svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

โลกร้อนทะเลเดือด ทำเกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง" พะยูนตรังเริ่มอพยพหนี

17 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อ.ธรณ์ สรุปสถานการณ์ "หญ้าทะเลไทย" ชี้ โลกร้อนทะเลเดือด เกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง" เผย ฝั่งอันดามันใต้ ตรัง-กระบี่ เกิดผลกระทบรุนแรง พะยูนตรังเริ่มอพยพหนี

17 เมษายน 2567 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ สรุปผลสถานการณ์ "หญ้าทะเลไทย" ในขณะนี้

ข้อมูลมาจากทริปที่ลงใต้ จากหน่วยวิจัยหญ้าทะเลสู้โลกร้อนของคณะประมง ของทีมสำรวจกรมทะเล และของคณะทำงานวิกฤตหญ้าทะเล พบว่า

หญ้าทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ประจวบฯ-ปัตตานี ยังอยู่ในสภาพดี อาจมีที่ลดลงบ้างแต่ยังไม่รุนแรงจนเห็นชัด

อ่าวไทยฝั่งตะวันออก สภาพปรกติ ยกเว้นแหล่งหญ้าใหญ่ที่ตราด สิ้นเดือนนี้ตนจะไปดู

หญ้าทะเลอันดามันเหนือ พบปัญหาบางจุดที่พังงา ต้องติดตาม แต่ที่อื่นยังอยู่ในสภาพปรกติ

หญ้าทะเลอันดามันใต้ จังหวัดตรัง/กระบี่ ตอนล่าง เกิดผลกระทบรุนแรง รวมถึงสตูลบางจุด

โลกร้อนทำให้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อเนื่องถึงกระบวนการในทะเล เช่น น้ำลงต่ำผิดปรกติ ยังทำให้น้ำร้อนจัด ดินร้อน จนเกิดปรากฏการณ์ "หญ้านึ่ง" อันเป็นเรื่องใหม่ที่เราเพิ่งเคยเจอ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดไม่เท่ากัน

การสำรวจพะยูนล่าสุด พบว่ากระจายตัวออกไปในพื้นที่กว้าง ไม่รวมฝูงหากินเหมือนเคย มีรายงานการพบเพิ่มมากขึ้นในจุดที่เคยมีน้อย

หมายถึงพะยูนกระจายกันหากิน บางส่วนเริ่มอพยพขึ้นเหนือ (ตรัง -> กระบี่ -> ภูเก็ต) หลายฝ่ายช่วยกันหาทางแก้ปัญหา/ฟื้นฟู แต่มันไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อโลกร้อนทะเลเดือดขึ้นทุกวัน มันเป็นปัญหาถาวรและมีแต่แรงขึ้นเรื่อย ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไปแก้ต้นตอได้ง่ายๆ

หน่วยวิจัยหญ้าทะเลสู้โลกร้อน คณะประมง กำลังวางแผนขยายงานฟื้นฟูหญ้าไปที่สถานีคลองวาฬ ประจวบฯ (ผมเพิ่งเล่า) ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ กำลังพยายามเต็มที่

นับจากนี้ เราต้องปกป้องแหล่งหญ้าที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด การพัฒนาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งหญ้าฯ เบาได้เบา ขอบคุณทุกความสนับสนุนจากเพื่อนธรณ์ บางส่วนจะนำมาใช้ในงานที่สถานีวิจัยคลองวาฬครับ

logoline