svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

พารู้จัก "ปูไก่" สัตว์หายาก อช.หมู่เกาะสิมิลัน หน้าตาก็เหมือนปูทั่วไป แล้วเหตุไฉนได้ชื่อนี้มา

25 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำความรู้จัก "ปูไก่" สัตว์หายาก อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ที่ดูๆ แล้วรูปร่างหน้าตาก็เหมือนปูทั่วไป ทำไมได้ชื่อนี้มา พร้อมเปิดชีวิตที่ไม่ค่อยซ้ำแบบใคร

เรื่องเล่าสัตว์โลก โดย Nation STORY วันนี้ (25 เม.ย. 67)  ขอนำเสนอเรื่องราวของ "ปูไก่" สัตว์หายาก ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมนต์เสน่ห์แห่งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซึ่งหากดูเผินๆ ก็เหมือนปูทั่วไป แล้วท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหม ว่าชื่อ "ปูไก่" นี้ พวกมันได้แต่ใดมา 

ปูไก่ เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จากข้อมูลของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน - Mu Ko Similan National park ให้ความรู้เกี่ยวกับปู่ไก่ไว้ว่า ปูไก่ (𝘾𝙖𝙧𝙙𝙞𝙨𝙤𝙢𝙖 𝙘𝙖𝙧𝙣𝙞𝙛𝙚𝙭)  มีอีกชื่อเรียกว่า ปูขน หรือ ปูภูเขา เป็นปูชนิดหนึ่งในวงศ์ปูบก (Gecarcinidae) 

ลักษณะของปูไก่ คือ กระดองเป็นรูปไข่ ด้านหน้าโค้งมนกลม เหนือเบ้าตามีปุ่มเล็กๆ ข้างละปุ่ม กระดองตอนหน้าระหว่างขอบตาแคบ มีความยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร พวกมันเป็นปูน้ำจืดที่ชอบอยู่ตามลำธาร บนภูเขาละตามป่าชายหาด ตามเกาะของภาคใต้ พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ ยะลา แต่ก็พบได้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชอบหากินในช่วงเวลากลางคืน

สำหรับปูไก่เพศผู้ มีก้ามใหญ่แข็งแรง ก้ามซ้ายมีขนาดใหญ่ ปลายก้ามหนีบอันบนยาวกว่าอันล่าง ขาเดินมี 4 คู่ ข้อสุดท้ายมีปลายแหลม ขอบหยักเป็นฟันเลื่อย ขาเดินทุกคู่ มีขนสีดำกระดองสีน้ำตาลปนเหลือง ก้ามสีน้ำตาลปนส้ม โคนขาเดินสีส้ม ช่วงโตเต็มวัยจะใช้ชีวิตอยู่บนบก ทำให้ต้องมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการดำรงชีพ โดยต้องหายใจจากอากาศโดยตรง

ปูไก่ เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
วัยอ่อนอยู่ในทะเล โตมาอยู่บนบก

เห็นแบบนี้ ก็คงคิดกันว่า "ปูไก่" มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับปูทั่วไป ส่วนสาเหตุที่มันได้ชื่อว่าปูไก่ เนื่องจากมีเสียงจากการกระทบกันของกล้ามปูเสียงดังคล้ายเสียงร้องของไก่ เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ซึ่งอยู่ในช่วงข้างขึ้น มันจะออกมาล้อแสงจันทร์จับคู่ พร้อมกับใช้ก้ามคู่หน้าสีกัน เกิดเสียง "เจี๊ยบๆ" คล้ายเสียงลูกไก่ร้องนั่นเอง หลังจากนั้น ตัวเมียจะลงไปปล่อยไข่ริมทะเล ให้น้ำทะเลพาไข่กลับไปฟักเป็นตัว เจริญอยู่ในน้ำทะเล ก่อนที่จะกลับมาอยู่บนบก

ส่วนการดำรงชีวิตของปูไก่ ก็จัดว่าอินดี้ คือไม่ค่อยซ้ำแบบใคร วัยอ่อนเติบโตในน้ำทะเล ครั้นพอโตก็ย้ายบ้านมาอยู่บนบก โดยใช้วิธีขุดรูไม่ไกลชายฝั่งทะเลกินซากพืช ซากสัตว์ สัตว์ที่มีขนาดเล็กและใบไม้เป็นอาหารเลี้ยงชีพ

ปูไก่ เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ตัวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ

ปูไก่
ดำรงชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนบก ทำให้การขับถ่ายของมันแตกต่างไปจากปูทะเล โดยกระบวนการเปลี่ยนของเสียของมันจากแอมโมเนียจะกลายเป็นกรดยูริกและเก็บไว้ในเนื้อเยื่อ ทำให้เมื่อนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหาร จะไม่อร่อยลิ้น มนุษย์จึงไม่นิยมนำปูไก่มาบริโภค 

อย่างไรก็ตาม แม้คนจะไม่นิยมนำมากิน แต่ปูไก่ก็ยังเป็นสัตว์หายาก เพราะนับวันจำนวนประชากรของพวกมันจะเหลือน้อยลงและใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไป การดำรงอยู่ของปูไก่ จึงบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย 
ปูไก่ เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากใครได้ไปเที่ยวชมความสวยงามของธรรมชาติ ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน แล้วพบปูไก่ สัตว์น่ารักน่าเอ็นดู เสน่ห์ของที่นี่แล้วล่ะก็ ขอให้ท่านช่วยกันโดยไม่รบกวน เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับการดำเนินชีวิตของพวกมัน และให้สัตว์ชนิดนี้ได้คงอยู่ตามธรรมชาติสืบต่อไป

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน - Mu Ko Similan National park 
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
วิกิพีเดีย

logoline