svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

PRIME TIME กับเทพชัย วัฒนธรรมความรุนแรง...จากวัยรุ่นสู่ฆาตกร | ตอนที่ 1/3 | 01-04-60

06 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงระยะหลังมานี้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยิ่งทวีคูณ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำถามที่เกิดขึ้นอะไรคือแรงจูงใจให้กลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายทั้งที่มีบทบัญญัติอย่างชัดเจน แต่ถ้าดูจากสถิติของกรมพินิจฯ คดีเด็กและเยาวชนที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายปีที่ผ่านมามีมากกว่า 3 พันคน

เช้ามืดวันที่ 6 ธันวาคม 2558 วัยรุ่น 6 คนรุมทำร้ายวัยรุ่นอายุ 19 ปีจนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม ริมถนน ต. ท่ามะขาม อ. เมือง จ. กาญจนบุรี ภาพเหตุการณ์จากทีวีวงจรปิดที่ถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วช็อคคนทั้งประเทศ
1 พฤษภาคม 2559 วัยรุ่นชาย6 คน ใช้อาวุธมีดรุมทำร้ายชายขาพิการ อาชีพส่งขนมปัง จนเสียชีวิตหน้าร้านขายขนม ซอยโชคชัย 4 เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้คนทั้งสังคม
4 กุมภาพันธ์ 2560 กลุ่มวัยรุ่นพยายามรุมทำร้ายวิศวกรอายุ 50 ปีหลังมีเรื่องทะเลาะวิวาท ในต. อ่างศิลา อ. เมือง จ. ชลบุรี เหตุการณ์จบลงเมื่อหนึ่งในวัยรุ่น ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้น ม. 4 ถูกยิงเสียชีวิต
25 กุมภาพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ถูกกลุ่มวัยรุ่น 18 คน บุกเข้าไปรุมทำร้ายในหอพัก และถูกไขควงแทงที่ศีรษะจนเสียชีวิต
และ 11 มีนาคมที่ผ่านมา วัยรุ่น 3 คน รุมทำร้าย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโครงการเอื้ออาทรประชานิเวศ์ 3 จนได้รับบาดเจ็บสาหัส แค่เพียงเพราะถูกตักเตือนให้หยุดเร่งเครื่องรถยนต์ที่ส่งเสียงรบกวน
เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของตัวอย่างของการใช้ความรุนแรงที่ดูเหมือนได้กลายเป็นวิถีชีวิตของวัยรุ่นไทยจำนวนไม่น้อย
อะไรเป็นแรงผลักดันให้เด็กไทยมีความก้าวร้าวและพร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ขนาดนี้
อิทธิพลของโซเชียลมีเดียมีส่วนสำคํญในการทำให้พฤติกรรมใช้ความรุนแรงของวัยรุ่นเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากกว่าในอดีต แต่ในความเป็นจริงวัยรุ่นไทยกับการใช้ความรุนแรงเป็นของคู่กันมานาน
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ วัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงถึงขั้นก่ออาชญากรรมได้ง่าย เพราะความไม่เข้าใจต่อโลกที่เป็นจริง และการโหยหาคุณค่าในตัวเอง
วัยรุ่นไม่น้อยทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึงเพียงเพราะต้องการสร้างการยอมรับจากเพื่อนฝูง แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมและวิธีการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเด็ก
การลงโทษเด็กด้วยการทุบตี การใช้คำพูดรุนแรง พฤติกรรมรุนแรงที่พ่อแสดงออกกับแม่ต่อหน้าลูก ครูลงโทษนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตี เพื่อนนักเรียนตีกัน และการเผยแพร่ภาพความรุนแรงโดยสื่อ ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กซึมซับการใช้ความรุนแรงจนเข้าใจว่าการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องปกติ
เมื่อเด็กเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่นเชื่อ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่คิด จะไม่ทำงาน ความรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไปจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
หมอจิราภรณ์ เชื่อว่าพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในวัยเด็กสามารถลดลงได้ ด้วยการเลี้ยงดูที่ความเอาใจใส่และความรัก แรงกระตุ้นที่ทำให้วัยรุ่นก่อเหตุรุนแรงมาจากหลายสาเหตุ ทั้งกลุ่มเพื่อนที่คบ การเลี้ยงดูของครอบครัว สังคม และสภาพแวดล้อมการสื่อสารสมัยใหม่ที่ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ได้รับการถ่ายทอดหรือส่งต่ออย่างรวดเร็วและอย่างกว้างขวาง เป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดการลอกเลียนแบบมากขึ้น
แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหันกลับมามองตัวเอง เหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายและใช้ไขควงแทงศรีษะหนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี จนเสียชีวิต เป็นตัวอย่างของการใช้ความรุนแรงที่เกิดมาจากตัวเอง
ผู้ต้องหาในคดีนี้ยอมรับในระหว่างการสอบสวนว่าเข้าร่วมทำร้ายเหยื่อเพียงเพราะต้องการช่วยเพื่อน ทั้งๆ ที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูก
การใช้กฎหมายอย่างจริงจังอาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การจัดการกับเด็กและเยาวชนคงต้องมีมากกว่าแค่การลงโทษ สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือการผลักให้วัยรุ่นที่ทำความผิดเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลทางลบต่อพฤติกรรม
การส่งผู้กระทำความผิดที่เป็นวัยรุ่นเข้าไปอยู่ในเรือนจำปกติอาจเท่ากับเป็นการส่งคนเหล่านี้เข้าไปเรียนรู้พฤติกรรมของอาชญากรและกลับออกมาด้วยพฤติกรรมที่เลวร้ายกว่าเดิมด้วยซ้ำ วัยรุ่นเหล่านี้จำเป็นต้องการได้รับการบำบัดมากพอๆ กับการถูกลงโทษ
เด็กเหล่านี้เมื่อถูกดำเนินคดี จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอน โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นอายุ 10-18 ปี ที่กระทำความผิดจะต้องมาอยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
คดีส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดถึงร้อยละ 45 รองลงมาเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินร้อยละ 20 และคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายร้อยละ 10 ผู้ก่อเหตุเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
ถ้าดูจากสถิติคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ปี 2556 จำนวน 4,263 คน ปี 2557 จำนวน 3,759 คน ถึงแม้ตัวเลขจะดูเหมือนลดลง แต่การกระทำผิดหรือการใช้ความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่นก็ยังมีให้เห็นในสังคมไทยอยู่เป็นประจำ
ตัวเลขของตำรวจแสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม กับวัยรุ่นที่เป็นผู้ก่อเหตุมีสัดส่วนที่ไม่ต่างกัน
สถานพินิจฯ ใช้วิธีการบำบัดฟื้นฟูให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความจำเป็นของเด็กแต่ละคน โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา สหวิชาชีพ ครูที่ปรึกษา คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าต้องดูแลตั้งแต่เด็กก้าวเข้ามาสู่สถานพินิจฯจนกระทั่งวันสุดท้ายของการบำบัด จากนั้นจะมีระบบติดตาม โดยใช้เวลาครึ่งปีจนถึง 1 ปี เพื่อช่วยเหลือดูแลเด็ก ทั้งการประสานงานด้านการศึกษา หรือการประกอบอาชีพ หรือการกลับสู่ครอบครัวที่อบอุ่น

logoline