svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สรุปคดีดังแห่งปี "คดีกำนันนก" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี

02 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งคดีสะเทือนขวัญ อุกฉกรรจ์แห่งปี 2566 คดี "กำนันนก" กำนันคนดังเมืองนครปฐม สั่งลูกน้องยิงตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และนำไปสู่การปลิดชีพตัวเอง 1 นาย นำมาสู่ความสั่นสะเทือนในวงการสีกากี

“เนชั่นออนไลน์” จะพาไปย้อนเรื่องราวของคดีนี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนสู่ทิศทางที่จะต้องติดตามต่อไปว่า   บทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่าง? และสังคมได้อะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง 

ย้อนเหตุการณ์จุดเริ่มต้นคดี "กำนันนก"  

วันที่ 6 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 22.00 น. ได้เกิดเหตุคนร้าย ใช้อาวุธปืนยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงค์ สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. จนเสียชีวิต และ พ.ต.ท.วศิน พันปี รอง ผกก.2 บก.ทล. บาดเจ็บสาหัส ภายในงานเลี้ยงสังสรรค์ ณ ที่ทำการบริษัทรับเหมาก่อสร้างของ "กำนันนก" นายประวีณ จันทร์คล้าย ในพื้นที่ ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม คมกระสุนพุ่งทั่วร่าง พ.ต.ต.ศิวกร กว่า 7 นัด ทำให้เสียชีวิต   

โดยสถานที่เกิดเหตุ มีงานเลี้ยงบ่อยครั้ง ในวันเกิดเหตุ ก็มีงานเลี้ยงที่ "กำนันนก" เชิญ พ.ต.ต.ศิวกร และ พ.ต.ท.วศิน มาร่วมงานด้วย 
สรุปคดีดังแห่งปี \"คดีกำนันนก\" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี
 

เบื้องต้นมีรายงานว่า ก่อนเกิดเหตุ "กำนันนก" และ พ.ต.ต.ศิวกร มีปากเสียงกัน ก่อนที่ "นายหน่อง" นายธนัญชัย หมั่นมาก ลูกน้อง "กำนันนก" จะลั่นไกสังหาร "พ.ต.ต.ศิวกร" รวมถึงกระสุนยังพลาดไปถูก "พ.ต.ท.วศิน" บาดเจ็บ หลังเกิดเหตุทั้ง "กำนันนก" และ "นายหน่อง" อาศัยช่วงชุลมุนหลบหนีไป   

มีรายงานอีกว่า ก่อน "กำนันนก" หลบหนี ได้สั่งการให้ทำลายหลักฐาน ล้างคราบเลือด ปลอกกระสุน และเก็บวงจรปิดไปด้วย และเมื่อตรวจสอบวงจรปิด ก็พบตำรวจกลุ่มหนึ่ง มีหน้าที่พา "กำนันนก" และ "นายหน่อง" มือปืนออกจากที่เกิดเหตุ 
ภาพก่อนเกิดเหตุการณ์ยิง สารวัตรแบงค์  

เบื้องต้น ศาลจังหวัดนครปฐม ได้ออกหมายจับ “นายหน่อง” มือปืนในข้อหา "ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา, พยายามฆ่าผู้อื่น, มีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และ ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชน"   

ขณะที่ "กำนันนก" ตกเป็นผู้ต้องหาสั่งการให้ “นายหน่อง” เป็นผู้กระทำความผิด พร้อมการเปิดปฏิบัติการไล่ล่าผู้ต้องหา โดยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้นสั่งการด้วยตัวเอง 
กำนันนก และ นายหน่อง

วันที่ 7 กันยายน 2566 "กำนันนก" ถูกศาลจังหวัดนครปฐม ออกหมายจับที่ จ.469/2566 ลงวันที่ 7 กันยายน 2566 ในข้อหา “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น”

ซึ่งในช่วงเย็นวันเดียวกัน "กำนันนก" ได้เข้ามอบตัว พร้อมปฏิเสธเสียงแข็งอ้างว่า ลูกน้องเป็นผู้ลงมือเอง แต่ยอมรับว่า อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง 
กำนันนกเข้ามอบตัวคดียิงสารวัตรแบงค์  

