svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"PRIMETIME กับ เทพชัย" "นิรโทษกรรม"คำตอบปรองดอง?

08 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

8 ปีของความพยายามในศึกษาหาแนวทาง เพื่อสร้างความปรองดองและสลายความขัดแย้ง แต่กลับได้เพียงรายงาน 7 ฉบับ ที่ไม่เคยถูกนำมาสู่การปฏิบัติ โค้งสุดท้ายของ รัฐบาล คสช.กำลังเร่งหากลไกและวิธีการ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืน แต่ดูเหมือนนิยามเรื่องความปรองดอง ระหว่างรัฐบาลทหารและคู่ขัดแย้ง จะเห็นต่างกัน

ทั้งที่ข้อมูลเบื้องหลังของรายงานข้อเสนอปรองดองหลายฉบับ ยืนยันตรงกันคือ เงื่อนไขเดียว ที่ฝ่ายการเมืองต้องการคือ "การนิรโทษกรรม" ที่จะเป็นคำตอบของการปรองดอง
เกือบ 10 ปีที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขัดแย้ง และถึงแม้ทุกวันนี้ทุกอย่างจะดูสงบ แต่ความขัดแย้งและความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองดูเหมือนยังไม่ได้หายไปไหน ความพยายามสร้างความปรองดองของ คสช. ที่ประกาศเป็นวาระสำคัญหลังเข้ายึดอำนาจในปี 2557 ก็ดูเหมือนจะถูกลืมเลือน แต่ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน อยู่ดีๆ นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็จุดพลุของการปรองดองขึ้นมาอีกครั้ง เป็นความพยายามที่เคลื่อนอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดคำถามมากมายว่าเป้าหมายที่แท้จริงของมันคืออะไรกันแน่ และในเวลาชั่วข้ามคืน ชื่อของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสามัคคี หรือ ป.ย.ป.ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของความพยายามของ คสช. ที่จะสร้างความปรองดอง
พล.อ. ประยุทธ์ส่งสัญญาณของความจริงจังกับเรื่องนี้ด้วยการตั้งตัวเองเป็นประธาน ป.ย.ป. และนั่งหัวโต๊ะเปิดงาน "เวิร์กชอป"ครั้งแรกพร้อมทีมแม่น้ำ 5 สายของ คสช.เพราะฉะนั้นจากนี้ไปทุกย่างก้าวของพลเอกประยุทธ์จะถูกจับตาเพื่อหาคำตอบว่าแนวทางการปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้จะจริงใจ จริงจัง และเข้าใกล้ความสำเร็จมากกว่าความพยายามที่ผ่านมาแค่ไหน และแน่นอนว่า คำถามที่ใหญ่ที่สุดคือ ทุกอย่างจะปูทางไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับคู่ยัดแย้งหรือไม่
การประชุม ป.ย.ป.ชุดใหญ่ ครั้งแรกเป็นการทำความเข้าใจ ในการประสานงานร่วมกัน และขับเคลื่อน ผลักดันงานที่เกี่ยวข้อง  พร้อมๆ กับการประกาศยกเลิกการประชุมร่วมของวิป 3 ฝ่าย คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และรัฐบาล ที่เคยเป็นกลไกร่วมในการวางแนวทางการทำงาน การประชุมครั้งแรกได้กำหนดแนวทางและภารกิจและลำดับความสำคัญของวาระที่ต้องดำเนินการ แต่ที่สำคัญคือการพิจารณากลไกทางกฎหมายที่เชื่อกันว่าจะปูทางไปสู่การสร้างความยุติธรรมและเยียวยาให้กับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองระหว่าง ปี 2548 - 2557    ถึงแม้จะยังไม่มีใครออกมาพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจน   แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นิรโทษกรรมเป็นความคาดหวังของคนไม่น้อยที่เชื่อว่าจะเป็นคำตอบสำคัญของการปรองดองระหว่างคู่ขัดแย้ง
หากย้อนไปดู นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ เคยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ในเดือนถัดมา มิถุนายน 2557 มอบหมายให้ พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์  ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าศูนย์ พร้อมทั้งจัดตั้ง ศปป.ระดับภาคและระดับจังหวัด ให้ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับประชาชน และจัดกิจกรรม สมานฉันท์ ระหว่างประชาชนกับทหาร
ขณะเดียวกัน ก็เชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยหลายครั้ง แต่ทุกข้อเสนอ ทั้งทางการและทางลับ กลับไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน และไม่มีความคืบหน้าออกมาให้เห็นในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา และในที่สุดชื่อของ ศปป.ก็เลือนหายไป แทบไม่มีใครจดจำ ต่อมาในช่วงเดือนธันวาคม 2557 "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ในชุดของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอแนวทางสร้างความปรองดองต่อรัฐบาล 3 ประเด็น คือ ตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ // นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวชุมนุมระหว่างปี 2548-2557 และให้ฝ่ายที่ขัดแย้งกันได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกันในการบริหารบ้านเมืองให้มากยิ่งขึ้น แต่หัวหน้า คสช.ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเสนอนี้ กระทั่งถูกฝ่ายการเมืองวิจารณ์ว่าไม่จริงใจในการสร้างความปรองดอง ที่ตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมา ก็เพื่อยืดเวลาโรดแม็พออกไป
กระแสปรองดองจางหายมาเป็นปี กว่าจะมาถึงการปรองดองในช่วงสุดท้ายของรัฐบาล ครั้งนี้พลเอกประยุทธ สั่งรวบรวมคนและรายงานการศึกษา ข้อสรุป แนวทางปรองดองทุกชิ้นที่เคยมีมานับจากเกิดความขัดแย้ง โดยให้คณะกรรมาธิการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวบรวมความเห็น วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง มี สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน พร้อมทั้งทีม สปท. ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มที่ขัดแย้งทางการเมือง ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย กปปส. และ นปช. ภารกิจสำคัญ คือ รวบรวมความเห็นที่หลากหลาย ต่อแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง และแนวทางสร้างความปรองดอง เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม สปท.ให้อนุมัติ แล้วส่งต่อไปยังรัฐบาล
 จุดตั้งต้นการทำงาน เริ่มด้วยการส่งจดหมายสอบถามความเห็น จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กลุ่มขบวนการนำประชาชนให้ออกมาชุมนุม คือ นปช. กับ กปปส. เพื่อขอข้อเสนอแนะและแนวทางความปรองดอง ซึ่งขณะนี้ทั้งสองพรรคการเมืองได้ตอบกลับมาแล้ว
ต่อจากนั้น คือ การศึกษารายงานปรองดองฉบับที่ค้นคว้าและเผยแพร่มาแล้ว ตั้งแต่ปี 2552 2559 รวม 7 ฉบับ  เหตุผลสำคัญที่ ทีม "สังศิต"ต้อง สังเคราะห์ประเด็นจากรายงาน 7 ฉบับ ก็เพื่อให้เข้าใจถึงสาระ วิวัฒนาการของแนวทางแก้ปัญหา ก่อนจะได้ข้อสรุปเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความปรองดอง หากพิจารณารายงานศึกษาความขัดแย้งทางการเมือง และข้อเสนอของคณะทำงานแต่ละชุด จะพบว่ามีวิวัฒนาการต่อแนวทางแก้ปัญหามาเป็นลำดับ  
เริ่มด้วย รายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2552 ฉบับ ดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี มุ่งศึกษาการแก้ปัญหาการเมืองและเคลื่อนไปสู่การเลือกตั้ง ตามคำประกาศของ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2554 ดังนั้นข้อเสนอ จึงเน้นไปในด้านการต่อรองทางการเมือง ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งผลตอบรับในขณะนั้น รัฐบาลและรัฐสภาร่วมกับขับเคลื่อนตามข้อเสนอผ่านการตั้งคณะทำงานหลายชุด โดยมีผู้ใหญ่ทางการเมือง เช่น นพ.ประเวศ วะสี อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน  ร่วมเป็นแม่ทัพทำงาน แต่การสร้างความปรองดองช่วงดังกล่าว ก็ยังมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น 
ต่อมาในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน รัฐบาล ได้เดินเกมอีกด้าน คือการค้นหาความจริง และตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน เพื่อศึกษาข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ผลการศึกษาของ คอป.ในห้วง 1 ปี ตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 25532554 มีข้อเสนอที่หลากหลาย ที่สำคัญมองไปถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และเสนอหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมถึงรัฐต้องชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่าย ผลที่ถูกนำไปปฏิบัติ คือ การจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง และ ผู้ที่ต้องคดี ไม่ร้ายแรงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
