svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เผือกร้อน "อุตตม-กรุงไทย" ลาม "คตส.-ป.ป.ช."

08 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คดีปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็น 1 ในหลายๆ คดีทุจริตที่มีการตรวจสอบเชื่อมโยงไปถึงอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อปี 49



คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยไปแล้วหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการบริหารธนาคาร และผู้เกี่ยวข้อง แต่ คุณอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีชื่อเป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยกลับไม่ถูกฟ้องคดีต่อศาล

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องนี้ จองกฐินยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา และคุณอุตตม หากมีการตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจริง โดยฝ่ายค้านและเครือข่ายได้เผยแพร่คำพิพากษาศาล อ้างบางช่วงบางตอนของคำพิพากษาว่า ศาลชี้ว่าคณะกรรมการบริหารธนาคารกระทำผิดจริง ปล่อยสินเชื่อโดยไม่ยึดหลักเกณฑ์และกฎหมาย แล้วเหตุใดคุณอุตตมซึ่งเป็นกรรมการบริหารของธนาคารอยู่ด้วยจึงไม่มีความผิด ฉะนั้นจึงไม่มีความเหมาะสมหากจะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งก็คือผู้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทยนั่นเอง

เรื่องนี้กลายเป็นข้อเท็จจริง 2 มุมที่ "ล่าความจริง" ขอสรุปเหตุผลของแต่ละฝ่ายมาแจกแจงให้เห็นชัดๆ ว่า สรุปแล้ว คุณอุตตม กระทำผิดจริง หรือไม่ผิดแต่ถูกบิดเบือน

เผือกร้อน "อุตตม-กรุงไทย" ลาม "คตส.-ป.ป.ช."



เริ่มจากฝั่งนายอุตตม

1.ปัญหาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย ถูกตั้งเรื่องสอบสวนโดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติในยุคนั้น ผลการสอบสวนไม่ได้ชี้ว่าคุณอุตตมมีความผิด เพราะเชื่อคำชี้แจงของคุณอุตตมที่ว่าได้ทักท้วงการปล่อยสินเชื่อก้อนนี้แล้ว และไม่พบว่าคุณอุตตมมีส่วนร่วมในการปล่อยสินเชื่อกว่าหมื่นล้านบาทที่เป็นปัญหา

2. การพิจารณาเรื่องนี้ในชั้น คตส. และ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ไม่พบความผิดของคุณอุตตมเช่นกัน จึงไม่ได้กล่าวโทษและฟ้องคดี

3. เมื่อไม่มีการฟ้องคดี ต้องถือว่าคดีสิ้นสุดไปตั้งแต่ชั้นสอบสวน ฉะนั้นจะมาอ้างว่าคำพิพากษาของศาลระบุว่าคุณอุตตมผิดไม่ได้


เผือกร้อน "อุตตม-กรุงไทย" ลาม "คตส.-ป.ป.ช."



ขณะที่ข้อเท็จจริงของฝ่ายค้านและเครือข่าย สรุปว่า

1. คำพิพากษาของศาลระบุชัดว่า คณะกรรมการบริหารของธนาคาร ซึ่งมีคุณอุตตมรวมอยู่ด้วย กระทำผิดจริง ฉะนั้นแม้คุณอุตตมจะไม่ถูกศาลพิพากษาลงโทษ เนื่องจากไม่มีการฟ้องคดีในส่วนของคุณอุตตม แต่ก็ต้องถือว่าการทำหน้าที่ของนายอุตตมในฐานะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย มีการกระทำผิด

2. การปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย มีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่า หากเป็นการปล่อยสินเชื่อล็อตใหญ่ เช่น เกิน 2,000 ล้านบาท คณะกรรมการบริหารธนาคารต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้นหากคุณอุตตมอ้างว่าได้ทักท้วงการปล่อยสินเชื่อก้อนนี้จริง ธนาคารก็จะไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ แต่เมื่อสุดท้ายธนาคารปล่อยสินเชื่อ (จนเกิดปัญหาและกลายเป็นคดีความตามมา) ย่อมแสดงว่าคุณอุตตมร่วมลงมติปล่อยกู้ด้วย

3. ไม่มีรายงานการประชุมที่ระบุว่ามีกรรมการคนใดท้วงติงหรือทักท้วงการปล่อยสินเชื่อ

4. เมื่อไม่มีหลักฐานอย่างเป็นทางการยืนยัน แล้วอะไรคือหลักฐานสำคัญที่ทำให้ทั้ง คตส. และ ป.ป.ช.ไม่ยื่นฟ้องคุณอุตตม นี่คือเหตุผลและข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายที่สังคมต้องชั่งน้ำหนักว่าจะเชื่อฝ่ายไหน



ประเด็นทางการเมืองที่คาดว่าจะขยายวงต่อไปนับจากนี้ ก็คือการย้อนกลับไปตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. และ คตส. ว่าใช้หลักเกณฑ์ หรือหลักฐาน หรือข้อกฎหมายใดในการตัดสินใจไม่ฟ้องคุณอุตตม ซึ่งสุดท้ายอาจบานปลายไปถึงขั้นการเรียกร้องให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ คตส. และ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นกลไกการตรวจสอบในช่วงหลังการรัฐประหาร

เผือกร้อน "อุตตม-กรุงไทย" ลาม "คตส.-ป.ป.ช."


ที่สำคัญการกันผู้ต้องหาที่ร่วมกระทำผิดด้วยไว้เป็นพยาน แล้วสั่งไม่ฟ้อง หรือไม่เอาผิด หลักสากลเรียก "ใช้กุ้งฝอยไปตกปลากระพง" บ้านเรามีหลักเกณฑ์กฎหมายข้อนี้รองรับหรือไม่

จังหวะก้าวสำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือ การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจคุณนายอุตตม หากได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจริงๆ โดยอ้างคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 นั่นเอง

คุณสมบัติที่ใช้ถ้อยคำที่ตีความได้กว้างขวางนี้แปลว่าอะไร พรุ่งนี้เรามาล่าความจริงกันต่อ

logoline