svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

20 เมษายน "วันกัญชาโลก" วันสากลของโลก จากพืชที่ผู้คนยังถกเถียงถึงคุณและโทษ

20 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

20 เมษายน "วันกัญชาโลก" World Cannabis Day วันสากลของโลก จากพืชที่ผู้คนยังถกเถียงถึงคุณและโทษ แล้วคุณล่ะคิดว่า "กัญชา" มีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน

"กัญชา" หรือ "Cannabis" พืชที่มีทั้งประโยชน์และโทษในตัว โดยปัจจุบันมีหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้มีการนำเอากัญชามาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะจากสารที่อยู่ในกัญชา มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่า "กัญชา" นั้นมีโทษ สามารถสร้างปัญหาให้สังคมได้มากกว่าประโยชน์ จึงยังกำหนดให้ "กัญชา" เป็นยาเสพติด ใครที่ครอบครองถือมีความผิดตามกฎหมาย  

ประเด็นเรื่องของประโยชน์และโทษของกัญชา แม้จะยังเป็นข้อถกเถียง แต่เชื่อหรือไม่ว่า โลกใบนี้ให้ความสำคัญต่อ "กัญชา" ถึงขนาดมีการกำหนดให้มีวันสากลของโลกสำหรับ "กัญชา" ขึ้น โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 20 เมษายนของทุกปี เป็น "วันกัญชาโลก" หรือ "World Cannabis Day" 

Nation STORY จะพาไปรู้จักกับ "วันกัญชาโลก" ว่า วันดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไร สำคัญขนาดไหน และปัจจุบันสังคมไทยมีความคิดเห็นอย่างไรกับ "กัญชา" ....
20 เมษายน "วันกัญชาโลก" วันสากลของโลก จากพืชที่ผู้คนยังถกเถียงถึงคุณและโทษ
 

สำหรับความเป็นมาของ "วันกัญชาโลก" นั้น มีจุดเริ่มต้นจากยุค 70 ในปี ค.ศ.1971 ที่มีกลุ่มนักเรียนไฮสคูล ซาน ราฟาเอล ในเมืองซานราฟาเอล รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย สตีฟ แคปเปอร์, เดฟ เรดดิกซ์, เจฟฟรีย์ โนเอล, ลาร์รีย์ ชวาร์ตซ์ และ มาร์ก กราวิช เรียกกลุ่มตนเองว่า เดอะ วอลโดส์ (The Waldos) ได้รวมกลุ่มกันตามหาไร่กัญชาในตำนานที่เชื่อว่า ถูกทิ้งร้างอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของเมือง ตามแผนที่เก่าที่เป็นสมบัติของคนปลูกกัญชาตามที่เรียนมา โดยใช้บริเวณที่ตั้งรูปปั้นของ "หลุยส์ ปาสเตอร์" ในโรงเรียน เป็นสถานที่นัดพบกันเวลา 16.20 น. ( 4.20 p.m.) เป็นเวลานัดพบ พร้อมเรียกแผนนี้ว่า "สี่ยี่สิบหลุยส์"

ซึ่งผลปรากฏว่า พวกเขาไม่เคยพบไร่กัญชาดังกล่าว และต่อมาพวกเขาได้ย่อเหลือแค่คำว่า "สี่ยี่สิบ" กระทั่งกลายเป็นรหัส 420 (Four Twenty) ที่วัยรุ่นใช้เพื่อสื่อถึงการเสพกัญชา 

ต่อมาคนหนึ่งของกลุ่ม ได้พูดรหัสนี้กับเพื่อนของเขา ซึ่งเป็นสมาชิกวงดนตรีร็อคสัญชาติอเมริกัน The Gratful Dead จนกระทั่งปี 1990 "สตีฟ บลูม" บรรณาธิการของนิตยสาร High Time ได้เห็นเรื่องราวของ 420 จากใบปลิวคอนเสิร์ตของ The Gratful Dead จึงนำคำว่า 420 มาใช้ในนิตยสาร และช่วยเผยแพร่ไปทั่วโลก
20 เมษายน "วันกัญชาโลก" วันสากลของโลก จากพืชที่ผู้คนยังถกเถียงถึงคุณและโทษ