ตำรวจวิสามัญ "หน่อง ท่าผา" มือปืนยิงสารวัตรแบงค์  

วันที่ 8 กันยายน 2566 ช่วงเช้าตรู่  "นายหน่อง" ถูกตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และชุดหนุมานวิสามัญ  ขณะพยายามต่อสู้ เพื่อหลบหนีการจับกุม หลังตำรวจติดตามไปจับกุม ที่โรงธูปร้าง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี   

วันที่ 9 กันยายน 2566 ชุดหนุมานกองปราบ นำตัว "กำนันนก" ไปฝากขังยังศาลอาญารัชดา พร้อมคัดค้านการประกันตัว มีการโอนคดีจากตำรวจนครปฐม ไปให้กองบังคับการปราบปราม เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นว่า จะไม่มีการวิ่งเต้นล้มคดี มี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” รอง ผบ.ตร. เป็นผู้เข้ามาดูแล โดย บิ๊กโจ๊ก ระบุว่า คดีนี้ไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด 
ตำรวจวิสามัญ "หน่อง ท่าผา"

วันที่ 10 กันยายน 2566 ศาลอนุมัติหมายจับตำรวจ 6 ราย ในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ , ช่วยเหลือไม่ให้คนร้ายรับโทษ , และซ่อนเร้นพยานหลักฐาน หรือก็คือ พฤติกรรมที่เอาปืนไปฝังดิน และเอาเซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิดไปโยนทิ้งน้ำ เพื่อทำลายหลักฐาน 

วันที่ 11 กันยายน 2566 ที่เป็นวันฌาปนกิจร่างของ "พ.ต.ต.ศิวกร " "พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์" หรือ "ผู้กำกับเบิ้ม" ผกก.ทล.1 กก.2 บก.ทล. ผู้บังคับบัญชาของ "พ.ต.ต.ศิวกร" ได้ก่อเหตุอัตวินิบาตกรรม ที่บ้านพักพื้นที่ย่านคูคต จ.ปทุมธานี จากสาเหตุจากความเครียดและเสียใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ "พ.ต.ต.ศิวกร" เสียชีวิต
"พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์" หรือ "ผู้กำกับเบิ้ม" ผกก.ทล.1 กก.2 บก.ทล.  

วันที่ 13 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ป.ป.ช. ปปง. ตำรวจสอบสวนกลาง และชุดปฏิบัติการพิเศษ เปิดปฏิบัติทลาย "เครือข่ายกำนันนก" และเครือข่ายผู้มีอิทธิพล เข้าตรวจค้นจุดเป้าหมาย 15 จุด ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ตรวจยึด ปืน 16 กระบอก พบรถฟอร์จูนเนอร์ สีขาว และรถยนต์ฟอร์ด สีเทา ที่ "กำนันนก" และ "นายหน่อง" ใช้หลบหนี ถูกดัดแปลงสภาพ และจอดซุกซ่อนอยู่ภายในบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ มีการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติม ขณะที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แถลงพบพิรุธ บริษัทกำนันนก ส่อฮั้วประมูล 2 โครงการใหญ่ก่อสร้างถนน 2 เส้นทาง
สรุปคดีดังแห่งปี \"คดีกำนันนก\" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี

วันที่ 15 กันยายน 2566 ตำรวจสามารถกู้ไฟล์ และเปิดดูภาพจากกล้องวงจรปิด จำนวน 15 ตัว ในบ้าน "กำนันนก" ได้ มีการตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด เพื่อแจ้งข้อหากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งพลเรือนและตำรวจ โดยพบว่า ตัวละครร่วมงานเลี้ยงบ้าน "กำนันนก" มีตำรวจทั้งหมด 29 นาย และพลเรือน 28 คน รวมทั้งหมด 56 คน 

ผ่าฟ้า! โอนคดียิง "สารวัตรแบงค์" ให้สอบสวนกลาง 

วันที่ 16 กันยายน 2566 "พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช" ผบช.ก. หรือ บิ๊กก้อง เดินทางกลับถึงประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงคดีว่า แม้ตัว "กำนันนก" จะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่แนวทางสืบสวน ก็ยังคงดำเนินต่อไป และมั่นใจว่า จะสามารถเอาผิดได้อย่างแน่นอน   

