svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

PRIMETIMEกับเทพชัย : พระบารมีกับ"ชีวิตใหม่" ของชาวราไวย์

14 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันที่ 10 มีนาคม 2502 เป็นวันที่ลุงหงิม ดำรงเกษตรไม่วันลืมตลอดชั่วชีวิตนี้ มันเป็นวันที่ชาวหาดราไวย์ ชุมชนชาวประมงเล็กๆ บนเกาะภูเก็ตแห่งนี้ ได้รับชีวิตใหม่ จนถึงวันนั้น ไม่ใครในโลกภายนอกรับรู้ว่าชุมชนแห่งนี้มีตัวตนด้วยซ้ำ....พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จประพาสหมู่บ้านชาวเลแห่งนี้ ท่ามกลางความตื่นเต้นและความปลื้มปิติของคนในชุมชน


ลุงหงิมมีอายุเพียง 12 ขวบ ในวันประวัติศาสตร์ของชาวหาดราไวย์วันนั้น แต่ลุงหงิมในวัย71 ปีวันนี้ยังจำทุกอย่างได้เป็นอย่างดี
ลุงหงิมยังระลึกถึงภาพของพระมหากัตริย์ที่ไม่ถือพระองค์ ทรงเสด็จลงจากรถพระที่นั่งและทรงทักทายชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ณ เวลานั้นมีชาวบ้านเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สื่อสารเป็นภาษาไทยได้ ต้องอาศัยล่ามแปล "ชาวน้ำ" คือคำที่เจ้าหน้าที่ทูลแนะนำชาวชุมชนหาดราไวย์ต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแต่ลุงหงิมจำได้อย่างไม่วันลืมเลยว่าพระองค์ท่านตรัสทันทีว่า อย่าใช้คำว่า "ชาวน้ำเลย" ให้เรียกว่าเป็น "ชาวไทยใหม่" จะดีกว่า นั่นเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่เป็นเสมือนหนึ่งการให้ชีวิตใหม่แก่ชาวเลราไวย์ที่ก่อนหน้าวันนั้นมีฐานะเป็นเพียงคนเร่ร่อน ไม่มีสัญชาติ แต่นับตั้งแต่วินาทีนั้นของวันที่ 10 มีนาคม 2502 ชาวหาดราไวย์ได้กลายเป็นพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างเต็มภาคภูมิแล้ว และหลังจากนั้นความช่วยเหลือจากภาครัฐก็หลั่งไหลเข้าไปพร้อมกับสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทั่วไปสำหรับชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ หลังจากนั้นพระองค์ท่านยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังชายหาดเพื่อทอดพระเนตรพื้นที่รอบๆ และเกาะแก่งต่างๆ ก่อนเสด็จฯกลับ แน่นอนว่าไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในวันนั้นเมื่อ 58 ปีที่แล้ว จะกลับมาช่วยชุบชีวิตใหม่ให้กับชาวหาดราไวย์อีกครั้ง ภาพการเสด็จประพาสหาดราไวย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ให้ชุมชนแห่งนี้ชนะคดีที่ถูกกล่าวหาว่าบุรุกที่เอกชน
ศาลจังหวัดภูเก็ต มีคำพิพากษาเมื่อ วันที่ 31 มกราคม 2560 พิพากษายกฟ้องชาวเลราไวย์ ด้วยหลักฐานภาพเสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มายังชุมชนชาวเลหาดราไวย์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502 ภาพนี้เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าชาวเลราไวย์เหล่านี้ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อนการออกโฉนดให้กับเอกชนในปี 2504 เป็นเวลาหลายปีที่ชาวราไวย์ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเพื่อรักษาวิถีชีวิตและแผ่นดินของตัวเอง จากผู้บุกเบิก ชาวบ้านกว่า 2,000 ชีวิตเหล่านี้ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก ชาวเลราไวย์มีชีวิตที่เรียบง่าย และไม่เคยคิดแม้กระทั่งจะมีเอกสารสิทธิ์เพื่อครอบครองที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากฎหมายบ้านเมืองเปิดโอกาสให้พวกเขามีสิทธิในที่ดินผืนนี้ จนกระทั่งถูกฟ้องขับไล่ในข้อหาบุกรุก
นอกจากภาพประวัติศาสตร์ของการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว ชาวบ้านยังใช้ข้อกฎหมาย และข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ โบราณคดี และนิติศาสตร์ ในการหักล้างข้อกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นผู้บุกรุก โดยได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ
หลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือภาพถ่ายทางอากาศซึ่งทำให้เห็นว่าชาวเลราไวย์ได้ปลูกบ้าน ในสวนมะพร้าวที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี ถึง 45 ปี ขณะที่ฝ่ายโจทก์อ้างว่าต้นมะพร้าวที่ปลูกมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น นอกจากนั้นดีเอสไอร่วมกับสำนักโบราณคดี ของกรมศิลปากร และเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ ยังได้ขุดพบโครงกระดูกในพื้นที่ การตรวจ DNA ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเจ้าของโครงกระดูกจนสามารถทำผังตระกูลได้ถึง 10 ชั่วอายุคน เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าชาวเลเหล่านี้ได้ตั้งรกรากอยู่ในพื้นนี้มากว่า 300 ปี
ศาลพิพากษา ว่า โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิในโฉนดที่ดินที่มีกระบวนการออกโฉนดโดยมิชอบ มาเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องร้องขับไล่จำเลย เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาท ในฐานะทรัพย์มรดกได้ จึงพิพากษายกฟ้อง ถึงแม้จะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ก็ถือว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นของชาวเลราไวย์ และเป็นชัยชนะที่มีประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502 เมื่อชาวเลราไวย์ได้รับชีวิตใหม่จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช และชัยชนะในการต่อสู้ครั้งนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งสำหรับชุมชนแห่งนี้

logoline