มีมติยกเลิกเพิกถอนคำสั่งรื้อถอนของเมืองพัทยา โดยระบุว่าทางโครงการได้มาเสนอเรื่องเพื่อดำเนินการก่อสร้างและแก้ไขแบบแปลนต่อ แต่เมืองพัทยาไม่พิจารณาอนุญาต อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องของการลงนามคำสั่งรื้อถอนอาคารนั้นพบว่าเป็นการลงนามของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว จนมาในช่วงปลายปี 2565 ทางโครงการฯ ได้มายื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างอีกครั้ง และเมืองพัทยากำลังพิจารณาความเหมาะสม แต่ก็มีหนังสือจาก ป.ป.ช.ให้ระงับการอนุญาตโครงการด้วย เพราะที่ดินที่ตั้งของโครงการมีการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย