svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"บิ๊กทิน"ตำบลกระสุนตกฝ่ายค้านล็อกเป้าถล่มงบกลาโหมยับเยิน

"ก้าวไกล" จัดหนักล็อกเป้า"บิ๊กทิน"พร้อมตั้งฉายาจัดงบ"สุทินดาวน์น้อยผ่อนนาน" หวังพลเรือนคนแรกนั่งคุมทหารจะได้เห็นการปฏิรูปกองทัพ ด้าน "สุทิน"ยันไม่คิดซูเอี๋ยทหารแน่นอน เผยอีก 2 วันได้คำตอบอัยการสูงสุดปมซื้อเรือดำน้ำ

4 มกราคม 2567 "นายเอกราช อุดมอำนวย" สส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ว่า ส่วนตัวดีใจมากที่ "นายสุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม เป็นพลเรือนคนแรกที่มาคุมทหาร จึงฝากความหวังว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนกองทัพได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหวังว่าจะเข้าใจมุมมองที่ประชาชนมีต่อกองทัพได้

ทั้งนี้ อยากยกตัวอย่าง นโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ภาพรวมดูแล้วเหมือนจะเห็นปัญหาไม่ต่างจากพรรคก้าวไกลและประชาชนมอง ซึ่งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ไว้ต่อสภา ระบุว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ให้เป็นแบบสร้างสรรค์

นอกจากนี้ ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างให้ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และนำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่วันนี้ที่เห็นการตั้งงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ทำให้ตั้งคำถามว่าจะเห็นกระทรวงกลาโหมรูปใหม่ กองทัพโฉมใหม่ที่ทันสมัยได้หรือไม่

นายเอกราช กล่าวต่อว่า โดยการจัดสรรงบประมาณภาพรวม กระทรวงกลาโหมขอรับการจัดสรรเกือบ 198,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8 พันล้านบาท แต่เมื่อดูสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณด้านต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

 

"ไหนบอกว่ารัฐบาลจะลดกำลังคนปี 67 ก็เพิ่มขึ้น นี่คือภาพสะท้อนว่ากองทัพ กระทรวงกลาโหมกำลังขยายขนาดหรือไม่ สวนทางกับแผนลดกำลังพลที่นายกฯ แถลงต่อสภาโดยสิ้นเชิง ลดตรงไหนเอาปากกามาวง บิ๊กทิน ท่านรัฐมนตรีต้องอธิบายหน่อย ว่าเหตุใดท่านจัดงบประมาณไม่สมเหตุสมผล และย้อนแย้งกับนโยบายที่นายกฯได้แถลงไว้ว่าจะลดกำลังพล" นายเอกราช ระบุ

 

อย่างไรก็ดี งบประมานกระทรวงกลาโหมส่วนใหญ่หมดไปกับบุคลากรภาครัฐ 55% และหากดูเฉพาะกองทัพบกใช้งบประมาณถึง 64% ของงบประมาณกองทัพบก ในขณะที่งบบุคลากรที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 30 % เท่านั้น และเมื่อดูแบบละเอียดเข้าไปงบประมาณบุคลากร ยังซ่อนรูปอยู่ในงบประมาณอื่นที่ใช้กับทหารกองประจำการ ทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าใช้จ่ายในการเรียกเกณฑ์และปลดปล่อยกำลังพล เมื่อรวมค่าตอบแทนทหารกองประจำการงบประมาณจะสูงถึง 14,000 ล้านบาท

 

"แต่ทหารกองประจำการก็ส่งเสียงมาว่า จะจัดซื้อเสื้อผ้าอาภรณ์ ประกอบเลี้ยงพวกเขา ก็ซื้อของที่ดีมีคุณภาพ ไม่ใช่เอาของจับฉ่ายมาให้ ทหารกองประจำการเขาอยากไปยึดสมรภูมิ แต่กลับถูกยึดบัตรเอทีเอ็ม" นายเอกราช ระบุ

นอกจากนี้ อยากยกตัวอย่าง การจัดหารถประจำตำแหน่งของกระทรวงกลาโหม 565 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ไม่เคยลดลงต่อเนื่อง ภายใต้ระเบียบกระทรวงกลาโหม สะท้อนว่านายพลไม่เคยลดลงเลย ย้อนแย้งกับแผนลดกำลังพล ดังนั้น นายสุทินจะลดกำลังพลหรือไม่ หรือจะไปร้องเพลงอย่างเดียว ส่วนตัวยังติดใจเรื่องงบลับของ กอ.รมน. ว่าทำไมยังเท่ากันทุกปีอัตราการเบิกจ่ายรวดเร็ว ครบถ้วน 100% และยืนยันว่างบลับคือช่องทางให้ลาภอย่างลับๆของนายทหารผู้มีอำนาจหรือไม่ รวมถึงงบทหารพัฒนาในการใช้ เพื่อพัฒนาประเทศ ไปทับซ้อนกับงบหน่วยงานอื่น มองว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน ยกตัวอย่างพื้นที่ EEC ว่า โครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสนามบินพาณิชย์ กองทัพเรือไปกู้เงินจากต่างประเทศมาสร้าง ตั้งคำถามว่ากู้มาสร้างได้อย่างไร กองทัพเรือเกี่ยวข้องอะไร เพราะไม่ใช่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง แบบนี้หวังเงินทอนหรือไม่ เป็นการยัดไส้หรือไม่

 

"วันนี้ท่านสุทินได้เป็นรัฐบาลสมใจแล้ว มานั่งบริหารคุมกระทรวงกลาโหมเอง ไฉนวันนี้ท่านมีท่าทีเปลี่ยนไป หรือว่าท่านมีมือที่มองไม่เห็นคุมอยู่ แต่ผมเชื่อว่าท่านคงมีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่เป็นหุ่นเชิดให้ใคร ผมอยากให้ท่านแสวงหาจุดร่วมที่ชัดเจนก่อนว่าจะเอาอย่างไรกับนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน กลาโหมที่อยู่ภายใต้พล.อ.ประยุทธ์ในวันนั้นสู่ สุทิน คลังแสง ในวันนี้ มีอะไรที่เป็นความหวังได้บ้าง เท่าที่ดูมา ท่านสุทินลอกการบ้านพลเอกประยุทธ์มาหรือไม่ ผมไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินี้ได้" นายเอกราช กล่าว

 

ด้าน "นายชยพล สท้อนดี" สส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่ว่าจะกี่ปีก็ยังทำงบแบบเดิมๆ ไม่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดทำคำขอ การให้รายละเอียด และการจัดสรรงบแบบสะเปะสะปะ จนต้องจัดงบตามล้างแผลเก่า สะท้อนนิสัยของการทำผิดไม่เข็ด ตามเช็ดไม่หมด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาว่าอยากจะขอซื้อของ ว่าจะต้องซื้อไปทำอะไร หน่วยงานอื่นๆ เขียนมาอย่างชัดเจนว่านำงบไปใช้ทำอะไร

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการของบของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กับ กองทัพบก พบว่ากองทัพบกส่งกระดาษเปล่า และของบมากกว่า depa ถึง 64 เท่า อยากจะจับปืนแต่จับปากกาเพื่อเขียนขอปืนยังทำไม่ได้ 

ขณะที่ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ ซึ่งดูจาก KPI กองทัพเรือตั้งเป้าไว้ที่ 90 % แต่ปลายปี 65 เรือหลวงสุโขทัยล่ม ก็บอกต้องซื้อเรือมาทดแทน แม้เรือจะล่มแต่ KPI กลับลอยได้ ส่วนที่เครื่องบินรบจากเมียนมาบินล้ำน่านฟ้า แต่ KPI ความพร้อมในการป้องกันประเทศของกองทัพอากาศที่ตั้งไว้ถึง 89 % ขอถามว่าทำ KPI มามั่ว เอาหวยเลขท้าย 2 ตัวในฝันมากรอกแทนหรือไม่ การวัดผลไม่สะท้อนผลลัพธ์ และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้ กองทัพยังจัดงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ นายสุทิน บอกว่าจะพัฒนากองทัพให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ต้องชมว่าทำให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศมีงบประมาณมากขึ้น แต่ไม่เพิ่มการตั้งเป้าหมายว่าทำได้กี่โครงการ ใช้ได้จริงหรือไม่ และในแต่ละปีกลับมีรายได้น้อยมาก ในปี 67 ได้งบประมาณไป 850 ล้านบาท แต่ประมาณการรายได้เพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น ทำไมไม่สามารถวิจัยออกมาในเชิงพาณิชย์ได้ หรือขายยุทโธปกรณ์ให้กองทัพได้เสียที หรือจัดงบสะเปะสะปะ จึงไม่มีการนำวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และอาจเป็นการทำงบวิจัยซ้ำซ้อน 

ส่วนงบการจัดหายุทโธปกรณ์แม้จะลดลงเหลือ 2,400 ล้านบาท ในปี 2567 พบสิ่งที่ซ้อนอยู่ว่า มีการพลิกแพลงเรื่องของการจัดหายุทโธปกรณ์ ถ้าจะทำให้การจัดสรรงบดูน้อยลงโดยที่ไม่ลดโครงการจัดหาอาวุธ ก็แค่ดาวน์ให้น้อย แล้วผ่อนนานขึ้น ขอแนะนำให้รู้จัก "สุทินดาวน์น้อย สุดยอดนวัตกรรมอินโนเวทิน คลังแสง" ที่พบว่ายอดคลังแสงยิ่งกว่ารัฐบาลชุดก่อน ซึ่งมียอดเงินรวมก่อหนี้ผูกพันมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา 2.3 เท่า

 

"หากเราคิดถึงอนาคตของประเทศจะพบความวินาศที่รออยู่ อยากจะถามนายสุทินว่าทำไมถึงไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง หากมีงบประมาณไม่พอก็ควรให้กองทัพลดโครงการลง ไม่ใช่ไปลดยอดเงินดาวน์ ไหนบอกว่าวิกฤตแต่กลับให้มีโครงการใหม่ถึง 26 โครงการ ปล่อยให้สุทินดาวน์น้อย ทวีสินเชื่อ ซ่อนเคราะห์ใหญ่ไว้ในอนาคตได้อย่างไร หรือนี่คือความพยายามของรัฐบาลที่จะเอาใจกองทัพ" นายชยพล ระบุ

 

นายชยพล ยังได้ถามนายสุทินทำไมไม่ตัดสินใจเรื่องเรือดำน้ำ เลยเวลามา 94 วัน ยังไม่มีความชัดเจน ถ้ายังเฮโลซื้อเรือดำน้ำ ประเทศไทยจะไม่ได้อะไรเลย ถ้าคิดโครงการดีกว่านี้ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเหมือนที่ประเทศอื่น ทำไมคนอื่นเจรจาได้ผลประโยชน์ระยะยาวต่อประเทศเขาได้ แต่ไทยทำไม่ได้ ได้รับเพียงจรวด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด อย่างละ 2-3 นัดเท่านั้น

 

"หากเรายังเดินหน้าซื้อเรือดำน้ำนอกจากเราจะเสียเปรียบ ได้เครื่องยนต์ที่ไม่ตรงปกแล้ว ยังต้องเสียเงินอีก 25,000 ล้านบาท กับการซื้อเรือดำน้ำ อีก 2 ลำ โดยที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขอให้ไปย้อนฟังสิ่งที่พรรคตัวเองเคยวิจารณ์ไว้บ้าง ขอให้นายสุทิน และนายกรัฐมนตรีมีความกล้าหาญ เลิกไร้ภาวะผู้นำ ยกเลิกสัญญากับจีน และหาสัญญาใหม่ที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยดีกว่าเดิม" นายชยพล ระบุ

 

ขณะเดียวกัน ยังตั้งคำถามถึงนายสุทินว่า  รู้หรือไม่การกู้เรือหลวงสุโขทัย ใช้งบจำนวนมาก แล้วยังตกแต่งเพื่อกลบเกลื่อนสาเหตุที่แท้จริงของการล่ม พร้อมฝากคำขวัญวันเด็กให้นายสุทิน ข้อความว่า "โปร่งใส มีวินัย กล้าตัดสินใจ ตรวจสอบได้" ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า นายสุทินเป็นรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนคนแรก ที่ไม่ควบตำแหน่งนายกฯ แทนที่จะใช้โอกาสนี้ปฏิรูปกองทัพ แต่ก็ไม่กล้า

อย่างไรก็ตาม ตลอดการอภิปรายของนายชยพล พุ่งเป้าไปที่นายสุทิน จนทำให้ช่วงท้ายของการอภิปราย นายวรวงศ์ วรปัญญา สส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า เสียดสี กล่าวหา เลื่อนลอย ตนทนฟังมาอยู่นาน ไม่ว่าจะเสียดสี รับช่วงต่อ ฟอกขาว ขอให้เอาหลักฐานให้ชัดเจนออกมา มากกว่าการกล่าวเลื่อนลอย

ด้าน "นายสุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า เดิมทีตนเองก็คิดว่า กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณที่สูง แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว งบดังกล่าวได้ถูกปรับลดแล้ว และวิธีการจัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม แตกต่างจากกระทรวงอื่น ๆ เพราะไม่ได้จัดทำบนฐานงบประมาณเดิม แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศ หากประเทศสงบไม่มีภัยคุกคาม ก็จะจัดงบประมาณอีกรูปแบบหนึ่ง

ทั้งนี้ แต่หากมีสัญญาณจะมีภัยคุกคามก็จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณ รวมถึงพิจารณาจากประเทศที่เป็นภัยคุกคามของประเทศคู่แข่งด้วย ดังนั้น ในบางยุคที่ประเทศคู่แข่งเพิ่มศักยภาพด้านกลาโหม ประเทศไทยก็จำเป็นจะต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อให้สามารถรับมือได้ พร้อมย้ำว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหม แม้ไม่ลดก็เหมือนลด เพราะเป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ลดลงเมื่อเปรียบกับงบประมาณแผ่นดิน 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลได้เร่งรัดนโยบายการปฏิรูปปรับลดกำลังพล แต่ยอมรับว่า จะอาศัยเพียงความรวดเร็วอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะต้องคำนึงถึงขวัญกำลังใจของบุคลากร และคำนึงถึงศักยภาพ ขีดความสามารถกำลังรบของกองทัพด้วย หากไปกระทบขวัญกำลังใจกำลังพล หรืองดการจัดซื้ออาวุธแบบทันทีก็มีความเสี่ยง

นอกจากนี้ ตนเองยังได้เปิดโครงการเออรี่รีไทร์ เพื่อให้อัตรายศนายพลลดลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงปี 2570 และยืนยันว่า เมื่อพิจารณางบประมาณที่ใช้แล้ว งบประมาณที่ใช้สำหรับโครงการเออรี่รีไทร์แล้ว คุ้มค่ากว่าการปล่อยให้นายพลเกษียณอายุราชการเอง ซึ่งหลังจากนี้ กลาโหมจะมีข้าราชการของกระทรวงที่เป็นพลเรือน หรือ ข้าราชการพันธุ์ใหม่ เป็นข้าราชการพลเรือนในกระทรวงกลาโหม ซึ่งบางหน้าที่ บางตำแหน่ง ไม่จำเป็นต้องมียศทหาร เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณ พร้อมเชื่อว่า ภาพลักษณ์ของกระทรวงกลาโหมจะนุ่มนวลขึ้น รวมถึงภาระงบประมาณของประเทศจะลดลง

 

"ผมเพิ่งรับหน้าที่เพียง 3 เดือน หากจะให้ลดทันที ก็จะต้องสั่งปลด ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะจะกระทบขวัญกำลังใจของกำลังพล แต่ยืนยันว่า ในปีต่อ ๆ ไป งบประมาณจะเริ่มลดลง สัมพันธ์กับจำนวนกำลังพลที่ลดลง และแผนการลดกำลังพล 3 รูปแบบหลังจากนี้ คือ การยุบหน่วยที่ไม่จำเป็น , การควบรวบหน่วยที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน และการปิดอัตรา ไม่รับบรรจุเพิ่มเมื่อมีกำลังพลเกษียณแล้ว" นายสุทิน กล่าว 

 

นายสุทิน ยังย้ำถึงนโยบายการยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่า หากรัฐบาลเลือกงดการเกณฑ์ทหาร จะเป็นการปิดทางตัวเองหากเกิดสถานการณ์จำเป็น เช่น สถานการณ์ในนาโต้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่หลายประเทศกลับมาเกณฑ์ทหารเช่นเดิม แต่ตนเอง จะจูงใจให้คนมาสมัครทหารมาก ๆ โดยปรับลดยอดรับทหารกองประจำการ ซึ่งปีนี้จะมียอดรับทหารประมาณ 80,000 – 85,000 คน

ขณะเดียวกัน จะมีการปรับสิทธิพิเศษให้ได้เงินเดือนทหารแบบไม่หักเบี้ยประกอบเลี้ยง และไม่จำเป็นต้องหยุดการศึกษา เมื่อเป็นทหารแล้วก็สามารถเรียนต่อได้ผ่านศูนย์การเรียนในค่ายฝึก รวมถึงยังมีโอกาสรับราชการทหาร และตำรวจ พร้อมมั่นใจว่า ในปีนี้ จะมีชายไทยมาสมัครจำนวนมาก ซึ่งหากครบจำนวน ก็จะไม่มีการเกณฑ์เพิ่มเติม พร้อมเชื่อมั่นว่า ใน 4 ปี หากตนเองอยู่ในตำแหน่งครบเทอม จะมีระบบการสมัครใจเป็นทหาร 100% 

ส่วนเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ สส.ฝ่ายค้านกังวลไทยจะเสียเปรียบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลชุดก่อนได้ดำเนินการไว้ แต่ตนเองได้เข้ามาแก้ปัญหา และไม่ใช่การโยนความผิด ซึ่งพรรคเพื่อไทย ที่เคยเป็นฝ่ายค้านก็เคยมีการอภิปรายไว้ แต่การแก้ปัญหาขณะนี้ ไม่ว่าจะทำยังไง ก็กระทบทั้งหมด จะใช้เรือจีนก็เคยด่าเอาไว้ ทั้งคุณสมบัติไม่ได้ และเสียเปรียบ ผิดกฎหมาย หากจะดำเนินการต่อก็เสียหาย หรือหากจะไม่ดำเนินการต่อ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนยุทโธปกรณ์แทน

ทั้งนี้ ตนได้โยนหินถามทางเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็น "เรือฟริเกต" เพื่อฟังความเห็นจากกองทัพ สังคม และประชาชน รวมถึงความเห็นจาก สส. แต่เรือดำน้ำนั้น ซื้อมาหลายปี จ่ายเงินไปแล้วหลายงวด หากจะให้ยกเลิกสัญญาแล้วได้เงินคืน ตนเองก็พร้อมยกเลิกทันที แต่หากยกเลิกแล้วไม่ได้เงิน ก็ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะเป็นงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท ดังนั้น การจะแก้ปัญหาดังกล่าว จะต้องยึดประโยชน์ของกองทัพเรือ และประโยชน์ของประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

"เพราะหากคิดฉลาดแล้ว ยุทธศาสตร์ที่ไทยมีร่วมกับจีน ไทยจะมีผลประโยชน์ร่วม 200,000 ล้าน แต่หากไทยยอมยกเลิก แล้วทะเลาะกันด้วยเงิน 6,000 ล้านบาท และเสียโอกาสเงิน 200,000 ล้านบาท จึงไม่ฉลาด ดังนั้น จะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบที่สุด ซึ่งได้มีการสอบถามไปยังอัยการสูงสุดว่า ข้อตกลงที่รัฐบาลก่อนได้ดำเนินการมา สามารถยกเลิกได้หรือไม่ หรือยกเลิกจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้ถึงไม่ผิดกฎหมาย จึงรอคำตอบจากอัยการสูงสุด ไม่เกิน 2 วันนี้ เพื่อให้ทราบแนวทางการดำเนินการกับประเทศที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนั้น คำตอบเรื่องเรือดำน้ำ จึงจะต้องขึ้นกับความเห็นของอัยการสูงสุด และไทยจะต้องไม่สูญเสียเงิน 6,000 ล้านบาท เพราะก่อนหน้านี้ไทยก็เคยผิดสัญญาจากการจ่ายเงินล่าช้า จากสถานการณ์โควิด-19 มาแล้ว" รมว.กลาโหม ระบุ 

 

ส่วนการกู้เรือหลวงสุโขทัย ที่ฝ่ายค้านกล่าวหาถึงขั้นตอนการล้างโคลนออก เพื่อกลบเกลื่อนหลักฐาน โดยยืนยันว่าจะต้องกู้เรือในสภาพที่สมบูรณ์ทั้งลำ ไม่เอาชิ้นส่วน เพื่อพิสูจน์หาหลักฐาน ตามที่สัญญาการจัดซื้อจัดจ้างระบุ แต่โคลนทะเลท่วมเรือนั้น จำเป็นต้องนำออก เพื่อให้สามารถกู้ได้ ซึ่งไม่ใช่การทำลายหลักฐาน และยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าว โปร่งใสแน่นอน 

ส่วนกรณีที่กองทัพเรือที่มีพันธกิจที่เกี่ยวกับรันเวย์เครื่องบินที่ EEC รวมถึงยังกู้เงิน 16,000 ล้านบาทด้วยนั้น นายสุทิน ชี้แจงว่า กองทัพเรือ ก็ไม่อยากรับดำเนินการ แต่รัฐบาลก่อน ขอร้องให้ช่วยเป็นหน่วยงานขับเคลื่อน EEC เนื่องจาก รับผิดชอบสนามบินอู่ตะเภา ที่กองทัพเรือเป็นเจ้าของ โดยทำให้เป็นสนามบินพาณิชย์ รวมถึงกองทัพเรือ ยังต้องยอมเสียพื้นที่ของกองทัพเรือ จำนวน 7,000 ไร่ เพื่อไปดำเนินการ EEC ด้วย และการกู้เงินดังกล่าว คณะกรรมการ EEC ที่มีนายกฯ ในขณะนั้น เป็นประธาน ก็มีมติให้กองทัพเรือกู้เงิน เพราะกองทัพเรือถือเป็นเจ้าของพื้นที่ และไม่ต้องกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส เพราะคณะกรรมการ EEC ก็จับตาการดำเนินการของกองทัพเรือเช่นเดียวกัน 

สำหรับการจัดซื้ออาวุธ ที่ระบุการจัดซื้ออาวุธยุคสุทินดาวน์น้อย ผ่อนนานว่า เพราะสำนักงบประมาณ ได้ปรับลดงบประมาณเพราะในปีงบประมาณ 2567 เหลือเวลาการใช้งบประมาณเพียง 4 เดือน จึงกังวลว่ากระทรวงกลาโหม จะใช้งบประมาณไม่ทัน ลดประมาณตัดเหลือ 15% จาก 20% จึงยืนยันว่า ไม่ใช่การดาวน์น้อยผ่อนนาน  

นอกจากนั้น นายสุทิน ยังได้ชี้แจงการอภิปรายของฝ่ายค้าน ทั้งงบของทหารกองพลพัฒนา, งบประมาณทูตทหาร, โครงการหนองวัวซอโมเดล เพื่อให้ประชาชนเช่าใช้พื้นที่, การวิจัยและการพัฒนายุทโธปกรณ์ภายในประเทศ 

 

"ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ลืมจุดยืนเดิม ที่เคยอภิปรายใด ๆ กับกระทรวงกลาโหมไว้ และต้องการให้กองทัพทันสมัย โดยพยายามดำเนินการทุกอย่าง แต่ยอมรับว่า ต้องใช้เวลา และใช้กลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยน ดังนั้น จึงขอเวลาพิสูจน์ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่เพื่ออวยกองทัพ แต่ยืนยันไม่เข้ามาเพื่อซูเอี๋ย หรืออวยกองทัพ" นายสุทิน กล่าว