svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ โชว์ตัว "หมู่เกาะสิมิลัน"

05 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ แหวกว่ายโชว์ตัวท่ามกลางนักท่องเที่ยวบริเวณทะเลที่หมู่เกาะสิมิลัน อ.คุระบุรี จ.พังงา บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย โดยเฉพาะทะเลฝั่งอันดามันที่ได้มีการร่วมกันจัดการปัญหาขยะทะเล ทำให้มีสัตว์ทะเลหายากเข้ามาหากินเพิ่มมากขึ้น

นายบุญชู แพใหญ่ ผู้บริหารบริษัท ว้าว อันดามัน ทัวร์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากไกด์ของบริษัทว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมาขณะเรือสปีดโบ๊ทนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมความงามตามธรรมชาติของท้องทะเลที่หมู่เกาะสิมิลัน อ.คุระบุรี จ.พังงา ระหว่างทางก่อนที่จะถึงเกาะ 4 หรือเกาะเมียง ได้พบฝูงวาฬนับสิบตัวกำลังแหวกว่ายอยู่ใกล้เรือ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างตื่นเต้น ตื่นตาและดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็น โดยกัปตันเรือได้เบาเครื่องยนต์และปล่อยให้นักท่องเที่ยวเก็บภาพความประทับใจกันอย่างสนุกสนาน ก่อนที่ฝูงวาฬจะว่ายน้ำหายไป

ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ โชว์ตัว "หมู่เกาะสิมิลัน"


จากการตรวจสอบจากภาพ พบว่าเป็นวาฬเพชฌฆาตดำ False killer whale ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณน้ำลึก จะกินปลาและหมึกเป็นอาหาร สามารถพบเห็นได้ทั้งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน โดยวาฬเพชฌฆาตดำเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาว 5-6 เมตร จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

นายรวมสิน มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เปิดเผยว่า ขณะนี้ท้องทะเลอันดามันมีความสมบูรณ์ เพราะในพื้นที่ได้มีการร่วมกันจัดการปัญหาขยะทะเลของทุกภาคส่วน ทำให้มีสัตว์ทะเลหายากเข้ามาหากินอยู่เสมอ ทางอุทยานฯขอความร่วมมือให้นักท่องเที่ยว เมื่อพบวาฬหรือสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ ไม่ควรให้อาหารโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้สัตว์ในธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนิเวศวิทยา สร้างพฤติกรรมเรียนรู้ผิดๆ อาจได้รับอาหารที่มีการปนเปื้อนจนทำให้สัตว์เจ็บป่วยทรมาน รวมทั้งไม่ควรจับหรือสัมผัส เพราะอาจมีการติดเชื้อโรคที่ติดต่อจากคนสู่สัตว์ได้ นอกจากนี้ ทุกคนจะต้องไม่ทิ้งขยะลงทะเล เพราะสัตว์อาจกินเข้าไปจนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ โชว์ตัว "หมู่เกาะสิมิลัน"


ขณะที่ข้อมูลศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ระบุว่าวาฬเพชฌฆาตดำอาศัยบริเวณน้ำลึก สามารถพบเห็นได้ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งการพบเห็นวาฬเพชรฌฆาตดำครั้งละหลายตัวบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ทางทะเลและมีแหล่งอาหารสมบูรณ์

"วาฬเพชฌฆาต" (Killer whales) หรือ"ออร์กา" (Orca) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์โลมา (Delphinidae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ออคินัส ออกา (Orcinus orca) วาฬเพชฌฆาตอาศัยอยู่ในมหาสมุทรได้ทั่วโลก ตั้งแต่อาร์กติกเรื่อยไปจนถึงแอนตาร์กติก รวมทั้งในทะเลแถบเขตร้อน

ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ โชว์ตัว "หมู่เกาะสิมิลัน"

นักวิทยาศาสตร์จำแนกวาฬเพชฌฆาตออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่

