svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

แบน "อาบัติ" สร้างสรรค์หรือทำลาย

13 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ในหน้าประวัติศาสตร์วงการหนังไทย ที่มีมติการพิจารณาให้ระงับการฉาย หรือสั่งแบน นับตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์ สำหรับภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" ด้วยการนำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ของสามเณรและหญิงสาว การเสพของมึนเมา พฤติกรรมความก้าวราวของสามเณร และการเสนอความไม่เคารพต่อพระพุทธรูปในภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทางคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์มีมติ 4 / 2 ในการสั่งระงับการเผยแพร่ภาพยนตร์สู่สาธารณะชน โดยทางผู้สร้างอย่าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว เลือกที่จะนำภาพยนตร์กลับมาแก้ไข เพื่อยื่นพิจารณาใหม่ ตาม พรบ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ที่อนุญาติให้ผู้ยื่นที่มีความเห็นไม่ตรงกับการพิจารณา สามารถยื่นอุทรณ์ได้ภายในระยะเวลา 15 วัน โดย ทางทีมผู้สร้างต้องการจะดำเนินการแก้ไขให้เนื้อหามีความเหมาะสมมากขึ้น แต่ยังคงรักษาอรรถรสและเนื้อหาของภาพยนตร์ให้อยู่คงเดิม

ขณะที่ ขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ ประธานกรรมการพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้อ้างว่า ภาพยนตร์เรื่อง อาบัติ ไม่สามารถปรับแก้ได้ เพราะหากมีการตัดฉากที่เป็นปัญหาออก ก็อาจจะทำให้ผู้ชม ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของภาพยนตร์ได้ โดยให้ความคิดเห็นว่าการนำเสนอเรื่องราวของศาสนา ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อนของสังคม ควรเป็นไปในทางที่จรรโลงมากกว่าทำลาย เพราะเชื่อว่าภาพยนตร์คือสื่อที่จะสามารถชี้นำพฤติกรรมของเยาวชนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าทางผู้สร้างจะยื่นพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้ ในเกณฑ์ 18+ โดยมีกลุ่มผู้ชมที่อยู่ในระดับมีวุฒิภาวะ และมีความคิดใต่ตรองในการรับสาร แต่ทางคณะกรรมการพิจารณาเรตภาพยนตร์ กลับมีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ยากที่จะควบคุมกลุ่มผู้ชมให้เป็นกลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะการกรองผู้ชมหน้าโรงภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือหากทำได้จริง ท้ายที่สุดภาพยนตร์ก็จะออกมาในรูปแบบของสื่อวีดีทัศน์ และอินเทอร์เน็ต  ซึ่งยากที่จะควบคุมกลุ่มผู้ชม รวมถึงยืนยันว่าการระงับการออกฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกรับสาร และสิทธิของผู้สร้างภาพยนตร์ในการนำเสนออีกด้วย.จากความตั้งใจของ "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง"อาบัติ" ที่ต้องการจะนำเสนอเรื่องราวของพระพุทธศาสนาว่า การบวชไม่ใช่หนทางของผู้ที่ไม่ศรัทธา การห่มผ้าเหลืองโดยที่ไม่ละทิ้งความรัก โลภ โกรธ หลงในจิตใจ ไม่มีทางช่วยให้พ้นทุกข์ได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงเป็นการสะท้อนสังคมที่ในปัจจุบันมักมีข่าวเสียหายของวงการผ้าเหลืองออกมา แต่ข่าวไม่สามารถเป็นบทเรียนให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องแต่งจะสื่อสารให้เห็นผลของการกระทำผิดต่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง การถูกระงับฉายภาพยนตร์เรื่อง"อาบัติ"อาจเป็นบทเรียนของสังคมไทยและผู้สร้างหนังที่จะนำไปสู่การสร้างบันทัดฐานในวงการภาพยนตร์ไทย ที่ต้องการนำเสนอเนื้อเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อสังคมไทย อาจเป้นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้การสร้างภาพยนตร์ในบ้านเรา เป็นไปตามสิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้ แม้จะมีการออกมาเรียกร้องผ่าน www.change.org ให้มีฉายภาพยนตร์เรื่อง อาบัติ โดยสำรวจความเห็นของภาคประชาชน ที่ต้องการชมภาพยนตร์โดยไม่ผ่านขั้นตอนการเซ็นเซอร์ และมีการลงชื่อมากกว่า 40.000คนแล้ว   แต่ก็ไม่มีใครสามารถทราบได้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว จะได้เห็นภาพยนตร์เรื่อง อาบัติ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เพื่อเดินตามเจตนารมณ์ของผู้สร้างที่ต้องการจรรโลงศาสนาพุทธให้ดีขึ้น  

logoline