svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"PRIMETIME กับ เทพชัย" : "ศศิน" ชี้จุดอ่อน "โมเดลฟื้นป่าน่าน"

28 กรกฎาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โมเดลแก้ปัญหาป่าน่านแบบใหม่ ในระยะเวลา 5 ปี เริ่มเป็นที่สนใจของนักอนุรักษ์ อย่างอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ที่พบว่าโมเดลนี้ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะยังขาดปัจจัยที่สำคัญ

รัฐบาลเตรียมทุ่มงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท ในการผลักดัน โมเดลการแก้ไขปัญหาป่าน่านแบบใหม่ ของกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดน่าน ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563 เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียพื้นที่ป่า รวมทั้งฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน และจะอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินในป่าสงวนภายใต้เงื่อนไขการฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า และส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสาน

"PRIMETIME กับ เทพชัย" : "ศศิน" ชี้จุดอ่อน "โมเดลฟื้นป่าน่าน"



แม้โครงการนี้จะยังไม่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มเป็นที่สนใจของนักอนุรักษ์ป่าไม้ อย่าง เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศศิน เฉลิมลาภ ที่เห็นข้อมูลของโครงการ และมองเห็นจุดอ่อนของโมเดลนี้

ประการแรก คือ ในโครงการยังไม่ระบุว่าผู้จัดการโครงการหรือโปรเจคเมเนอร์ ที่รับผิดโครงการนี้ มองว่าถ้าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือข้าราชการคงไม่ได้ เพราะต้องมีการโยกย้ายตามฤดูกาล จึงคิดว่าน่าเป็นคนที่สนใจงานด้านป่าไม้ โดยเฉพาะป่าน่านที่มีพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ และทำงานได้เต็มเวลาจนจบโครงการในระยะเวลา 5 ปี

ส่วนมาตรการที่จะให้ชาวบ้านในพื้นที่ เช่าสิทธิ์ที่ดินทำกินเป็นเวลา 30 ปี ที่อาจจะติดเรื่องข้อกฎหมาย เพราะหากเป็นพื้นที่อุทยานไม่สามารถให้เช่าได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องออกมติคณะรัฐมนตรี ที่เป็นกฎหมายมารองรับ รวมทั้งต้องมีมาตรการที่น่าสนใจในเรื่องรายได้ หากเขาต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชเกษตร

อาจจะทำธนาคารต้นไม้ พันธบัตรป่าไม้ เพราะต้องสร้างกลไกให้ชาวบ้านที่เขาเช่า เพราะต้องหาเงินให้เขา จากการที่เขาต้องปรับเปลี่ยนจากข้าวโพด หรืออาจจะให้ปลูกสักก็ได้ ซึ่งเวลา 7 ปี ก็คงจะได้ แต่ระหว่างรอเวลา 7 ปี ต้องหากองทุนมาอุ้มเขา ให้เขาเป็นพนักงานของรัฐที่ทั้งเช่า เขาไม่มีเงินเช่าก็ให้เขาอยู่ฟรีแล้วก็มีเงินเดือนให้เขาด้วย

ทุกวันนี้เขาปลูกข้าวโพดได้กำไรไร่ละ 600 บาท โดยเฉลี่ย แล้วถ้าเขาต้องมาทำตามโครงการนี้ เขาจะเอาเงินค่าปลูกข้าวโพดของเขามาเช่าพื้นที่เขาจะยอมหรือไม่จะพอหรือไม่ ที่โครงการก็ต้องไปคิดมา และไม่ใช่ว่าแรงจูงใจมันไม่พอ แต่มันไม่รอดเพราะเกษตรกรไม่มีเงินในกระเป๋า เงินที่เขามีเขาก็ต้องปลูกข้าวโพด พอหน้าฝนปุ๊บเขาต้องหยอดข้าวโพดเพื่อให้อีก4 เดือนเขามีรายได้ แต่เขาต้องใช้ทั้งปี ถ้าคุณไม่ให้เขาปลูกข้าวโพดแล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนในการส่งลูกเรียน ศศิน กล่าว

นักอนุรักษ์ผู้นี้ มองว่า พื้นที่ป่าที่รัฐต้องการให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมหวงแหนนั้นจากข้อมูลที่มี พื้นที่ส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ป่าน่านทั้งหมดที่มีกว่า 7 ล้านไร่ และแม้จะได้คนที่มาเป็นผู้จัดการโครงการที่เหมาะสม และมีมาตรการที่น่าสนใจในการดูแลรายได้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามที่ตัวเองเสนอแล้วก็ตาม แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือกลไกที่ยังไม่เข้มแข็งของหน่วยงานรัฐ อย่าง กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ กรมป่าไม้ ที่มีปัญหาเรื้อรังมานานในประสิทธิภาพในการดูแลพื้นที่ป่า จากข้อมูลของตัวเองพบว่าทั้ง 2 กรมนี้ มีวิธีการทำงานที่ต่างกันและได้รับการสนับสนุนจากรัฐที่ต่างกัน นั่นจึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่างกัน ซึ่งนั่นจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโมเดลแก้ปัญหาป่าน่าน หากกลไกของหน่วยงานรัฐยังมีปัญหาแบบนี้

"แต่ถ้าเดินไปตามแผนนี้ก็ไม่รู้จะไปได้หรือเปล่า ปัญหาใหญ่ที่จะไม่ได้ตามแผน แต่กังวลว่าป่าสงวนและป่าอุทยาน จะลดลงอีก เพราะกลไกแค่นี้มันไม่พอหรอก จะลดลงอีกเพราะกลไกหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบไม่มีประสิทธิภาพพอ" ศศิน กล่าว

เรากำลังจะดูแลฟื้นฟูพื้นที่ 8 % ด้วยการให้ชาวบ้านเช่าที่ดินทำกิน แต่พื้นที่ 1.9 ล้านไร่ภายใต้กรมป่าไม้ คิดเป็น 29% ไม่มีการดูแล ป่าก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว แผนนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่ผมพูดนี้เลย ซึ่งพรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะทำงานกำกับดูแลป่าสงวน ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่มีแผนที่ดูแลป่า 29% ของกรมป่าไม้ แล้วจะสำเร็จหรือไม่ เพราะคุณมัวแต่มุ่งดูสิทธิ์ทำกิน แต่กลไกป้องกันและรักษาป่ายังเหลืออีกเยอะยังไม่มี แล้วจะลดการรุกป่าได้อย่างไรในเมื่อกลไกเดิมไม่แข็งแรง

ศศิน บอกกับ Primetime ว่า ไม่รู้สึกตื่นเต้นกับโครงการลักษณะนี้ แต่ตัวเองก็ไม่ได้คิดจะคัดค้าน เพียงแต่ว่าถ้าเดินไปตามแผนที่เขียนและนำข้อเสนอของตัวเองใส่เข้าไป คิดว่าป่าน่านกลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้ง

logoline