1. สายพันธุ์ทั่วไป (Resident) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่รวมกันเป็นครอบครัวอย่างเหนียวแน่น
2. สายพันธุ์อพยพ (Transient) มักเดินทางไปทั่วตามชายฝั่งทะเล รวมกลุ่มกันเล็กๆ ราว 2-6 ตัว แต่ไม่เป็นครอบครัวเหนียวแน่นและมีพฤติกรรมไม่ซับซ้อนเท่าสายพันธุ์ทั่วไป
3. สายพันธุ์ทะเลลึก (Offshore) นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบวาฬเพชฌฆาตสายพันธุ์นี้เมื่อปี 1988 ซึ่งมีพันธุกรรมแยกออกจาก 2 สายพันธุ์ข้างต้นอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลเปิด มักรวมตัวกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ประมาณ 60 ตัว แต่พฤติกรรมอื่นๆ ยังมีข้อมูลน้อยมาก

ลักษณะเด่นของวาฬเพชฌฆาตคือ มีสีดำบริเวณส่วนหลัง และมีส่วนอกและท้องเป็นสีขาว รวมทั้งบางส่วนของด้านข้างลำตัวและด้านหลังดวงตาที่มีสีขาวเช่นกัน ลำตัวขนาดใหญ่และแข็งแรงมาก มีครีบหลังขนาดใหญ่คล้ายรูปสามเหลี่ยมมสูงถึง 2 เมตร โดยทั่วไปวาฬเพชฌฆาตตัวผู้จะมีความยาว 6-8 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 6-7 ตัน ส่วนตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าไม่มาก แต่วาฬเพชฌฆาตบางตัวอาจมีความยาวได้สูงสุดเกือบ 10 เมตร และหนักถึง 10 ตัน ซึ่งวาฬเพชฌฆาตสามารถว่ายน้ำได้เร็วกว่า 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ โชว์ตัว "หมู่เกาะสิมิลัน"


วาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์สังคมที่มีพฤติกรรมซับซ้อน มีตัวเมียเป็นจ่าฝูง หากมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ วาฬเพชฌฆาตเพศเมียจะมีอายุยืนเฉลี่ย 50-60 ปี หรืออาจยืนยาวถึง 90 ปี ขณะที่วาฬเพชฌฆาตเพศผู้จะมีอายุเฉลี่ยที่ 29 ปี และอายุยืนสูงสุดได้ถึง 60 ปี แต่หากเป็นวาฬเพชฌฆาตที่ถูกเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์น้ำ จะมีช่วงอายุสั้นกว่าพวกเดียวกันที่อยู่ในธรรมชาติอย่างมาก บางตัวอาจอยู่ได้ไม่เกิน 25 ปีก็มี

ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ โชว์ตัว "หมู่เกาะสิมิลัน"

