svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"PRIMETIME กับ เทพชัย" : "มหาสารคามโมเดล"กวาดล้าง! ทุจริตท้องถิ่น

13 ตุลาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"มหาสารคามโมเดล" กำลังเป็น "ต้นแบบ" ในการสะสางปัญหาทุจริตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขยายผลไปทั่วประเทศ แต่อีก "เป้าหมาย" ที่น่าสังเกต คือ เป็นการ "กวาดล้าง" กลุ่มหัวคะแนนสำคัญในขั้วอำนาจการเมืองเดิมหรือไม่ สิ่งที่เรียกกันว่า "มหาสารคมโมเดล" เป็นรูปแบบการจัดการกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพฤติกรรมทุจริตที่ช็อคคนไม่น้อย

"PRIMETIME กับ เทพชัย" : "มหาสารคามโมเดล"กวาดล้าง! ทุจริตท้องถิ่น


นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ในจังหวัดมหาสารคามเกือบทั้งจังหวัด ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ตามคำสั่งของ หัวหน้า คสช. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่ถือว่าเป็นการโยกย้ายข้าราชการท้องถิ่นล็อตใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งนับแต่ตั้ง คสช. เข้ามาบริหารประเทศเมื่อกว่าสองปีที่แล้ว และเป็นการตอกย้ำถึงความจริงจังของ คสช. ในการจัดการกับผู้ที่พัวพันกับการทุจริต

เสียงร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่นำมาสู่การตรวจสอบซึ่งพบว่าผู้บริหารของ อบต. เหล่านี้ร่วมกันทุจริตด้วยการเรียกรับผลประโยชน์ จากผู้สมัครการสอบเข้าเป็นพนักงานส่วนตำบล 31 แห่ง จำนวน 207 อัตรา ระหว่างปี 2556-2557 พฤติกรรมการทุจริตมีทั้งการปลอมคะแนนสอบและลายเซ็นของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบ เมื่อหลักฐานชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์ จึงใช้คำสั่งตาม ม.44 "ลงดาบ" ผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดนี้ ถึง "สองรอบ" ด้วยกัน นายก อบต.32 ราย ตกเป็นเป้าของการถูกลงโทษเมื่อต้นปี และตามมาด้วยข้าราชการส่วนอื่นๆ อีก 68 ราย โดยทั้งหมดต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา

ประเมินวงเงินที่มีการเรียกค่าตอบแทน เฉลี่ยรายละ 5 แสนบาท จากผู้สอบผ่านเกณฑ์กว่า 600 คน รวมแล้วราวๆ 300 ล้านบาท และนี่เป็นที่มาของ "มหาสารคามโมเดล" ที่เป็นรูปแบบของการการจัดการกับปัญหาการทุจริตและผู้อิทธิพลในพื้นที่นี้ และจะขยายผลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดย พล.อ. ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยและ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เข้ามาเป็นเจ้าภาพ ร่วมดำเนินการ

ข้อมูลร้องเรียนเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ ที่ส่งมาให้ คสช. ส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับข้าราชการและผู้บริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางการเมืองของขั้วอำนาจเดิม การตรวจสอบข้อกล่าวหาเหล่านี้เริ่มจากจังหวัดมหาสารคาม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับมอบหมายให้ตั่งคณะกรรมการสอบสวน และทันทีที่พบข้อมูลที่เชื่อถือได้ ก็มีคำสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้ข้อสรุปตามกระบวนการของกฏหมาย

เป็นที่รู้กันดีว่า จังหวัดมหาสารคาม ถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง ฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มี ส.ส.5 เขต ซึ่ง 4 เขตเป็นของเพื่อไทย อีก 1 เป็นของภูมิใจไทย

ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมาเป็นคำตอบชัดเจนว่าประชาชนในจังหวัดหนี้มีทัศนคติต่อผู้มีอำนาจในปัจจุบันนี้อย่างไร

ผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 52% ใน 13 อำเภอของจังหวัดนี้ ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและดูเหมือนว่าความศรัทธาที่มีต่อตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ยังเด่นชัด (ภาพทักษิณในบ้าน)

แน่นอนว่าเหตุผลที่เป็นทางการของ คสช. ในการจัดการผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเหล่านี้คือข้อกล่าวหาการทุจริต แต่อีกด้านหนึ่งคือเหตุผลทางการเมือง

ไพรม์ไทม์ได้รับการเปิดเผยว่า คสช.ได้รับข้อมูลที่ระบุว่าผู้นำท้องถิ่นเหล่านี้เกี่ยวโยงกับอำนาจการเมืองเดิมอย่างแนบแน่น และหลายคนมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพล เพราะฉะนั้นการเข้ามาจัดการกับปัญหาการทุจริตและผลประโยชน์ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้จึงเท่ากับเป็นการจัดการกับฐานการเมืองของพรรคการเมืองที่อยู่คนละขั้วกับอำนาจปัจจุบันในเวลาเดียวกัน

ข้อมูลของ คสช. ชี้ว่า ที่ผ่านมาผู้บริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งควรเป็นกลางด้านการเมืองกลับทำหน้าตัวเป็นหัวคะแนนให้พรรคการเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ จนเกิดการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่

"มหาสารคามโมเดล" เป็นการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ
เลขาธิการ ป.ป.ช. สรรเสริญ พลเจียก เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. กำลังขยายผลการไต่สวนไปอีกหลายจังหวัด เนื่องจากพบหลายพื้นที่มีพฤติการณ์คล้ายคลึงกัน

ไพร์มไทม์ ยังได้ข้อมูลจาก ป.ป.ช.และ สตง.ว่า การตรวจสอบยังพบว่า อบต.หลายจังหวัด ในภาคอีสานและภาคกลาง มีพฤติกรรมทุจริต ไม่ต่างกับในมหาสารคาม และผู้บริหารท้องถิ่นกำลังถูกตรวจสอบ

ล่าสุด สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดบุรีรัมย์ เตรียมส่งเรื่องให้ กระทรวงมหาดไทย ต้นสังกัด รวมทั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช.ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ให้ดำเนินการต่อพฤติกรรมการใช้งบ ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)บุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2553-2555 ในช่วงที่นางกรุณา ชิดชอบ ดำรงตำแหน่ง หลังจากพบหลักฐานว่า มีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุน 4 ครั้ง รวม 60 ล้านบาท ให้สมาคมกีฬา จ.บุรีรัมย์ นำไปใช้ในโครงการส่งเสริมและพัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการพาแฟนคลับไปชมและเชียร์ฟุตบอลทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เดินสายแข่งตามจังหวัดต่างๆ

สตง.บุรีรัมย์ สรุปว่า เป็นการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการให้เงินสนับสนุนเอกชน ไม่ใช่เพื่อดูแลและจัดทำบริการสาธารณเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ.บุรีรัมย์ ซึ่ง สตง.บุรีรัมย์ เคยทำหนังสือทักท้วงไปถึงนางกรุณา และผู้ว่าฯบุรีรัมย์ แต่ยังมีการเบิกจ่ายต่อเนื่อง

ไพรม์ไทม์ได้รับการเปิดเผยว่า คสช. ให้ความสนใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นกลไกการปกครองที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด
พฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้เพิ่มน้ำหนักให้กับแนวคิดของ คสช. ที่จะหาทางปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการบริหารที่โปร่งและกำกับได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

logoline