svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ! ดร.สามารถ ชำแหละปัญหา “เมืองที่คนตกท่อ” แนะแก้ไข 4 ข้อ

06 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อย่าให้เกิดเหตุสลดซ้ำอีก! ดร.สามารถ ชำแหละปัญหาท่อในกรุงเทพมหานคร พร้อมแนะ 4 แนวทางแก้ไข “เมืองที่คนตกท่อ”

6 พฤษภาคม 2567 จากกรณี "ลุงกำธร" ตกท่อร้อยสายของการไฟฟ้านครหลวง (กปน.) บริเวณเกาะกลางถนน ปากซอยลาดพร้าว 49 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่าน ขณะที่ทางครอบครัวเรียกร้อง กฟน. รับผิดชอบอย่างจริงจัง เตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท 

ขณะที่ "โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง"  อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (สคช.) พร้อมช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ญาติเหยื่อ ชี้อาจเข้าข่ายประมาททำให้ดับ ยันโทษหนักคุก 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท เเถมโดนเรียกร้องทางแพ่งได้อีก ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ! ดร.สามารถ ชำแหละปัญหา “เมืองที่คนตกท่อ” แนะแก้ไข 4 ข้อ

ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte" ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหา “เมืองที่คนตกท่อ” มีรายละเอียดระบุว่า..

กทม. “เมืองที่คนตกท่อ”
เหตุการณ์คนตกท่อร้อยสายไฟเสียชีวิต สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงให้กับครอบครัวหนึ่ง และสร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้คนที่ทราบข่าว เพราะคาดไม่ถึงว่า กทม.ใน พ.ศ.นี้จะมีเรื่องราวเช่นนี้อีก !

คนตกท่อในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่เป็นการตกท่อระบายน้ำซึ่งฝาบ่อพักชำรุด ทำให้ “คนตกท่อ” กลายเป็นภัยใกล้ตัวอีกประการหนึ่งในกรุงเทพฯ

ในกรุงเทพฯ มีบ่อพักท่อระบายน้ำจำนวนมาก ทำให้มีฝาบ่อพักมากเช่นเดียวกัน บางฝาเป็นเหล็ก บางฝาเป็นคอนกรีต บางฝาเป็นทั้งเหล็กและคอนกรีต ถ้าทุกฝามีสภาพสมบูรณ์ เหตุการณ์คนตกท่อก็จะไม่เกิดขึ้น

ฝาบ่อพักที่ไม่สมบูรณ์ หรือชำรุด หรือที่ถูกขโมย เป็นเหตุให้ผู้ที่สัญจรบนทางเท้าก้าวพลาดตกลงในท่อ ด้วยเหตุนี้ ถ้าสำนักการระบายน้ำ หรือสำนักงานเขตของ กทม.ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ ตรวจสอบและแก้ไขให้ฝาบ่อพักมีสภาพมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอเหตุการณ์ “คนตกท่อ” ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ! ดร.สามารถ ชำแหละปัญหา “เมืองที่คนตกท่อ” แนะแก้ไข 4 ข้อ

คนเดินเท้าคงได้พบเห็นฝาบ่อพักชำรุด ไม่มีป้ายเตือน ไม่มีสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้ก้าวพลาดลงบ่อพักกันบ้าง เหล่านี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการตกท่อ โดยเฉพาะตอนน้ำท่วมซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นพื้นทางเท้าได้ ทำให้ก้าวพลาดลงบ่อพักได้ง่าย
ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “คนตกท่อ” อีก สามารถทำได้ดังนี้

