svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

ย้อนรอย"หนังไทย"ถูกแบน

13 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline
หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง"อาบัติ" ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์สั่งห้ามฉายเนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อพระพุทธศานาเราจะพาคุณผู้ชมย้อนอดีต ไปติดตามกันว่ามีหนังไทยเรื่องไหนบ้างที่ถูกแบน

หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีมติ 4 ต่อ 2 ประกาศว่าหนังเรื่องอาบัติ ห้ามฉายในราชอาณาจักรไทย เนื่องจากมีภาพขัดต่อศีลธรรมของพระพุทธศาสนาเช่น มีภาพของสามเณรเสพของมึนเมา สามเณรใช้ความรุนแรง และมีการแสดงความไม่เคารพต่อพระพุทธรูป

ล่าสุดช่วงเช้าของวันที่ 13ตุลาคม ทางสหมงคลฟิล์มประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า ตอนนี้ทีมงานเตรียมปรับหนังบางส่วนเพื่อส่งไปยื่นพิจารณาใหม่ โดยจะคงไว้ซึ่งสาร, สาระ และ เนื้อเรื่องให้ครบถ้วนมากที่สุดตามเจตนาของผู้สร้างและผู้กำกับ" ก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่าหนังเรื่องอาบัติ จะได้เข้าตามปกติหรือไม่ หรือถ้าต้องมีการตัดทอนบางฉากออกไปจะทำให้รสชาติของหนังเรื่องนี้เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

แต่หากจะย้อนกลับไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีหนังไทยอยู่หลายเรื่องที่ถูกแบน หรือกว่าจะได้ฉายก็ฝ่ามรสุมมาอย่างโชกโชน / เนชั่นบันเทิง จะพาคุณผู้ชมย้อนอดีตกลับไปติดตามว่า มีภาพยนตร์เรื่องไหนที่ถูกสั่งแบนกันบ้าง

เริ่มต้นที่ ทองปาน (Tongpan) ภาพยนตร์กึ่งสารคดี กำหนดฉายในปี2519 หนังเล่าถึงชีวิตของชาวนาภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำโขงซึ่งถ้าสร้างเสร็จจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดทางภาคอีสาน และบางส่วนของประเทศลาวจมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงมีข่าวลือว่านักแสดงและทีมงานบางส่วนถูกใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกห้ามฉายเป็นปี โดยเฉพาะช่วงใกล้กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สุดท้าย ทองปานก็ได้ฉายที่สถาบันเกอเธ่, บ้านพระอาทิตย์ และที่สยามสมาคมเท่านั้นในช่วงปลายปี2520

ต่อมาหนังเรื่อง คนกราบหมา หรือ My Teacher Eats Biscuits ภาพยนตร์ตลกร้ายกำกับการแสดงโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์เล่าถึงลัทธิประหลาด ผู้คนพากันกราบไหว้สุนัข มีกำหนดฉายครั้งแรกในงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพครั้งที่ 1 ในปี 2540 แต่สุดท้ายก็มีคนร้องเรียนไปยังกองเซ็นเซอร์ฯว่าบทหนังเรื่องนี้ดูหมิ่นศาสนาพุทธอย่างรุนแรง ทำให้ต้องมีการตรวจสอบ สุดท้ายก็ถูกสั่งแบนไปในที่สุด

ผลงานอีกหนึ่งเรื่องของผู้กำกับ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ คือ เช็คสเปียร์ต้องตายก็ถูกสั่งแบนเช่นกัน ตัวหนังดัดแปลงจากบทละครโศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ ของเชกสเปียร์เล่าถึงขุนนางที่ล้มกษัตริย์ และสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์แทน แต่ดันโลภและลุ่มหลงในอำนาจจนต้องฆ่าคนอื่นเพื่อให้ตัวเองเป็นใหญ่ แต่สุดท้ายนำไปสู่ความหายนะ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ให้เหตุผลในการแบนว่า หนังมีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ เพราะพาดพิงถึงเหตุการณ์6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ไม่สงบเดือนเมษายน2552 ที่ผ่านมา ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ได้เข้าฉาย ทั้งที่แต่เดิมมีกำหนดเข้าฉายในปี2555