จนเมื่อเข้าสู่ยุค Green Rush เป็นยุคแห่งการขับเคลื่อนให้กัญชาถูกกฎหมาย จากกิจกรรมที่คนมารวมตัวกัน ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นการเคลื่อนไหว เรียกร้อง รณรงค์ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา สนับสนุนการเปิดเสรีและการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย กระทั่ง ปี 2014 กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้กัญชาถูกกฎหมาย และเริ่มถูกกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลกในเวลาต่อมา 

ต่อมา "สตีฟ ดีเอนเจโล" ผู้ก่อตั้งศูนย์สุขภาพฮาร์เบอร์ไซด์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และนักเคลื่อนไหวด้านกัญชา มองว่า การเปลี่ยนแปลง 420 เป็นสิ่งที่ควรเฉลิมฉลอง เพราะการที่กัญชาถูกกฎหมาย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ดีกว่าการที่ให้ค่า "กัญชา" เป็นเพียงสิ่งเสพติด 

ดังนั้นรหัส 420 ตัวเลข 4 โมง 20 นาที จึงได้กลายมาเป็นเดือน 4 วันที่ 20 (20 เมษายน) ทำให้วันที่ 20 เมษายนของทุกปี ถูกยกเป็น "วันกัญชาโลก" หรือ World Cannabis Day  

โดยในส่วนของประเทศไทยเอง ก็มีการจัดงาน “วันกัญชาโลก” ครั้งแรกปี พ.ศ. 2558 โดยกลุ่ม “Highland Mag” และ “กัญชาชน” ที่รวมตัวกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดต่อเนื่องกันทุกปี ซึ่งสำหรับงาน “วันกัญชาโลก” ที่มีการพูดถึงกันมาก คืองาน “พันธุ์บุรีรัมย์” จัดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 19 - 21 เมษายน พ.ศ. 2562 

การใช้กัญชากับสังคมไทย 

สำหรับการใช้กัญชาในประเทศไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในฐานะพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ในการรักษาโรคต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางส่วน นำไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้ "กัญชา" ถูกจัดเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. 2477 ห้ามการปลูก ซื้อ ขาย จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือสูบกัญชา และและเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ทำให้ผู้ที่ครอบครองมีความผิดตามกฎหมาย ต้องใช้หรือครอบครองแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ 

และแม้กัญชาจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ได้มีการศึกษาถึงประโยชน์ จากสารที่อยู่ในกัญชา จนนำไปสู่ความพยายามทำให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์นั้นถูกกฎหมาย จนในปี 2562 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) ได้อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ใช้รักษาผู้ป่วย ใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือใช้ในการศึกษาวิจัยได้

นำมาสู่การอนุญาตให้ใช้กัญชาในเชิงการแพทย์  และนำไปสู่การที่ "กัญชา" ถูกนำออกจากบัญชียาเสพติด เมื่อมีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุให้ยกเว้น "พืชกัญชา" และ "กัญชง" จากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ให้สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ทำให้ประชาชนสามารถปลูก ทั้งเพื่อบริโภคเอง และปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ยังคงมีข้อกำหนดกำกับไว้บางประการ  
ขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา

แต่อย่างไรก็ตาม การปลดล็อก "พืชกัญชา" และ "กัญชง" จากการเป็นยาเสพติด ก็เป็นเสมือนดาบสองคม เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ควบคุม ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชา ยังคงไม่ครอบคลุมทุกมิติอย่างแท้จริง โดยเฉพาะจากการนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์การปลดล็อกกัญชา เช่น การกัญชานำไปใช้เชิงสันทนาการ และการเข้าถึงโดยง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยรวมถึงเยาวชนจำนวนไม่น้อย นำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้น จนตามมาด้วยปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

จนนำมาสู่คำถามว่า แท้จริงแล้วสังคมไทยได้ประโยชน์จากการกัญชา คุ้มค่ากับปัญหาที่ตามมาหรือไม่? จนเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการนำกัญชา กลับไปเป็นยาเสพติดตามเดิมอีกด้วย 

มาถึงจุดนี้ Nation STORY จึงอยากชวนทุกคนมาคุยว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับ "กัญชา" กับสังคมไทยและสมควรนำ "กัญชา" กลับไปเป็นยาเสพติดตามเดิมหรือไม่อย่าง?
20 เมษายน "วันกัญชาโลก" วันสากลของโลก จากพืชที่ผู้คนยังถกเถียงถึงคุณและโทษ
 

logoline