svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ร่มธรรม" ห่วงกระบวนการบำบัดไม่พร้อม ยาบ้า 5 เม็ดยิ่งซ้ำเติมปัญหายาเสพติด

"ร่มธรรม ขำนุรักษ์" ห่วงกระบวนการบำบัดไม่พร้อม ยาบ้า 5 เม็ดยิ่งซ้ำเติมปัญหายาเสพติด แนะ นายกฯเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นต่อแนวทางเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดของภาครัฐว่า ในทางหลักการ โครงการดังกล่าวถือว่ามีฐานคิดทางวิชาการรองรับและมีต้นแบบที่สำเร็จในหลายประเทศ แต่จะนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหนต้องพิจารณาถึงบริบทที่ต่างกันและต้องอาศัยเจตจำนงค์อันแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาของรัฐบาลเป็นธงนำที่สำคัญ

นายร่มธรรม กล่าวว่า บริบทของปัญหายาเสพติดในประเทศไทยเวลานี้คือยาบ้าระบาดหนักมาก หาซื้อง่าย ราคาถูกจนแทบจะเป็นหนึ่งตำบล หนึ่งเอเย่นไปแล้ว แม้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงต่อสังคมว่าเป็นเพราะยาบ้าทะลักมาทางชายแดนอย่างหนัก ปราบปรามจับกุมได้มากขึ้นก็ยังไม่สามารถสกัดกั้นได้มากพอ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราไม่เคยเห็นคือการขยายผลสืบสาวถึงต้นตอเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ในประเทศไทยได้เลย ถ้าทำตรงนี้ไม่ได้ ไม่สามารถจับปลาใหญ่เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลเอาจริงไม่ไว้หน้าใคร ต่อให้จับยาเสพติดแนวชายแดนได้มากแค่ไหนก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือความพร้อมของระบบติดตามบำบัดในกรณีไม่ดำเนินคดีผู้เสพ ให้มองเป็นผู้ป่วยโดยกำหนดในกฎกระทรวงให้การครอบครองยาบ้าน้อยกว่า 5 เม็ด สามารถขอรับการบำบัดแทนจำคุกแทนได้เมื่อถูกจับกุม

"ตรงนี้เข้าใจว่าจะสามารถช่วยลดปัญหานักโทษล้นเรือนจำได้ เพราะนักโทษส่วนใหญ่ก็คือนักโทษในคดียาเสพติด แต่จะเป็นการถ่ายโอนปัญหาจากเรือนจำกลับมาสร้างผลกระทบต่อสังคมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตรงนี้หลายคนมีความกังวลอย่างมาก"

ประเด็นก็คือการจำแนกผู้เสพกับผู้ค้าทำได้ยาก ผู้ค้าบางคนอาจอาศัยช่องโหว่นี้ในการเอาตัวรอด ซึ่งเรายังมีปัญหาหนักอีกเรื้องซ้อนเข้ามาในการแก้ปัญหานี้ คือการคอร์รัปชันของเจ้าที่รัฐกับผู้มีอิทธิพล ตรงนี้เป็นช่องทางการเรียกรับประโยชน์ได้ง่ายมาก 

ส่วนอีกปัญหาหนึ่งคือระบบติดตามบำบัดมีความพร้อมแค่ไหนในการรองรับโครงการนี้ เพราะต้องอาศัยงบประมาณมหาศาล แต่เท่าที่เห็นจากการจัดสรรงบประมาณยังคงเป็นแบบเดิมๆ การตอบสนองทางนโยบายที่เราได้ จึงอาจเห็นผลสำเร็จเชิงตัวเลขในรายงานเสนอต่อรัฐมนตรี แต่สภาพปัญหาอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหนเลยก็เป็นได้

นายร่มธรรม กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลต้องการดำเนินแนวทางนี้เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติจริง ลำพังแค่กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งานไม่พอ แต่อาจต้องเป็นนายกฯเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เพราะด้วยขนาดของปัญหาที่ใหญ่มากถึงกับเรียกได้ว่าระบาดไปทุกชุมชนหมู่บ้าน รัฐบาลต้องมีงบประมาณก้อนใหญ่ลงมาแก้ปัญหาและอาจต้องมาพร้อมกับการกระจายอำนาจบริหารจัดการและงบประมาณลงมาให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาตามบริบทของแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ อาจต้องมีสถานที่ดูแลบำบัดในระดับชุมชน มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการบำบัดทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ เพราะเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีกลไกฟื้นฟูที่ไม่ใช่แค่การเลิกได้ครั้งเดียวแล้วจบ แต่อาจต้องทำงานยาวนานไปถึงระดับการเปลี่ยนฐานความคิดของคนๆหนึ่งให้กลับมาเห็นคุณค่าในตัวเอง อาจต้องมีห้องหนังสือ เพลง หนัง ศิลปะ กีฬาฯลฯ รวมถึงบทสนทนาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และต้องมีระบบติดตามพฤติกรรมที่ต่อเนื่องจนเชื่อได้ว่าเขาจะไม่กลับไปเสพอีก

ขณะเดียวกัน นอกเหนือทางการแพทย์ รัฐบาลจะต้องตัดวงจรการค้าให้ได้ถึงในระดับตำบลหมู่บ้าน ตรงนี้ต้องอาศัยหน่วยงานอื่นที่มากกว่าทางสาธารณสุข เข้าใจว่ามีทางมหาดไทยมาข่วยกวดขันกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ผลที่ตามมา กลายเป็นบางที่ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นหูเป็นตาถูกผู้ค้าบุกเข้าไปทำร้ายถึงที่บ้านก็มี 

หากมีนโยบายลงมาแต่ปกป้องผู้ปฏิบัติไม่ได้สุดท้ายปัญหาก็จะวนกลับจุดเดิม สภาพแวดล้อมของการค้าการเสพยังซื้อง่ายขายคล่องเหมือนเดิม แต่ผู้เสพและผู้ค้าอาจมากกว่าเดิมเพราะไม่ต้องรับโทษ แค่ตีเนียนไปบำบัดสักพักก็วนกลับเข้าวงจรเดิมได้ ดังนั้นถ้ายืนยันว่าจะเดินต่อในแนวทางนี้จะต้องเตรียมองคาพยพต่างๆรองรับให้พร้อมอย่างมาก ต้องอาศัยทั้งงบประมาณ กำลังคน การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการข้ามหน่วยงานที่สอดคล้องกันจึงจะสำเร็จได้