"ควาย" หรือ "กระบือ" คงมีน้อยคนนัก ที่จะไม่รู้จักสัตว์ชนิดนี้ เพราะ "ควาย" ถือเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับมนุษย์ มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีการใช้ "ควาย" ในการทำประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ด้วยความที่เป็นควายเป็นสัตว์ที่มีความอดทน แข็งแรง จึงถูกนำมาใช้งานอย่างหลากหลาย
โดยเฉพาะในด้านการเกษตรกรรม ที่ในอดีตคนไทยใช้ควายในการไถนา จึงทำให้ควายไทย มีความสำคัญต่อชีวิตของเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก และนอกจากในใช้ภาคการเกษตรแล้ว การเดินทางในสมัยก่อน ก็ยังใช้ควาย มาเทียมเกวียนเพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย
แต่ในปัจจุบัน เมื่อสังคมและเทคโนโลยีมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การใช้แรงงานควายในประเทศไทยลดลง จนปัจจุบัน "ควายไทย" ส่วนใหญ่ กลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น และแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หาชมตัวเป็น ๆ ได้ยากมากขึ้นอีก เนื่องจากผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลง จนบางคนเคยเห็นแต่เพียงรูปภาพ หรือคนพูดถึงเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ ควาย เป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากทางภาครัฐ ในการส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างเสริมอาชีพ ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับควายไทย คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 จึงได้มีมติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอ ให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น "วันอนุรักษ์ควายไทย" เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทย ถึงความสำคัญของควายไทย และช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ไป
สำหรับเหตุผลที่ต้องกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม เป็น "วันอนุรักษ์ควายไทย" เนื่องมาจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่ง ถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นครั้งแรก ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2523 ซึ่งถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ควายไทยสืบมา
การแบ่งประเภทของควาย
รู้หรือไม่ “ควาย” มี 2 ชนิด คือ ควายป่า และควายบ้าน ซึ่งในส่วนของควายบ้าน สามารถแบ่งออกไปได้อีก 2 ประเภท คือ
ควายปลัก (Swamp Buffalo)
พบในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นา เพื่อปลูกข้าวและทำไร่ และเมื่อควายอายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร
ลักษณะของควายปลัก มีรูปร่างล่ำสัน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำ บางตัวอาจมีสีขาวเผือก มีขนเล็กน้อย ลำตัวหนา ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ เขาโค้งไปข้างหลัง หน้าสั้น หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้งสองข้างกว้าง ขาทั้ง 4 อาจจะมีสีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้า คอยาวและบริเวณใต้คอจะมีขนขาวเป็นรูปตัววี หัวไหล่และอกนูนเห็นชัดเจน จะชอบนอนแช่โคลน
ควายน้ำหรือควายแม่น้ำ (River Buffalo)
พบในประเทศ อินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ประเทศในยุโรปตอนใต้ และยุโรปตะวันออก มีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์มูร่าห์ นิลิ ราวี เมซานี เซอติ และเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น ให้นมมากและเลี้ยงไว้เพื่อรีดนม ไม่ชอบลงแช่โคลน แต่จะชอบน้ำสะอาด รูปร่างจะมีขนาดใหญ่ แข็งแรง
ลักษณะทั่วไปจะมีผิวหนังสีดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้น และบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก มีขนาดเต้านมใหญ่ ควายแม่น้ำเพิ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นิยมเลี้ยงอยู่ในส่วนราชการ
ควายแม่น้ำ จะโตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักตัวผู้โตเต็มวัยโดยเฉลี่ย 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย รูปร่างหน้าตาควายส่วนใหญ่รูปร่างอ้วน เตี้ย พ่วงพี ลำตัวสั้น ท้องกางกลม แข้งขาสั้น เขากางยาว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวสี
สำหรับสถานการณ์ของควายไทยในปัจจุบัน
ปัจจุบันหลังมีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ควายไทย แม้จะไม่ทำให้จำนวนควายไทย เพิ่มมากขึ้นเท่าในอดีต แต่ควายไทยก็ได้รับความสำคัญมากขึ้น และเปลี่ยนบทบาทไป มีควายไทยจำนวนไม่น้อย ที่ถูกพัฒนาจากสัตว์เลี้ยงคู่บ้าน เพื่อช่วยงานเกษตรกรรม ไปสู่ลานประชันความงาม ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี สวยงาม เนื่องจากควายไทยจัดเป็นควายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในบรรดาควายเลี้ยงในประเทศแถบเอเชีย ควายตัวผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 600-650 กิโลกรัม ส่วนควายตัวเมียที่โตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 400-500 กิโลกรัม ร่างกายใหญ่บึกบึนและเขายาวโค้ง ควายไทยมีสองสี คือ สีเทากับสีดำ บ้างจะเจอควายเผือก ซึ่งหายากมาก ทำให้ควายที่เข้าร่วมประกวดเหล่านี้ มีราคาสูงถึงหลักหลายล้านบาทต่อตัว
แต่ในขณะเดียวกันสถานการณ์ของ "ควายป่าไทย" หรือ "มหิงสา" ซึ่งเป็นหนึ่งใน สัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทย ก็ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะมีจำนวนประชากร ที่เหลือเพียงน้อยนิด พบได้แค่ที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อทราบเช่นนี้แล้ว คนไทยทุกคนจึงควรร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าของควายไทย ไม่ว่าจะเป็นควายบ้านหรือควายป่า และร่วมกันอนุรักษ์ไว้ เพื่อไม่ให้ชื่อของ "ควาย" กลายเป็นเพียงตำนานที่เคยอยู่ในประเทศไทยเพียงเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก :
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ กทม.