บันทึกการพบเห็นวาฬในไทยที่มีหลักฐานยืนยัน

25 มีนาคม 1993 พบที่หมู่เกาะสิมิลัน ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 65 กิโลเมตร ประมาณ 30 ตัว เข้ามาว่ายวนเรือสปีดโบทนักท่องเที่ยว และมีผู้เห็นว่า มันกำลังโจมตีกระเบนนก
19 กันยายน 1994 พบที่ด้านเหนือของเกาะไม้ท่อน พบประมาณ 4 ตัว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 60 กิโลเมตร ยืนยันโดยการบอกเล่าของนักท่องเที่ยว
1 มกราคม 1995 พบที่เกาะเต่า 2 ตัว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 70 กิโลเมตร ยืนยันโดยการบอกเล่าของนักท่องเที่ยว
18 เมษายน 1997 พบที่เกาะราชา พบ 4 ตัว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 68 กิโลเมตร ยืนยันโดยการบอกเล่าของนักท่องเที่ยว
พฤศจิกายน 2000 กองหินริเชริว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 40 กิโลเมตร พบหลายครั้งตลอดทั้งดือนตั้งแต่ 1-10 ตัว ยืนยันโดยการบอกเล่าของนักท่องเที่ยว
ธันวาคม 2000 กองหินริเชริว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 40 กิโลเมตร พบหลายครั้งตลอดทั้งดือนตั้งแต่ 1-10 ตัว ยืนยันโดยการบอกเล่าของนักท่องเที่ยว
9 ตุลาคม หมู่เกาะสุรินทร์ 2002 พบ 6 ตัว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 58 กิโลเมตร ยืนยันโดยการบอกเล่าของนักท่องเที่ยว
1 มกราคม 2006 หมู่เกาะสุรินทร์ พบ 3 ตัว พ่อ แม่ ลูก ว่ายวนรอบเรือประมาณ 1 ชั่วโมง ยืนยันด้วยภาพถ่ายของ คุณธนากร แสงดาว
28 มกราคม 2006 พบระหว่างกองหินริเชริว ไปยัง เกาะตาชัย 2 ตัว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 40 กิโลเมตร เข้ามาว่ายวนเรือนักท่องเที่ยวดำน้ำและมีผู้เห็นว่า มันกำลังโจมตี กระเบนนก
19 มีนาคม 2007 พบที่หมู่เกาะสุรินทร์ 3-4 ตัว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 40 กิโลเมตร เข้ามาว่ายวนเรือสปีดโบทนักท่องเที่ยว และมีผู้เห็นว่า มันกำลังไล่ต้อนฝูงปลามีนาคม 2007 พบที่เกาะราชา พบ 4 ตัว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 68 กิโลเมตร ยืนยันโดยการบอกเล่าของนักท่องเที่ยว
27 มีนาคม 2007 ช่องเขาขาด ใกล้กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา จำนวน 4 ตัว
ธันวาคม 2008 กองหินริเชริว ห่างจากฝั่ง(แผ่นดิน)ประมาณ 40 กิโลเมตร พบเห็นโดย นายเอ็ดวิน วีก (และเรืออีก 3 ลำ)
มีนาคม 2013 พบที่ฝั่งอ่าวไทย บริเวณเกาะช้าง โดยเป็นวาฬตัวเมียขนาดเล็กที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ตัว ซึ่งในตอนแรกเชื่อว่าเป็นโลมาอิรวดี แต่ภายหลังพบว่าเป็น วาฬเพชฌฆาต
พฤศจิกายน 2013 พบที่ใกล้เกาะมะริด ประเทศพม่า เป็นออก้าขนาดใหญ่ที่สุด พบโดยกลุ่มนั่งท่องที่ยวที่เช่าเรือใบระหว่างกำลังล่องจากไทยไปพม่า โดย 1 ในนักท่องเที่ยวที่พบได้ตัดสินใจลงไปว่ายพร้อมถ่ายวีดีโอกับ ออร์ก้าด้วย
29 มกราคม 2014 พบวาฬเพชฌฆาต ถูกคลื่นซัดเกยหาดคอสน จ.ชุมพร ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯนำซากตรวจสอบสาเหตุ ซึ่งภายหลังพบว่าเป็น วาฬเพชฌฆาตดำ
8 มกราคม 2016 พบโดย คุณธัญลักษณ์ สะครุฑ ถ่ายภาพโดย โจ ฮาเรรอน หน้าหาดป่าตอง จ. ภูเก็ต ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ว่า พบเจอ ออก้า ใกล้ฝั่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์
10 มกราคม 2016 พบโดยคุณ Little Hongthong/ นสพ. มติชน ใกล้หาดกะรน จังหวัดภูเก็ต
10 มีนาคม 2016 พบวาฬเพชรฆาตดำ ใกล้ภูเก็ต แต่หลายสำนักข่าว นำเสนอว่าเป็น วาฬเพชรฆาต จึงเกิดความเข้าใจผิดขึ้น
8 ตุลาคม 2017 พบวาฬเพชรฆาต พบในเส้นทางระหว่างนางย่อน ไป ภูเก็ต พบโดยคุณไพโรจน์ ก้องสุวรรณคีรี พร้อมคลิป ระยะประมาณ 4 ไมล์ทะเลจากฝั่ง
(ขอบคุณข้อมูลจาก รายงานสรุปการพบเห็นวาฬเพชรฆาต ORCA ในทะเลไทย มหาวิทยลัยเกียวโต โดย ADULYANUKOSOL, KANJANA; MANAWATTHANA,SONTAYA; ITAE, AMREE )

logoline