วันที่ 17 กันยายน 2566 หลังจากเปิดภาพจากวงจรปิด ทำให้พบว่า มีตำรวจให้การโกหก จึงต้องมีการเรียกสอบปากคำใหม่ทั้งหมด รวมถึงออกหมายจับ ผู้ต้องหาในคดีเพิ่มเติม ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน ชุดทำงาน "บิ๊กโจ๊ก" เตรียมแจ้งข้อหา 14 ตำรวจ เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และให้การเท็จ โดยมีชื่อ "ผู้กำกับเบิ้ม" และ "ผกก.พญาไท" รวมอยู่ด้วย 
วงจนปิดภาพเหตุการยิงสารวัตรแบงค์  

แต่ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา "บิ๊กเด่น" พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ในขณะนั้น ได้ลงนามคำสั่ง ให้โอนสำนวนการสอบสวน คดีที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางทั้งหมด มี "พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ" รองผู้บังคับการปราบปราม ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าชุด เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับ คดียิง "สารวัตรแบงค์" ขณะคดีเกี่ยวกับการฮั้วประมูลของ "กำนันนก" ยังคงให้ทีมของ "บิ๊กโจ๊ก" ทำหน้าที่ต่อไป 

"บิ๊กเด่น" เปิดเหตุผลโอนคดีให้สอบสวนกลาง ย้ำทำงานเป็นกลาง 

วันที่ 18 กันยายน 2566 "บิ๊กเด่น" ผบ.ตร. แจงเหตุผลในการโอนคดี "สารวัตรแบงค์" ให้สอบสวนกลาง เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวโยงผู้มีอิทธิพล ไม่มีปมขัดแย้งกันระหว่างตำรวจ และที่ผ่านมาสอบสวนกลาง ได้เข้าทำคดีมาโดยตลอด

ขณะที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เปิดเผยภายหลังประชุมกับหน่วยงาน 11 หน่วยงาน ภายใต้สังกัด บช.ก. ระบุว่า ตำรวจสอบสวนกลาง รับคดีฆาตกรรม "สารวัตรแบงค์" และ คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ของตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ มาสอบสวนต่อ

เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ การก่อเหตุอุกฉกรรจ์ คดีมีความซับซ้อน หากคดีถึงชั้นอัยการ และศาลในพื้นที่แล้ว อาจจะทำให้มีอิทธิพลของคนในพื้นที่ มากดดันการทำงานได้ พร้อมให้คำยืนยันจะทำคดีอย่างตรงไปตรงมา  
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.  

วันที่ 20 กันยายน 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สืบสวนสอบสวนขยายผล ตรวจสอบการประกอบธุรกิจ รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ มีการ "ฮั้วประมูล" หรือไม่ โดยดีเอสไอ ได้เรียกสอบ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่เข้าซื้อซองโครงการต่าง ๆ ที่ กำนันนกเข้าร่วมประมูล ซึ่งพบบริษัทที่ซื้อซอง 2 โครงการ เข้าข่ายฮั้วประมูล 

วันที่ 22 กันยายน 2566 "พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ" รองผู้บังคับการปราบปราม ในฐานะเลขานุการคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ขอให้มอบหมายพนักงานอัยการ ร่วมให้คำแนะนำปรึกษาคดี หลังกองบังคับการกองปราบปราม ได้รับโอนคดี จากสถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐม   

วันที่ 26 กันยายน 2566 "พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช" ผบช.ก. แถลงความคืบหน้าคดี ระบุว่า แบ่งตำรวจที่เข้าร่วมงานเลี้ยง 29 นาย ออกเป็น 4 กลุ่ม 

  • กลุ่มที่ 1 ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 2 คน 
  • กลุ่มที่ 2 ให้การช่วยเหลือผู้ต้องหา 6 คน 
  • กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทันทีขณะเกิดเหตุ 6 คน  
  • กลุ่มที่ 4 มีพฤติการณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

ก่อนแจ้งข้อกล่าวหากับตำรวจ 15 นาย ที่ร่วมงานเลี้ยงฯ ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  
"พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช" ผบช.ก. แถลงความคืบหน้าคดีกำนันนก  