 นอกจากนั้นในช่วงปีเดียวกัน กรรมาธิการศึกษาแนวทางปรองดองชุด "บิ๊กบัง"พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ได้ศึกษาภาพรวมความขัดแย้ง นับตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 2549 และเรื่อยมาถึงปี 2553 โดยทำงาน 2 ขา คือ "สถาบันพระปกเกล้า" ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง โดยนำประสบการณ์ของต่างประเทศมาศึกษา และสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนในความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ตามผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า มีผลการศึกษาที่ต่อยอดมาจาก รายงานของ คอป.ในประเด็น"การนิรโทษกรรม" และแปลงเป็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่มีเนื้อหาเปิดทางให้นิรโทษกรรมให้บุคคล เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ช่วง 15 กันยายน 2549 10 พฤษภาคม 2554 และยกเลิกคดีที่เกี่ยวเนื่องกันในห้วงเวลาดังกล่าว และร่างกฎหมายปรองดองนั้นเอง ถูกพรรคเพื่อไทยใช้จังหวะเสนอร่างกฎหมายชื่อเดียวกันประกบอีก 3 ฉบับ ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็น "กฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย"ที่ถูกฝ่ายที่ไม่เอา "ทักษิณ ชินวัตร" ต่อต้าน จนต้องล้มกระบวนการปรองดองในที่สุด
ขณะที่รายงานข้อเสนอต่อแนวทางการสร้างความปรองดอง ของ"เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ช่วงสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) ถูกชูให้เป็นการปฏิรูปวาระพิเศษ เรื่องที่ 15 วางเป้าหมาย คือ ถอดบทเรียนความขัดแย้ง สร้างความรับรู้และเข้าใจถึงสาเหต สร้างสำนึกรับผิดชอบ หาข้อตกลงการอยู่ร่วมกัน และหาทางป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัว ส่วนรายงานการศึกษาประเด็นการสร้างความปรองดอง ชุดของ "ภุมรัตน์"นั้น เสนอแผนตามกระบวนการสร้างความปรองดอง สามระยะ และหนึ่งในนั้นคือการ นิรโทษกรรม หรือ อภัยโทษตามกระบวนการกฎหมาย ยกเว้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีอาญาร้ายแรง และสุดท้าย รายงานผลดำเนินการสร้างความปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป พ.ศ.2559 โดย ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)ซึ่งมีข้อเสนอต่อการแก้ไขความขัดแย้งในอนาคต คือให้แกนนำหรือคู่ขัดแย้ง ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ไม่กลับไปสร้างความขัดแย้งรอบใหม่อีก
สำหรับการสังเคราะห์ประเด็นของอนุกรรมาธิการ ชุด "สังศิต"ยังหยิบยกข้อมูลที่เกี่ยวกับการออกกฎหมายเพื่อล้างมลทิน และ พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในยุคต่างๆ มาพิจารณา รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาพิจารณาอีกด้วย ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากผลการศึกษา แนวทางข้อเสนอเพื่อความปรองดองและสลายความขัดแย้ง ตั้งแต่ปี 2552 แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่ยังขาดและไม่ได้ทำ คือ การใช้กลไกและเงื่อนไขทางกฎหมายสร้างความสมานฉันท์เพราะจากข้อมูลเบื้องหลังของรายงานข้อเสนอปรองดองฉบับของ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ยืนยันตรงกันคือ สิ่งที่เป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายการเมือง และผู้นำทางการเมืองต้องการอย่างเดียวคือ "การนิรโทษกรรม" แต่โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องการในตอนนี้ตามที่ พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ เลขาฯ อนุกรรมาธิการ เฉลยหลังจากพูดคุยกับ เลขาฯ ป.ย.ป.สุวิทย์ เมษินทรีย์  มีข้อสรุปว่า สิ่งที่จะต้องสังเคราะห์ออกมาให้ได้ คือ กลไกและวิธีการที่นำไปสู่ความปรองดอง สมานฉันท์ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ แต่สิ่งที่รัฐบาล คสช.อาจเลี่ยงไม่พ้น คือ ข้อเสนอเชิงรูปธรรม เรื่อง "การนิรโทษกรรม"ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย คสช.ในการขับเคลื่อนประเทศไทย ออกจากวังวนความขัดแย้ง ที่ฝ่ายการเมืองคาดหวังคำตอบจากการปรองดองครั้งนี้

logoline