svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

PRIMETIMEกับเทพชัย :สัญชาติไทย...ที่ผู้ใหญ่สัญญา ?

18 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในเวลาชั่วข้ามคืน "น้องพี" หรือเด็กชายสุวิน กลายเป็นหนูน้อยที่คนรู้จักทั้งประเทศทักษะที่น่าทึ่งในการเล่นฟุตบอล และความสามารถในการเตะลูกบอลให้ชนคานประตูแบบติดต่อกัน ทำให้เด็กอายุเพียง 7 ขวบคนนี้ มีความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทยสักวันหนึ่ง และกล้าฝันในเรื่องที่แม้กระทั่งพ่อแม่ของเขาอาจจะไม่เคยคิดว่าจะเป็นจริงได้นั่นคือการได้สัญชาติไทย

4 โมงเย็นของทุกวัน ซึ่งเป็นเวลาสำหรับความสนุกสนานหลังเลิกเรียนของเด็กทั่วไป คือเวลาที่น้องพีทุ่มให้กับสิ่งที่เขารักที่สุด และเป็นเวลา 4ปี ที่น้องพีมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมภายใต้การดูแลของอาจารย์ สมบัติ ลีกำเนิดไทย ผู้อำนวยการศูนย์ฟุตบอลอะคาเดมี่อินเตอร์ไทยแลนด์ พร้อมกับความฝันที่ว่าสักวันหนึ่งะได้มีโอกาสสวมเสื้อที่มีตราช้างศึก อยู่บนอก และโลดแล่นบนสนามฟุตบอลในนามทีมชาติไทยแต่น้องพีและพ่อแม่รู้ดีว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่ต้องฝ่าฟันให้ได้อาจไม่ใช่อยู่ในสนามฟุตบอล
น้องพีเกิดในครอบครัวชาวมอญที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และจนถึงทุกวันนี้น้องพียังเรียกตัวเองได้ไม่เต็มปากว่าเป็นคนไทย น้องพีเป็นหนึ่งในเด็กๆ หลายหมื่นคนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ
"หนูน้อยมหัศจรรย์ จอมแม่นคาน" คือฉายาที่น้องพีได้รับหลังการปรากฏตัวในรายการซูเปอร์จิ๋ว ซูเปอร์เท็น ทางช่อง Workpointและกลายเป็นขวัญใจของคนในสังคมอย่างรวดเร็ว และไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายที่ความโด่งดังของน้องพีจะตามมาด้วยความสนใจและข้อเสนอความช่วยเหลือ สิ่งที่สร้างความหวังให้น้องพีมากที่สุดคือคำมั่นสัญญาเรื่องทุนการศึกษาและสัญาติไทย แต่มันเป็นสัญญาที่ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่ามันจะเป็นจริง เด็กไร้สัญชาติหลายคนแล้วที่ฝากความหวังไว้กับคำมั่นสัญญาแบบนี้ แต่จบลงด้วยฝันที่สลาย
"หม่อง ทองดี" คือหนึ่งในเด็กไทยไร้สัญชาติที่ต้องเจ็บปวดกับคำสัญญาแบบนี้มาแล้ว ถ้าจะบอกว่าในวันที่หม่องชนะใจคนไทยทั้งประเทศด้วยลีลาการเล่นเครื่องบินกระดาษเมื่อมีอายุเพียง 11ปี เด็กน้อยคนนี้เป็นเด็กไร้สัญชาติที่โด่งดังที่สุดแต่ในที่สุดความโด่งดังก็ไม่ได้ช่วยให้หม่องได้ในสิ่งที่ปรารถนาที่สุด หม่อง เกิดในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งใน อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ พ่อแม่เป็นชาวชนเผ่าปะโอ ที่ผู้อพยพหนีภัยสงครามมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ในปี 2552 หม่องเป็นตัวแทนเด็กไทยไปคว้ารางวัลการแข่งขันเครื่องบินกระดาษระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับหม่องในวันนั้น ทุกอย่างดูสดใสไปหมด หม่องเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนทุกแขนง ได้รับความชื่นชมจากคนไทยทั่วประเทศ และคำมั่นสัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วทุกสารทิศ แต่แล้วความฝั่นสูงสุดของหม่องที่ดูเหมือนเกือบจะใกล้ความเป็นจริงก็หายไปกับสายลม และคำถามที่ตามก็คือ อะไรทำให้กระบวนการขอสัญชาติให้ลูกหลานคนต่างด้าวถึงได้ยากเย็นทั้งๆ ที่ในหลายกรณีก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาแสดงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ
แต่สำหรับหม่อง ทองดี ถึงแม้ความฝันที่จะได้สัญชาติไทยยังอยู่ห่างไกล แต่เขาก็ยังไม่หมดหวัง
ปลัดกระทรวงมหาดไทยยอมรับกับไพร์มไทม์ว่าคนทั่วไปมักเชื่อว่าการขอสัญชาติไทยเป็นเรื่องยากมาก เพราะปรากฏข่าวบ่อยครั้งที่บุคคลที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการได้รับสัญชาติไทย
เชว ยอง ซ็อก โค๊ชเทควันโด้ของทีมชาติไทยชาวเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างที่เคยเป็นข่าวคราวเกรียวกราว ถึงแม้เขาได้ช่วยให้นักเทควันโด้ไทยหลายคนก้าวขึ้นไปสู่ระดับโลก แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้สัญชาติไทย
นายกฤษฎา อธิบายว่าการขอสัญชาติไทยถึงจะมีหลายขั้นตอนและมีกระบวนการพิจารณาที่ซับซ้อนแต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ยากเย็นนัก ในหลายกรณีที่แม้กระทั่งบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวและไม่ได้เกิดในเมืองไทย แต่ก็ยังมีหนทางในการขอสัญชาติไทยได้ นั่นคือกระบวนการที่เรียกว่าการแปลงสัญชาติ
ถ้ากรณีที่คนที่เกิดในประเทศไทย และจะขอสัญชาติไทยนั้นจะพิจารณาได้2ทาง1 ถ้ามีคุณพ่อคุณเเม่เป็นคนไทย นั้นได้แน่นอน2 ถ้ามีคุณพ่อแม่เป็นคนเข้าเมืองแบบชั่วคราวหรือเป็นชนกลุ่มน้อยก็ต้องดูตามเงื่อนไข แต่ถ้าถามว่าในกรณีที่ทั้งพ่อและเเม่ไม่ใช่คนไทยและก็ไม่ได้เกิดในเมืองไทย และจะได้สัญชาติไทยได้อย่างไร เขาเรียกกระบวนการนี้ว่าการแปลงสัญชาติ โดยกฎหมายระบุไว้ว่าเมื่อคนต่างด้าวมาอาสัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา5ปีหรือ10ปีแล้วมีหลักฐานมั่นคง มีอาชีพที่แน่นอน ประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ ก็จะสามารถยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติได้

logoline