วันที่ 28 กันยายน 2566 พนักงานสอบสวนชุดคลี่คลาย ได้นัดหมายตำรวจ 15 นาย รับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” หลังปรากฎหลักฐานเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เจ้าหน้าที่ทั้ง 15 นาย ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่จับกุมตัวคนร้าย และไม่ยอมให้การช่วยเหลือผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บหลังเกิดเหตุ

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เผยสถิติโครงการก่อสร้างภาครัฐของ "กำนันนก"  ที่เข้าข่าย คดีพิเศษ คือ โครงการที่มีมูลค่า ตั้งแต่ 30 ล้านบาท จำนวน 19 โครงการ มูลค่า 1,210,778,289.00 ล้านบาท

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานเข้าให้คำแนะนำปรึกษา ในการสืบสวนสอบสวนคดี คดีฆาตกรรม "สารวัตรแบงค์" และ คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ของตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์

ประกอบด้วย  1.นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 2.นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นคณะทำงาน 3.ร.ต.อ.อมตะ ชนะพงษ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 

เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญ ที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ มีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคน ผู้กระทำความผิด เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไป คดีมีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนคดี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นธรรม ซึ่งในส่วนของ นายวัชรินทร์ นั้น เป็นอัยการสอบสวนชื่อดัง มีฝีมือดี เคยร่วมสอบสวนคดีสำคัญจำนวนมาก จบหลักสูตรเอฟบีไอ จากสหรัฐฯ   

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 พนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. ได้มีการนำสำนวนคดี "กำนันนก" พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้อธิบดีอัยการฯ พิจารณา รวม 2 สำนวน จำนวน 7 ลัง  กว่า 7,000 หน้า มีผู้ต้องหาทั้งหมด 28 ราย 

แบ่งเป็น 1.สำนวนคดีอาญาที่ 24/2566 คดีฆาตกรรม "สารวัตรแบงค์"  มีผู้ต้องหาจำนวน 2 คน คือ นายธนัญชัย หรือ หน่อง ผู้ต้องหาที่ 1 (ถูกวิสามัญถึงแก่ความตาย) และนายประวีณ หรือ กำนันนก ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น โดยคดีนี้ "กำนันนก" ผู้ต้องหาที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

2.สำนวนคดีอาญาที่ 25/2566 คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ของตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ ยิง "พ.ต.ต.ศิวกร" มีการกล่าวหาตำรวจ รวมทั้งมีการกล่าวหาพลเรือน รวมทั้ง "กำนันนก" รวม 28 คน 
สรุปคดีดังแห่งปี \"คดีกำนันนก\" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี  

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง "กำนันนก" คดีจ้างวานสังหาร "สารวัตรแบงค์" สำนวนคดีอาญาที่ 24/2566  และสั่งฟ้อง 23 กลุ่มตำรวจ-พลเรือน สำนวนคดีอาญาที่ 25/2566 คดีละเว้นฎิบัติหน้าที่  ไม่ช่วยเหลือ "สารวัตรแบงค์"  ทำลายของกลาง พร้อมไม่ฟ้อง อดีต ผกก.สน.พญาไท กับพวก 5 คน ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่
สรุปคดีดังแห่งปี \"คดีกำนันนก\" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี  

วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดสอบคำให้การจำเลยคดี  "กำนันนก" จำเลยคดีจ้างวานฆ่า "สารวัตรแบงค์" มีการเบิกตัว "กำนันนก" ซึ่งถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาศาล โดยเจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อหา ขอต่อสู้คดี ศาลนัดตรวจหลักฐานวันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. 