ต่อกันด้วยเรื่อง แสงศตวรรษ Syndromes and a Century กำหนดฉายในปี2550 ผลงานของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุลผู้กำกับหนังอินดี้ที่ตีแผ่ชีวิตของมนุษย์ได้อย่างถึงกึ๋น เล่าถึงแพทย์หญิงโรงพยาบาลชนบทแห่งหนึ่งและแพทย์ทหารหนุ่มในโรงพยาบาลในเมือง โดยได้รับอิทธิพลจากพ่อและแม่ของตัวผู้กำกับเองซึ่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ มีเงื่อนไขให้ตัด 4 ฉากสำคัญออกไปจึงจะให้ฉายในไทยได้ คือ ฉากพระเล่นกีตาร์ / หมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะปฏิบัติหน้าที่/ หมอผู้ชายจูบกับแฟนสาวในโรงพยาบาล และเกิดอารมณ์จนเป้านูนขึ้นมา รวมถึงฉากพระเล่นเครื่องร่อนซึ่งหนังเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัลตัดต่อภาพยอดเยี่ยม จากงาน Asian filmAwards และเดินสายฉายโชว์ในงานเทศกาลหนังระดับโลกทั้ง อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา สเปน ตุรกี และฝรั่งเศส ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมแต่ในประเทศไทยกลับถูกห้ามฉาย ตอนแรกจะเป็นการฉายแบบจำกัดโรง แต่ทางคณะกรรมการฯบอกว่าต้องตัด4 ฉากออกไป ถ้าไม่ตัดจะยึดฟิล์มเอาไว้ ท้ายที่สุด "เจ้ย อภิชาติพงศ์" จึงยอมปะฟิล์มดำใน 4 ฉากสำคัญ และได้ฉายที่พารากอนซีนีเพล็กซ์

มาถึงผลงานของผู้กำกับ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กับเรื่อง อินเซค อิน เดอะ แบ็คยาร์ด กำหนดเข้าฉายในปี 2553 ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคมพูดถึงโลกของเพศที่สาม, เด็กหญิงบ้าแฟชั่น และเด็กชายอายุ15 ปี ที่หมกมุ่นแต่เรื่องเซ็กส์ เหตุผลในการแบนระบุเอาไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนรวมถึงบางฉากนำเสนอภาพขององคชาต, การร่วมเพศ และการค้าประเวณี

"ปิตุภูมิพรมแดนแห่งรัก" หรือ Fatherland ผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับฝีมือดีต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค โดยได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง อนันดา เอเวอริ่งแฮม/ เวียร์ ศุกลรวัฒน์ / เบลล่า ราณี รวมถึงเป็นการแสดงหนังครั้งแรกของนางเอกคนดังใหม่ ดาวิกา โฮเน่ร์ ดัดแปลงมาจากงานเขียนเรื่อง พรมแดนของ พล.ต.อ. วิสิษฐ เดชกุญชร เนื้อหาของหนัง เป็นการตีแผ่ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สุดท้ายกลับไม่ได้ฉาย โดยที่ ต้อม ยุทธเลิศ ได้โพสต์เฟซบุ๊กของตัวเองว่าเป็นที่แน่นอนแล้วครับว่า หนังเรื่องนี้ คนไทยคงไม่ได้ดู ขอบคุณครับแต่หลังจากนั้น ต้อม ยุทธเลิศ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวหนังไม่ได้มีปัญหากับกองเซ็นเซอร์ แต่อาจเป็นนายทุนที่ตัดสินใจว่าจะฉายหรือไม่ฉายเนื่องจากมีประเด็นที่ละเอียดอ่อน หวั่นจะมีคนที่เจตนาไม่ดีนำเอาประเด็นและภาพในหนังเรื่องนี้ไปตัดต่อและขยายความสร้างเรื่องที่รุนแรงขึ้นมา

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของภาพยนตร์ที่ถูกสั่งห้ามฉายในไทยเนื่องจากมีเนื้อหาที่ส่อไปในทางที่ขัดต่อศีลธรรม และ พระพุทธศาสนา ยังไม่นับเรื่องล่าสุดอย่าง อาบัติ ที่กำลังลูกผีลูกคนว่าจะได้เข้าฉายตามปกติหรือไม่

ทั้งนี้ระบบการพิจารณาให้หนังไทยเรื่องใดได้ฉายหรือไม่ได้ฉายจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ จากนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และเปลี่ยนมาใช้รูปแบบคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ในรูปแบบการจัดเรท และกำหนดลักษณะ 6 ประการ ที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ จะไม่ได้เข้าฉายในราชอาณาจักไทย คือ มีเนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์/ มีเนื้อหาเหยียดหยาม หรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา / เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ / เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ/ สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ และสุดท้าย เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์เห็นอวัยวะเพศ

หากภาพยนตร์เรื่องไหนที่เข้าข่ายในข้อจำกัดของคณะกรรมการพิจารณาฯก็จะถูกสั่งแบนทันที หรืออาจต้องนำฟิล์มกลับไปแก้ไขใหม่ แล้วนำกลับมาให้ตรวจสอบอีกครั้งซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับหนังเรื่อง อาบัติทำให้มีการพูดถึงกันในวงกว้างว่า คณะกรรมการพิจารณารับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดจริงในสังคมพร้อมกับย้อนถามว่า เรื่องพวกนี้จริง ๆ ในสังคมไทยมันมีอยู่มากมาย ทำไมเราไม่เรียนรู้แล้วหาทางแก้ไขขณะที่บางเสียงของของสังคมก็บอกว่า คณะกรรมการทำถูกแล้ว เพราะสิ่งที่นำเสนอมันผิดไปจากกรอบที่เป็นบันทัดฐานของสังคมที่มี

----------------------------

พิชชาพัทธอาจพงษา ทีมข่าวเนชั่นบันเทิง รายงาน

logoline