svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

PRIMETIMEกับเทพชัย : "ไร้สัญชาติ" ปิดโอกาสชีวิต?

18 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความฝันของ ตะชิ หนุ่มวัย 21 ปี ชาวปกาเกอะญอ คนนี้คงไม่แตกต่างจากเพื่อนๆ ในห้องเรียนแห่งนี้ ตะชิ กำลังรอวันที่จะเป็นบันฑิตใหม่เต็มตัว และเริ่มชีวิตการทำงานในอีกสองปีข้างหน้า

ปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมกระบวนการอาหาร ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาควรจะเป็นหลักประกันที่ดีว่าว่าตะชิจะมีงานทำอย่างแน่นอน แต่สิ่งเดียวที่กำลังขวางกั้นตะชิกับความฝัน คือความจริงที่ว่าเขาเป็นคนไร้สัญชาติความจริงที่เจ็บปวดสำหรับตะชิก็คือ หน่วยงานส่วนใหญ่มักเลือกรับเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย แม้แต่ งานด้านกสิกรรม และการเลี้ยงสัตว์ ก็ยังเป็นอาชีพที่สงวนให้กับคนไทย ยิ่งหน่วยงานราชการด้วยแล้ว มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะสอบแข่งขันบรรจุเป็นข้าราชการได้ ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น
นี่คือฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนตะชิมาโดยตลอด เขารู้ดีว่าถึงแม้จะเรียนด้วยความตั้งในแค่ไหน ในวันที่เขาก้าวออกจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าจะมีใครรับเข้าทำงาน
พ่อของตะชิเป็นชาวไทยใหญ่ แม่เป็นชาวปกาเกอะญอ ซึ่งอพยพหนีภัยสงครามจากรัฐกะเหรี่ยงฝั่งประเทศเมียนมา เข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านแม่พระ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2534 และ 5 ปีหลังจากนั้น ตะชิก็ลืมตาดูโลก แต่เพราะหมู่บ้านอยู่ห่างไกล และการเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมงในการเดินทางถึงตัวอำเภอ จึงต้องอาศัยหมอตำแยทำคลอดให้
ในฐานะผู้หนีภัยสังคราม ทั้งพ่อและแม่ของตะชิเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งหมายความว่าลูกที่เกิดมาก็ไม่มีสิทธิได้สัญชาติไทย และไม่มีการแจ้งเกิดกับทางการให้กับตะชิด้วยซ้ำ ตะชิจึงไม่มีทั้งสัญชาติไทยและหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์
ความยากลำบากของชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข ทำให้ตะชิมีความฝันในวัยเด็กที่สวมชุดกาวทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย เขามุ่งหวังที่จะเรียนด้านการแพทย์ หรือเทคนิคการแพทย์ แต่มันก็เป็นไปได้เพียงแค่ความฝัน เพราะในโลกความเป็นจริงสาขาวิชาเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้ผู้ไร้สัญชาติ แต่ชะตาชีวิตก็ไม่ได้โหดร้ายกับตะชิเกินไป เมื่อมีความพยายามจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนที่ต้องการผลักดันให้เด็กไร้สัญชาติในไทยมีโอกาสเรียนหนังสือ ตะชิ โชคดีที่ได้เป็นหนึ่งใน 8 หมื่นคนที่ได้รับโอกาสนั้น
ตะชิ ยังจำเรื่องราวที่ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่มีโอกาสได้รับทุนการศึกษาจากผลการเรียนและความประพฤติที่ดี แต่ก็ต้องเสียสิทธินั้นเพราะข้อกำหนดของทุนการศึกษาจำกัดให้เฉพาะสำหรับผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น เมื่อแน่ชัดว่าไม่สามารถเดินตามความฝันได้ หลังจบมัธยมศึกษาปีที่สาม ตะชิ จึงตั้งเข็มทิศชีวิตใหม่ โดยเบนเข็มไปยังสายวิชาด้านการเกษตร เลือกเรียนระดับ ปวช. ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน แล้วมาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมกระบวนการอาหาร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่
ถึงแม้จะเข้าใจถึงข้อจำกัดที่รออยู่ข้างหน้า แต่ตะชิยังพยายามมีความฝัน หลังจบการศึกษาตะชิมีความหวังที่จะนักวิจัยด้านเทคโนโลยีอาหาร และตั้งใจจะเรียนต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก การมีโอกาสไปเรียนในต่างประเทศเป็นอีกหนึ่งความฝัน แต่สิ่งที่เตือนใจตะชิให้ยอมรับความเป็นจริงก็คือตราบใดที่สถานะทางทะเบียนราษฎร์ของเขายังเป็นบุคคลไร้สัญชาติอย่างเช่นทุกวันนี้ ความฝันก็คงจะเป็นความฝันต่อไป และทางออกเดียวที่ตะชิ พอมองเห็นในเวลานี้คือการนำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาหมู่บ้านของเขา ชะตาชีวิตที่ราวมีใครกลั่นแกล้งไม่ได้เกิดขึ้นกับ ตะชิ เพียงรายเดียว แต่เด็กสาววัย 20 ปี คนนี้ ก็ตกอยู่ในชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน
ยุพินเกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวไทยใหญ่ ซึ่งหนีความตายจากไฟสงครามในฝั่งประเทศเมียนมา ข้ามแม่น้ำสาละวิน เข้ามาตั้งรกรากที่บ้านแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน และจนถึงทุกวันนี้เธอก็ยังเป็นคนไร้สัญชาติ บ้านแม่สามแลบตั้งอยู่กลางหุบเขาที่ไกลปืนเที่ยง ยากจะเข้าถึง คนที่นี่ในวัยเดียวกับยุพิน จึงต้องพึ่งพิงหมอตำแยทำคลอดให้ แล้วค่อยแจ้งการเกิดกับเจ้าหน้าที่อนามัย เพื่อออกหลักฐานการเกิดในภายหลัง
แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อปี 2540 หลังยุพินลืมตาดูโลกไม่ทันครบขวบปี บ้านริมแม่น้ำซึ่งครอบครัวเธอเคยอาศัยอยู่เดิม เกิดไฟไหม้ ทำให้เอกสารสำคัญที่ทางการออกให้ มลายหายไปกับกองเพลิง ทางการจัดสรรพื้นที่ให้ครอบครัวยุพินและเพื่อนบ้านใช้สำหรับปลูกบ้านทดแทนหลังที่ถูกไฟไหม้ แต่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบ้านหลังเดิม ขึ้นไปบนเขาซึ่งห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร และกำหนดให้แต่ละหลังมีเนื้อที่ได้ไม่เกิน 50 ตารางเมตร
เนื้อที่เพียงแค่นี้พอที่จะสร้างบ้านพักอาศัย แต่ไม่พอสำหรับกิจกรรมอื่นใดแม้แต่แปลงเกษตร มารดายุพินจึงต้องอาศัยใต้ถุนบ้านปลูกขมิ้น ไว้ทำผงขมิ้นขายในราคาขวดละ 150 บาท ซึ่งขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ต้องทำเพราะนั่นคือค่าอาหารสำหรับเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในบ้านรวม 6 ชีวิต ส่วนพ่อของยุพิน รับจ้างตีทอง ตามแต่จะมีใครจ้าง แลกกับค่าแรงชิ้นละ 3-4 ร้อยบาท แต่เพราะหมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนชายขอบของประเทศ ชาวบ้านเกินครึ่งจึงไม่มีสัญชาติ ไม่มีสิทธิแม้แต่ครอบครองที่ดินเพื่อทำการเกษตร ทำได้เพียงการหารายได้เล็กๆน้อยๆ อย่างเย็บใบตองตึงขาย
เช่นเดียวกันกับน้องชายวัย 15 ปี ยุพินในวัยเด็กต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนบ้านห้วยโผ ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาสอนชั้น ป.1 ถึง ม.3 ซึ่งห่างจากหมู่บ้านแม่สามแลบออกไปราว 30 กิโลเมตร และด้วยระยะทางที่ไกลทำให้สองพี่น้องมีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านได้ไม่บ่อยนัก แน่นอนมันไม่ได้เพราะระยะทาง และความไม่สะดวกของถนนหนทางเท่านั้น แต่เพราะความอัตคัตขัดสนทางการเงินของครอบครัว ทำให้เธอต้องตกอยู่ในภาวะนักเรียนกินนอนของโรงเรียนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุดนอกจากการเรียนแล้วเวลาส่วนใหญ่ของยุพินหมดไปกับร้านค้าแห่งนี้ เพราะเจ้าของร้านซึ่งเป็นครูของเธอให้โอกาสทำงานเป็นรายได้เสริม ร้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในตัวอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตพื้นที่ที่ผู้ไร้สัญชาติอย่างเธอสามารถทำงานได้ /ยุพิน จึงทำงานที่นี้มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นม.1 แม้ตอนนี้จะเรียนจบชั้น ม.6 แล้วก็ยังทำอยู่
ค่าแรงวันละ 240 บาทแม้ไม่มากนัก แต่นี่คือรายได้หลักของครอบครัวเธอในเวลานี้ นอกจากการส่งน้องเรียนและค่าใช้จ่ายภายในบ้านแล้ว ยุพิน ไม่ลืมเจียดไว้สำหรับการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ยุพิน คาดหวังว่า สักวันหนึ่งจะเรียนต่อด้านนิติศาสตร์ และหากได้รับสัญชาติไทย จะสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นตำรวจให้ได้
ไม่ใช่เพราะความโก้เก๊ในเครื่องแบบ หรือถือกฎหมายสามารถจับกุมใครก็ได้ที่ทำผิด แต่เพราะเธอต้องการเป็นสื่อกลางที่คอยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคลพื้นที่สูงกับตำรวจ เธอเข้าใจดีว่าการเป็นตำรวจอาจเป็นฝันที่เกินจริง และอาจยากจะเอื้อมถึง แต่อย่างน้อยหากเธอได้สัญชาติไทย เธอจะมีสิทธิ์ซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านอยู่อาศัยได้ในฐานะคนไทย เหมือนกับคนอื่น
สิ่งที่ยุพินไม่เข้าใจ และหาคำตอบไม่ได้มาตลอด 20 ปีคือ ในเมื่อเธอเกิดบนผืนแผ่นดินไทย ไม่เคยเดินทางออกจากพื้นที่ไปไหน และไม่เคยคิดจะไปใช้ชีวิตในประเทศอื่น และบอกตัวเองทุกวันว่าตัวเองเป็นคนไทย แต่ทำไมจึงไม่สามารถมีสัญชาติไทยได้

logoline