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านสอบคำให้การ คดีหมายเลข อท 206/2566 หรือคดีคดีละเว้นฎิบัติหน้าที่  ไม่ช่วยเหลือ "สารวัตรแบงค์"  ทำลายของกลาง ที่มีจำเลยรวม 23 คน รวมถึง "กำนันนก" โดยจำเลยทั้ง 23 คน รวมไปถึง "กำนันนก" ได้เข้าร่วมรับฟังการนัดสืบพยานนัดแรก

จำเลยทั้งหมด ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลจึงได้นัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 22 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. พร้อมนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ในช่วงวันที่ 5 - 7 มีนาคม , วันที่ 12-14 มีนาคม , วันที่ 9 - 11 เมษายน 2567 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 เมษายน 2567 โดยวันนัดดังกล่าว อาจมีการเปลี่ยนได้ ตามความเหมาะสม 

ย้อนประวัติ "กำนันนก" เป็นใคร  

“กำนันนก” กำนันคนดังวัย 35 ปี แห่ง ต.ตาก้อง จ.นครปฐม มีชื่อ-สกุลจริง คือ นายประวีณ จันทร์คล้าย เป็นผู้ทรงอิทธิพล ไม่เพียงในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง ยังเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างถึงสองแห่ง ที่ทำรายได้กว่าสองพันล้านบาท มีฐานะเข้าขั้นมหาเศรษฐี  ขับรถหรูแบรนด์ดังจากยุโรปมูลค่านับสิบล้าน จอดให้ห้องแอร์ 
กำนันนก นายประวีณ จันทร์คล้าย  

กำนันนก เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ "ผู้ใหญ่โยชน์" หรือ นายลออง จันทร์คล้าย อดีตผู้ใหญ่บ้านชื่อดัง ของ ต.ตาก้อง โดนตัวผู้ใหญ่โยชน์ เป็นที่นับหน้าถือตา และเป็นหัวคะแนนคนสำคัญของ สส.กลุ่มบ้านใหญ่ เป็นผู้กว้างขวางในพื้นที่ 

ส่วนตัวกำนันนก ก็เดินตามรอยผู้เป็นพ่อ ด้วยการเป็นผู้ใหญ่บ้านก่อน เพียง 1 ปี ก็สมัครและได้รับเลือกเป็น "กำนันนก" แห่งบ้านตาก้อง รวมถึงเข้าสานต่อธุรกิจของครอบครัว  
รถยนต์หรูของกำนันนก  

ความสำคัญของคดี "กำนันนก"  

สำหรับคดี "กำนันนก" นอกจากจะเป็นคดีจ้างวานฆ่าตำรวจแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล สนิทสนมกับนักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติ ใช้อำนาจบารมีให้ตำรวจทำสิ่งต่าง ๆ ให้ รวมถึงก่อเหตุยิงตำรวจภายในงานเลี้ยง เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ต่อหน้าตำรวจจำนวนมากที่มาร่วมงาน
สรุปคดีดังแห่งปี \"คดีกำนันนก\" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี  

สิ่งที่สังคมรับไม่ได้คือและพีคที่สุด พฤติกรรมการสั่งให้ทำลายพยานหลักฐาน โดยการล้างคราบเลือด เก็บปลอกกระสุนปืน ถอดเซิร์ฟเวอร์ การช่วยเหลือหลบหนี ทั้งที่ในงานกินเลี้ยง มีตำรวจร่วมสังสรรค์กว่า 20 คน ส่วนใหญ่เป็นตำรวจภาค 7 และตำรวจทางหลวง แต่ "กำนันนก" และ "นายหน่อง" มือปืน กลับหนีจากที่เกิดเหตุได้ จนนำไปสู่การเอาผิดตำรวจ และพลเรือนที่เกี่ยวข้อง  
สรุปคดีดังแห่งปี \"คดีกำนันนก\" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี  

รวมถึงการขยายผล ความร่ำรวยผิดปรกติ รวมถึงการขยายผลในประเด็น “การจ่ายส่วย” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐว่า เป็นมูลเหตุที่แท้จริงของคดี ไม่เรื่องของการดวลดื่มเหล้า หรือ การขอโยกย้ายหลาน ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด 
สรุปคดีดังแห่งปี \"คดีกำนันนก\" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี

ดังนั้น แม้คดี "กำนันนก" จะยังไม่สิ้นสุด แต่ก็เป็นคดีที่สั่นสะเทือนวงการกากีอย่างมาก ทั้งในแง่ของส่วย เส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ และการอยู่ใต้ผู้มีอิทธิพล ของตำรวจบางคน
สรุปคดีดังแห่งปี \"คดีกำนันนก\" สั่งยิงสารวัตรทางหลวง สะเทือนวงการสีกากี

 

logoline