svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

PRIME TIME กับเทพชัย ความเสี่ยงที่มากับการตัดแว่นสายตา | ตอนที่ 2/3 | 15-04-60

20 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ร้านวัดสายตา ประกอบแว่น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ขณะที่คนส่วนใหญ่ เลือกวัดสายตาตัดแว่นตามร้านสะดวก ซึ่งมีให้เลือก ตั้งแต่ร้านใหญ่ในห้าง ร้านตามตลาดนัด หรือแม้กระทั่งรถเร่ และการวัดสายตาด้วยเครื่องเพียงอย่างเดียว ทำให้ต้อง"เสี่ยง"กับ ปัญหาสายตาเสื่อม เพราะได้แว่นไม่ตรงกับค่าสายตา หาก "ช่างแว่น" ไม่มีความเชี่ยวชาญพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลคนไทย 20 ล้านคนที่กำลังมีปัญหาสายตาได้อย่างไร และความพยายามผลักดันกฎหมายมาควบคุมคุณภาพร้านแว่น ที่ยืดเยื้อมานาน จะเป็นไปได้แค่ไหน

ดิศรณ์ สังข์อ่อง นักศึกษามหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 สายตาสั้นมาตั้งแต่เด็ก เปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย จนจำนวนแว่นที่เคยใช้ไม่ได้ และไม่เคยวัดสายตากับผู้เชี่ยวชาญ
ดิศรณ์วัดสายตาตัดแว่น ตามความสะดวกและตามกำลังเงิน แต่สิ่งหนึ่งที่ดิศรณ์อาจไม่เคยใส่ใจเลยก่อนหน้านี้ คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อสายตา แต่ดิศรณ์ก็สัมผัสได้ถึงความผิดปกติ เมื่อแว่นที่ตัดมาใหม่ทำให้มีอาการเวียนหัว
ดิศรณ์เป็นเพียงหนึ่งในคนไทยจำนวนหลายล้านคนที่มีปัญหาสายตา และแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือการตัดแว่นจากร้านหรือบริการที่สะดวกและราคาถูกที่สุด และส่วนใหญ่จบลงด้วยปัญหาเหมือนกัน นั่นคือการได้เลนส์แว่นตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาที่เปลี่ยนไปและไม่น้อยหาทางออกด้วยการเปลี่ยนร้านแว่นไปเรื่อยๆ
ไพร์มไทม์ ตรวจสอบจากกลุ่มคนทำงานที่มีปัญสายตากว่า 10 คน ถึงการเลือกร้านแว่น ก็ได้ข้อมูลแทบไม่ต่างกัน คือ เลือกร้านที่สะดวกในห้างสรรพสินค้า ร้านขนาดใหญ่ ที่มีหลายสาขา เพราะน่าเชื่อถือ และบางครั้งก็เลือกเพราะโฆษณาคุ้นตาคุ้นหู แถมยังมีโปรโมชั่นลดราคา ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น จะเน้นเลือกร้านที่มีกรอบแว่นแฟชั่นทันสมัยให้เลือก และราคาไม่สูงมากนักแต่สิ่งที่พฤติกรรม ทั้งสองกลุ่มหมือนกัน คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปวัดสายตากับผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาล เพื่อนำค่าสายตามาให้ร้านแว่นตัดเลนส์ให้ เพราะเชื่อว่าเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ในแต่ละร้าน คงมีประสิทธิภาพไม่ต่างกันนัก
ความเชื่อเช่นนี้ กลับก็ทำให้หลายคนมีปัญหาหลังจากใช้แว่นใหม่ แล้วต้องปวดหัว เวียนหัว จนต้องกลับไปให้ทางร้านแก้ไข วัดสายตาให้ใหม่ ขณะที่บางคนกลับไปใช้บริการร้านเดิมที่เคยตัดแล้วไม่มีปัญหา
ปธิกร สุทาวัน เจ้าของกิจการร้านเเว่น ที่มีประสบการณ์ทำงานในร้านเเว่นขนาดใหญ่มานาน 20 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านเป็นของตัวเองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีลูกค้าบางส่วนที่ตัดแว่นไป พอนำไปใส่แล้วปวดหัว จนต้องกลับมาให้ช่วยแก้ไข ขณะที่ลูกค้าร้านแว่น บางรายถึงกับทดลองไปวัดสายตาตามร้านแว่น 3 ร้าน และผลปรากฎว่า ค่าสายตาทั้ง 3 ครั้ง ไม่ตรงกันเครื่องวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Auto Refractor ตามร้านค้าแว่นตา เริ่มมีใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2521หรือ 39 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้วัดสายตา โดยการให้ค่าสายตาเป็นตัวเลขสำเร็จรูป เพื่อให้แสงสามารถผ่านเข้าไปในลูกตา ไปยัง Fovea หรือจุดศูนย์กลางการเห็นได้
ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุถึงข้อดีของเครื่องมือนี้คือ ใช้งานง่าย ทำให้ได้ค่าสายตารวดเร็ว แต่ข้อเสีย คือค่าที่ได้จากเครื่องมือนี้ อาจไม่ตรงกับความจริง ความน่าเชื่อถือประมาณ 80% ส่วนกลุ่มที่ไม่ควรใช้เครื่องวัดสายตานี้ คือ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ เพราะความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่า 50% รวมไปถึงคนที่มีปัญหาการเพ่ง การปรับโฟกัส เพราะมักได้ค่าสายตาที่ไม่ถูกต้อง ส่วนมากแล้วจะสั้นกว่าปกติ ผู้ที่มีปัญหาตาเข โรคตาที่แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ตามปกติ เช่น หนังตาตก ต้อกระจก จะมีโอกาสเกิดค่าสายตาเอียง ทั้งที่ไม่มีตาเอียง หรืออาจมีค่าสายตาเอียงมากเกินจริง
สำหรับ คนอายุ 40 ขึ้นไป ที่เริ่มสายตายาว เครื่องพวกนี้ ก็ไม่สามารถบอกค่าสายตา สำหรับการดูหนังสือหรือทำงานระยะใกล้ได้การวัดสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ ยังไม่สามารถแสดงถึงอาการของโรคตา ไม่บ่งชี้ถึงความสามารถในการมองเห็นว่า และคุณภาพการมองเห็น จึงอาจสรุปได้ว่า ค่าสายตาที่ได้จากเครื่องวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันในปัจจุบันอย่างเดียวนั้น ไม่อาจเชื่อถือได้ เพราะเป็นเพียงค่าสายตาเบื้องต้น จึงไม่เหมาะนำไปใช้ประกอบแว่นสายตา เพราะอาจก่อให้เกิดอาการ เวียนหัว ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มองไม่ชัดในบางระยะ เห็นภาพซ้อน อาจทำให้ผู้ใช้เสี่ยงประสบอุบัติเหตุได้
สถานการณ์ปัญหาสายตาของคนไทย จากงานวิจัยทางจักษุสาธารณสุข ในปี 2554 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้ความเสี่ยงทางด้านสายตาและสุขภาพตาเพิ่มมากขึ้น และจากลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการใช้สายตากับอุปกรณ์ หลากหลายรูปแบบที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงเกิดปัญหาสายตาล้าเนื่องจากอุปกรณ์ดิจิทัล หรือ Digital Eye Strain ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมยุค Thailand 4.0
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ภายใต้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดกรองสายตาผิดปกติในนักเรียนทั่วประเทศ มีรายงานผลสำรวจสายตาเด็กไทยอายุ 3-12 ปี ในช่วงปี 2554-2555 พบเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติถึงเกือบ 7% ปัจจุบันคาดว่า น่าจะมีเด็ก ที่สายตาผิดปกติราวๆ 5 แสน 7 หมื่นคน โดยจำนวน 3 แสน 5 หมื่นคน จำเป็นต้องใส่แว่น และมีเด็กที่ตัดแว่นแล้ว 8 หมื่นคน แต่มีจำนวนที่ใส่แว่นถูกต้องกับค่าสายตาประมาณ 2 หมื่นคน ดังนั้นจึงมีเด็กมากกว่า 3 แสนคนที่จำเป็นต้องใส่แว่น และหากเด็กกลุ่มนี้ยังตัดแว่นไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ หรือตาเหล่
ขณะที่ ผลศึกษาขององค์การอนามัยโลก สภาทัศนมาตรศาสตร์โลก และองค์การเพื่อป้องกันอาการตาบอดสากล คาดการณ์ว่า ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย จะมีประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลทางด้านสายตาและสุขอนามัยของระบบการมองเห็นไม่น้อยกว่า 20 ล้านคนโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาอย่างถูกต้องและมีคุณภาพ เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสถานการณ์ที่ต้องป้องกันแก้ไข กลับสวนทางกับจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาที่มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนคนที่มีปัญหาสายตา โดยเฉพาะ นักทัศนมาตร ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาสายตาและทำงานร่วมกับจักษุแพทย์
ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่าปัจจุบันจำนวนร้านแว่นตาในประเทศ ที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ 5,000 ร้าน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 7,000 - 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขที่แท้จริง มีมากกว่า 7,000 ร้าน
ขณะที่มีนักทัศนมาตร ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ เพียงแค่ 172 คน และจำนวนที่ผลิตได้ในแต่ละปี ประมาณ 70-80 คน ซึ่งในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีนักทัศนมาตรที่จบจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ รามคำแหง รังสิต และนเรศวร รวม 656 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่ออัตราส่วนประชากรของประเทศ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานทางสาธารณสุขไว้ว่า จะต้องมีนักทัศนมาตรอย่างน้อย 1 คนต่อประชากร 6 พันคน ซึ่งประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน ควรมีนักทัศนมาตรไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน
ดังนั้น จึงเป็นเหตุจำเป็น ที่ต้องให้ "ช่างแว่นตา" ยังทำอาชีพนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ โดยผ่อนปรนด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ต่ออายุหนังสืออนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ พ.ศ.2550 ไปจนกว่าจะมีกฏหมายใหม่ออกมาบังคับใช้
ซึ่งช่างแว่นเหล่านี้ มีทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ที่สืบทอดอาชีพจากบรรพบุรุษ ได้รับการฝึกฝน ถ่ายทอดความรู้ต่อๆ กันมา และปัจจุบัน มีการอบรมตามหลักสูตรวิชาชีพ เทคนิคช่างแว่นตาระยะสั้น เช่น สมาคมส่งเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย สมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ไทยชมรมผู้ประกอบอาชีพแว่นตา โดยค่าใช้จ่ายเริ่มตั้งแต่ 2 หมื่น 5พันบาท เพื่อออกมาประกอบอาชีพ ทั้งเป็นลูกจ้างและเป็นเจ้าของกิจการเอง
ทุกวันนี้ การเป็นเจ้าของร้านแว่นตา ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพียงแค่มีเงินลงทุนซื้อกรอบแว่นและเครื่องวัดสายตา ก็ทำได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีที่ตั้งแน่ชัด แค่เช่าที่ตามตลาดนัดก็สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีกฏหมายควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบแว่นสายตา ตามมาตรฐานสากล ที่กำหนดให้ ต้องมีบุคลากรเฉพาะทาง ด้านสายตาเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาทัศนมาตรเป็นผู้ควบคุมดูแล
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาทัศนมาตรเป็นสาขาในการประกอบโรคศิลปะ ของไทย ยังค้างอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายถึงแม้กระทรวงสาธารณสุข พยายามจะผลักดันให้กฎหมายควบคุมคุณภาพร้านแว่นรวมทั้งช่างแว่นตาที่จะต้องเข้ารับการอบรมให้ผ่านมาตรฐาน แต่ความจริงในสังคมที่ร้านขายแว่นยังคงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ในทุกชุมชน รถเร่ขายแว่นราคาไม่กี่ร้อยบาท เข้าถึงทุกตรอกซอกซอยทั่วประเทศ และนั่นคือตัวเลขธุรกิจมหาศาล
นี่จึงเป็นความท้าทาย "กฎหมายใหม่" ที่พยายามผลักดันกันมาหลายปี ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขณะที่เรายังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ในขั้นวิกฤต ขณะที่ธุรกิจร้านแว่นรายใหญ่รายย่อยก็ยังขยายตัวไม่หยุด และผู้ที่รับความเสี่ยงก็คือประชาชน

logoline