svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ท่องอ่าวคุ้งกระเบน... พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

20 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันหยุดชดเชยแบบนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม คงความเป็นธรรมชาติ มาฝากคุณผู้ชม เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่กำลังอินเทรนด์ นั่นก็คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่นั่นมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีท้องน้ำกว้างใหญ่ไพศาล และสัตว์ทะเล ตลอดจนพันธุ์ไม้มากมายหลายชนิด เห็นภาพวันนี้แล้ว หลายคนอาจไม่ทราบว่าแต่ก่อนทีนี่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรม เกือบจะใช้การไมได้ แต่ด้วยแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้สามารถพื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ กระทั่งกลายเป็น "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" จุดบรรจบระหว่างงานอนุรักษ์กับการพัฒนาอาชีพของผู้คน ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ไปกันได้กับการอนุรักษ์ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติอยู่กับเราไปตราบนานเท่านาน ไปติดตามเรื่องดีนี้ได้กับทีมล่าความจริง คุณอัญชลี อริยกิจเจริญ



ผืนน้ำกว้างใหญ่ที่เห็นอยู่นี้ มีสารพัดพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ใช้ชีวิตอยู่จำนวนมาก พวกมันเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี จนสามารถแพร่ขยายพันธุ์ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวนับร้อยนับพันครอบครัวพื้นที่โดยรอบยังอุดมไปด้วยป่าชายเลนที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ รอให้ผู้คนเดินเข้าไปศึกษาธรรมชาติที่แสนจะงดงาม แวดล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งโกงกาง โปร่งแดง ป่าสักดอกแดง และลำพูทะเล

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งเป็นพื้นที่รอบอ่าว พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ และพื้นที่ขยายผล รวม 85,235 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าใหม่ และอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพประมงและการเกษตร ในเขตชายฝั่งทะเลจันทบุรี พร้อมพระราชทานเงินที่ชาวจันทบุรีร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นทุนริเริ่มดำเนินการ

ต่อมาทางจังหวัดได้กำหนดพื้นที่บริเวณตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ เป็นที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เมื่อปี 2524 โดยเป็นหน่วยที่ศึกษา สาธิต และพัฒนาเขตที่ดินชายทะเลด้วยวิธีผสมผสานองค์ความรู้จากหลายหน่วยงาน เพื่อวางแผนพัฒนาจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป พร้อมส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ และรู้จักใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากการสำรวจในอ่าวคุ้งกระเบนฯ พบพรรณไม้ป่าชายเลนที่สำคัญถึง 47ชนิด นกกว่า 100 ชนิด นอกจากนั้นยังมีปลา กุ้ง ปู และหอยอีกหลายชนิด ซึ่งในอดีตที่นี่เคยเป็นแหล่งอาศัยของพะยูน แต่เมื่อชายฝั่งทะเลถูกบุกรุกทำลาย หญ้าทะเลก็เริ่มหมดไป จึงเหลือเพียงรายงานการพบพะยูนครั้งสุดท้ายโดยชาวบ้านที่ใช้อวนล้อม เมื่อปี 2545


ท่องอ่าวคุ้งกระเบน... พิพิธภัณฑ์มีชีวิต


แต่ต่อมาเมื่อนอ่าวคุ้งกระเบนสามารถพลิกฟื้นจากป่าเสื่อมโทรมมาเป็นป่าชายเลนอันทรงคุณค่า ก็ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รอบผืนป่ามีรายได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตผลจากป่าเพิ่มมากขึ้น

ส่วนที่เห็นอยู่นี้คือ หน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำภายในอ่าวคุ้งกระเบน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่ดี โดยเฉพาะปลากะพง และปลาเก๋า นอกจากนี้ยังมีธนาคารปู เพื่อเพิ่มปริมาณปูม้าให้มากขึ้น ด้วยการคัดแยกปูที่มีไข่ออกมานอกกระดอง เมื่อแยกแล้วก็ทำการเขี่ยไข่ปูสีน้ำตาลหรือสีเหลืองที่มีทั้งหมดออก ก่อนจะนำไปขาย หรือปรุงอาหารต่อไป

วิธีการคือ ใช้แปรงปัดไปที่ไข่ โดยที่ตัวปูและไข่แช่อยู่ในน้ำ เมื่อทำการเขี่ยแล้ว ไข่ปูก็จะหลุดออกมา สามารถเจริญเติบโตเป็นลูกปูได้ ซึ่งหลังจากเขี่ยไข่ปูหมดแล้ว จะทำการอนุบาลลูกปูไว้ หากเป็นไข่แก่ อาจใช้เวลาฟักเป็นตัวอ่อนแค่ 2 คืน ถ้าเป็นไข่อ่อน อาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนปล่อยลงสู่ท้องทะเล การเขี่ยไข่ปูออกมา 1 ตัว สามารถปล่อยและเพิ่มจำนวนปูม้าลงท้องทะเลได้ประมาณ 300,000 - 700,000 ตัวเลยทีเดียว ทำให้ชาวประมงที่นี่มีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถจับปูม้าได้ทุกวัน สร้างรายได้พออยู่พอกิน

เรียกได้ว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ มีทั้งการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน โดยทำในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต กระทั่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยม "กินรีทอง" ในปี 2543 และรางวัลดีเด่น "กินรีเงิน" ในปี 2545 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดังนั้นผู้ที่มาศึกษาดูงานหรือนักท่องเที่ยว นอกจากจะเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติแล้ว ยังสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้อีกด้วย

คุณอัญชลี ทีมข่าวของเราที่ได้ไปเยือนศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ฝากบอกว่า การเข้าชมภายในศูนย์ฯ สามารถไปได้ทุกวัน ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าต้องการวิทยากรอธิบายข้อมูลเพิ่มเติม ควรทำหนังสือทางแจ้งศูนย์ฯ ก่อนล่วงหน้า จะได้จัดเตรียมวิทยากรและการบรรยาย เพื่อให้ได้องค์ความรู้มากที่สุด

logoline