  1. เร่งสำรวจฝาบ่อพักทั่วกรุง
  2. หากพบฝาที่ชำรุดจะต้องเร่งซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงโดยเร็ว ก่อนซ่อมแซมให้ติดตั้งป้ายเตือนผู้เดินเท้า พร้อมทั้งกั้นไม่ให้ผู้เดินเท้าเดินผ่าน ทั้งนี้ ควรเร่งซ่อมแซมฝาบ่อพักให้เสร็จก่อนที่ฝนจะมาเยือน เพราะเมื่อถึงหน้าฝนจะมีน้ำท่วมขัง หากมีฝาบ่อพักชำรุด จะทำให้ก้าวพลาดตกบ่อได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่
  3. หากพบบ่อพักที่ไม่มีฝา (ซึ่งอาจถูกขโมย) จะต้องเร่งหาฝาใหม่มาปิดโดยเร็ว ก่อนปิดฝาใหม่ให้ติดตั้งป้ายเตือนผู้เดินเท้า พร้อมทั้งกั้นไม่ให้ผู้เดินเท้าเดินผ่าน ที่สำคัญ จะต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้ฝาบ่อพักถูกขโมยอีก
  4. หากมีการก่อสร้างบ่อพักหรือท่อร้อยสายไฟบนทางเท้า เกาะกลางถนน หรือบนผิวจราจร หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเข้มงวดกวดขันผู้รับเหมาให้ปิดบ่ออย่างมั่นคงแข็งแรง มีไฟแสงสว่างเพียงพอ หากผู้รับเหมาไม่ทำ จะต้องลงโทษอย่างหนัก

ในระยะหลัง จะเห็นได้ว่าคนตกท่อใน กทม.ลดน้อยลง แสดงให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุกของ กทม. ที่เปิดช่องทางให้ผู้พบเห็นฝาบ่อพักชำรุดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ หรือเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจเอง เป็นผลให้ กทม.สามารถแก้ไขปัญหาฝาบ่อพักได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่ยังมีคนตกท่ออยู่บ้างมักเกิดในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง ซึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมา

ด้วยเหตุนี้ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบเอาจริงเอาจัง เชื่อว่าเหตุการณ์ “คนตกท่อ” จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว 

กทม.ก็จะไม่ใช่ “เมืองที่คนตกท่อ” อีกต่อไป
อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ! ดร.สามารถ ชำแหละปัญหา “เมืองที่คนตกท่อ” แนะแก้ไข 4 ข้อ
หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ไป มีชาวโซเชียลเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก อาทิ

  • ถ้าจะว่าไปเมืองไทยตรงไหนมีถนน มาตรฐาน บ้าง จ่ายภาษีไป ได้งานมาชุ่ยๆ ถนนคนเดินก็เดินสลุด สะพานข้ามถนน ก็สร้าง ชันเกิน ไอ้ที่ไปดูงานน่ะลองไปดูงานที่เมืองจีนบ้าง เมืองเซินเจิ้นเขาข้ามถนนได้ทั่วเดินไม่มีเหนื่อย กฎหมายเขาไม่ให้ข้ามก็คือไม่ให้ข้าม และข้ามไม่ได้ ใครข้ามก็ผิดกฎหมาย ปรับหนัก ผู้รับเหมาก็สร้างแย่มากไม่มีมาตรฐาน เรียบมั่งขุขระมั่ง ต่างประเทศเขาฟ้องร้องกันได้ ถนนไม่มีมาตรฐานระดับสูงต่ำ
  • เขต ทุกเขต ในกทม ควรมีแผนก หรือหน่วย งาน ออกสำรวจ พื้นผิวถนน ฝาท่อ ไฟส่องสว่าง หรือ อื่นๆ ที่ชำรุด แล้วแจ้งให้ หน่วยซ่อบำรุงดำเนินการ
  • เคยได้ยินในเพลงไม่คิดว่าจะมีจริง
  • ประชาชน ต้อง ช่วยตัวเอง ห้ามเหยียบฝาท่อ เด็ดขาด

อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ! ดร.สามารถ ชำแหละปัญหา “เมืองที่คนตกท่อ” แนะแก้ไข 4 ข้อ อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ! ดร.สามารถ ชำแหละปัญหา “เมืองที่คนตกท่อ” แนะแก้ไข 4 ข้อ
ที่มา : เฟซบุ๊ก "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte"

logoline