svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิด 4 วิธีช่วยปะการัง พร้อมทริคเลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อท้องทะเล

อ.ธรณ์ เผยปะการังฟอกขาวหนัก พร้อมเปิด 4 วิธีแสนง่ายช่วยได้ทันที ได้แก่ เที่ยวระวัง, เลิกให้ขนมปังปลา, เก็บขยะเมื่อเห็น, อย่ากินปลานกแก้วและสัตว์หายาก ด้าน "เนชั่นทีวี" ชวนอ่านทริค เลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้ปกป้องผิว และพิทักษ์ท้องทะเล

จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ "ปะการัง" สิ่งมีชีวิตที่เสมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวในหลายพื้นที่ ซึ่งในประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบปะการังฟอกขาวในเขตอุทยานฯ 12 แห่ง จึงเร่งทำการปิดพื้นที่ห้ามรบกวน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง รวมถึง ลดผลกระทบจากกิจกรรมทุกประเภท จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 

นอกจากนี้ อีกหลายพื้นที่ อย่างที่บริเวณหาดหลังเขา ของ "เกาะลิบง" แหล่งอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเลของไทย ปะการังบางส่วนกลายเป็นสีขาว ทั้งที่ปกติปะการังเหล่านี้จะมีความสวยงามหลากหลากสีสัน 
ปะการังฟอกขาวที่เกาะลิบง
ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) สั่งกำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด หากพบการเกิดปะการังฟอกขาวขั้นรุนแรง ให้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความเครียดของปะการัง และจัดตั้งทีมประสานงานร่วมกับในพื้นที่ ให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้าน 

"เนชั่นทีวี" ชวนอ่าน 4 วิธีช่วยปะการัง รวมถึง ทริคเลือกครีมกันแดดอย่างไร ไม่ให้เป็นอันตรายต่อปะการัง 

"อ.ธรณ์" เผยปะการังฟอกขาวหนัก พร้อมเปิด 4 วิธีช่วยปะการังจากอาการฟอกขาว

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า 

"ปะการังฟอกขาวหนัก ทะเลจะตายอยู่แล้ว 4 วิธีแสนง่ายช่วยเธอได้ทันที เที่ยวระวัง/เลิกให้ขนมปังปลา/เก็บขยะเมื่อเห็น/อย่ากินปลานกแก้วและสัตว์หายาก อธิบายมาหลายครั้ง หนนี้บอกสั้นๆ ว่าเชื่อธรณ์"
ภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
พร้อมภาพที่มีข้อความอธิบายเพิ่มเติม ระบุว่า 

  • ท่องเที่ยวอย่างระวัง ไม่เข้าใกล้ปะการังฟอกขาว เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำ
  • เก็บขยะจากแนวปะการัง ใครทิ้งก็ช่าง เราเก็บ
  • แต่เราช่วยกันได้ เช่น อย่าให้อาหารปลา ปลากินขนมปังจะไล่ปลากินสาหร่ายออกไป แล้วตัวอะไรจะกินสาหร่าย
  • ปลานกแก้วกินสาหร่าย ทำให้ปะการังใหม่ลงเกาะบนพื้นได้ กินปลานกแก้วคือช่วยทำให้ปะการังแพ้สาหร่าย เพราะฉะนั้น เลิกกินนะครับ

ภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ซึ่งหลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาแสดงความคิดเห็น และแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก อาทิ 

  • ช่วงนี้งดเที่ยวก่อนดีไหมค๊ะ ให้เค้าได้พักตัวเอง
  • พวกแจกขนมปังที่ให้ปลามารุมๆแล้วถ่ายรูป อยากจะทุบให้! ไปเที่ยวทะเลใต้ เจอแบบนี้บ่อยมากกก
  • ยินดีปฏิบัติทุกข้อค่ะ
  • ปิดทะเลชั่วคราวค่ะ
  • ปลานกแก้วสวยมากนะกินกันลงได้ยังไง

เปิด 4 วิธีช่วยปะการัง พร้อมทริคเลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อท้องทะเล
สารบางชนิด ที่ส่งผลต่อปะการัง

อย่างที่เห็นตามข่าวกัน ว่าปัจจุบันปัญหามลภาวะกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอากาศ ฝุ่นละออง ควันจากไฟป่า ขยะในมหาสมุทร นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีมลภาวะอีกอย่างที่ "เนชั่นทีวี" อยากให้ทุกคนตระหนักถึง คือ มลภาวะที่เกิดจากสารกันแดดที่อยู่ในน้ำทะเล

หลายคนเมื่อไปท่องเที่ยวทะเล คงมีความกังวลเรื่องผิวไหม้ ผิวดำคล้ำ ทำให้เลือกครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟสูง และทาซ้ำหลายครั้ง ซึ่งสิ่งที่ให้คุณประโยชน์กับเราอาจกลายเป็นโทษให้กับสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน โดยในแต่ละปีคาดว่ามีครีมกันแดดถึง 6,000 ตันตกค้างอยู่ในทะเลทั่วโลก โดยจะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณที่นักท่องเที่ยวมาว่ายน้ำหรือดำน้ำดูปะการังเป็นส่วนใหญ่
เปิด 4 วิธีช่วยปะการัง พร้อมทริคเลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อท้องทะเล
จากงานวิจัยโดย Downs และคณะ เพื่อองค์กร National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และองค์กรอื่นๆ ในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า ปะการังอ่อนที่สัมผัสกับสาร Oxybenzone และ Octinoxate ที่มีในสารกันแดดแสดงออกถึงภาวะเครียด โดยมีสีซีดจางลง ทำให้ปะการังติดเชื้อได้ง่ายและไม่สามารถได้รับสารอาหารได้เต็มที่อย่างที่เคย อีกทั้ง สารทั้งสองชนิดยังสร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอ แถมทำให้โครงสร้างปะการังเจริญเติบโตผิดปกติด้วย 

ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ถูกนำมาต่อยอดโดยนักวิจัยชาวอิตาเลียน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives โดยงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าส่วนผสมของครีมกันแดดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย (รวมถึง Oxybenzone) ทำให้เกิด "ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว" (coral bleaching) ไปทั่วโลก ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก แม้ส่วนผสมที่ว่าจะมีความเข้มข้นไม่มากก็ตาม โดยในปี ค.ศ. 2018 รัฐฮาวายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ประกาศแบนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสองชนิดนี้ ตามมาด้วยเมืองฟลอริดา (มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2021) ส่วนปาเลา (Palau) ถือเป็นประเทศแรกที่มีการแบนครีมกันแดดที่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากปะการังที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแล้ว งานวิจัยอื่นๆ ก็ได้ผลออกมาไปในทิศทางเดียวกันว่าครีมกันแดดมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบางชนิดในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น สารบางชนิดไปยับยั้งการเจริญเติบโตและการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายสีเขียว ในขณะที่สารบางชนิดทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของปลาลดลง และทำให้ปลาเพศชายมีลักษณะเป็นเพศหญิงมากขึ้น เป็นต้น

เลือกครีมกันแดดอย่างไร ถึงจะช่วยปกป้องผิว ไปพร้อมกับพิทักษ์โลกใต้ทะเล
เปิด 4 วิธีช่วยปะการัง พร้อมทริคเลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อท้องทะเล

เมื่อตระหนักถึงมลภาวะที่เกิดจากสารกันแดด ปัจจุบันจึงมีหลายแบรนด์เลือกผลิตครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการังมากยิ่งขึ้น โดยผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการัง หรือ reef-friendly sunscreen หรือ Coral-freindly sunscreen นี้มักจะไม่มีส่วนผสมสารที่เป็นพิษต่อปะการัง ได้แก่ Oxybenzone, Octinoxate, Octocrylene, Homosalate, 4-methylbenzylidene camphor, PABA, Parabens, Triclosan, ไมโครพลาสติกทุกชนิด และอนุภาคขนาดนาโนหรือสังกะสีหรือไทเทเนียมขนาดนาโน

เปิด 4 วิธีช่วยปะการัง พร้อมทริคเลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อท้องทะเล
ทั้งนี้ หากอยากจะทากันแดดเพื่อปกป้องผิวและรักษ์โลกไปด้วย สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • เลือกใช้ครีมกันแดดที่ระบุว่า "reef-safe" , "Ocean Friendly" , หรือมีตราสัญลักษณ์ "Protect Land  & Sea" แต่ควรตรวจสอบส่วนผสมข้างขวดเพิ่มเติมตอนเลือกซื้อ
  • เลือกใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ จะช่วยลดการชะล้างลงสู่ทะเลได้ในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม
  • เลือกใช้ครีมกันแดดที่สามารถย่อยสลายได้เองโดยธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบตกค้าง
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่ช่วยในการกันแดดได้ อาทิ น้ำมันมะพร้าว
  • เลือกใช้ครีมกันแดดในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินความจำเป็น 
  • เลือกสวมเสื้อผ้าที่มีคุณความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสียูวี (UPF หรือ Ultraviolet Protection Factor)ได้สูง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดแบบพ่น เพราะมีโอกาสจะฟุ้งบนพื้นทรายและถูกพัดพาลงไปในทะเล

ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีสารเคมีอันตราย 4 ชนิด เข้าเขตพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติ

วันที่ 3 ส.ค. ปี พ.ศ. 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีเป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการระบุว่า สารเคมีบางชนิดมีส่วนผสมเป็นพิษต่อแนวปะการัง

โดยสารต้องห้ามในครีมกันแดด ที่ระบุในราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ ได้แก่

  • Oxybenzone หรือ Benzophenon-3
  • Octinoxate หรือ Ethylhexyl
  • 4-Methylbenzylid Camphor
  • Butylparaben

ทรัพยากรทางทะเล เป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง มาวันนี้ปะการังกำลังอ่อนแอ จากสภาพอากาศที่แปรเลี่ยน โลกร้อนขึ้น น้ำทะเลเดือด การช่วยรักษาปะการัง ซึ่งเป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ทะเล ก็เหมือนเราได้รักษาโลกของเราด้วย มาช่วยพวกเขากันเถอะ เพื่อให้พวกเขาอยู่กับเราตราบนานเท่านาน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

เปิด 4 วิธีช่วยปะการัง พร้อมทริคเลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้เป็นมิตรต่อท้องทะเล

ขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนจาก :
เฟซบุ๊ก  Thon Thamrongnawasawat