svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) บัญญัติไตรยางค์ย้อนกลับ... สูตร(ไม่ลับ) คำนวณปาร์ตี้ลิสต์

18 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง และผ่านการเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว ปรากฏว่าความงุนงงเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง และวิธีคำนวณคะแนนหาสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยังมีอยู่ สัปดาห์ที่แล้วล่าความจริงอธิบายวิธีการคำนวณแบบพื้นๆ ไม่มีปัญหาจนต้องใช้ "สูตรคำนวณแบบพิเศษ" ไปแล้ว วันนี้มาต่อกันอีกแบบที่อาจมีปัญหาเกิดข้น และต้องใช้สูตรคำนวณแบบพิเศษกันบ้าง


สภาผู้แทนราษฎรมีทั้งหมด 500 คน ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยระบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบให้ทุกคะแนนเสียงจากประชาชนมีความหมาย ไม่ถูกทิ้งไป นอกจากจะรู้ว่า ส.ส.ที่ได้คะแนนมากที่สุดใน 350 เขตเลือกตั้งจะได้เข้าไปนั่งในสภาแล้ว คะแนนทั้งหมดของผู้สมัครทุกคน ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ จะถูกนำไปคำนวณหาสัดส่วนสัดส่วน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมือง รวมแล้วจำนวน 150 ที่นั่งด้วย

(คลิปข่าว) บัญญัติไตรยางค์ย้อนกลับ... สูตร(ไม่ลับ) คำนวณปาร์ตี้ลิสต์


รัฐธรรมนูญมาตรา 91 ได้ระบุสูตรคำนวนเอาไว้ สำหรับการหาสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะได้รับ โดยเริ่มที่การหาจำนวน "ส.ส.พึงมี" ของแต่ละพรรคการเมือง วิธีการคือนำเอาคะแนนบัตรดีของทั้งประเทศมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งของ ส.ส. ทั้งสภา ผลลัพธ์ที่ได้เรียกว่า "คะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คน" เมื่อได้มาแล้วจึงนำ "คะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คน" ไปเป็นตัวหารของคะแนนรวมในทุกเขตเลือกตั้งทั้งชนะและแพ้ของแต่ละพรรค หรือที่เรียกว่า คะแนนประเทศของพรรค สุดท้ายจำนวนที่ได้นี่แหละคือ "จำนวน ส.ส.พึงมี" ของพรรคนั้นๆ (หมายถึงคะแนนประเทศได้มาเท่านี้ ควรได้ ส.ส.กี่ที่่นั่ง) ทีนี้เรามาดูว่าแต่ละพรรคได้ผู้ชนะจากเขตมากี่คน ก็เอามาหักลบไปจากจำนวน ส.ส.พึงมี จำนวนที่เหลือก็คือจำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคนั้นควรได้

(คลิปข่าว) บัญญัติไตรยางค์ย้อนกลับ... สูตร(ไม่ลับ) คำนวณปาร์ตี้ลิสต์


สูตรและวิธีการคำนวนที่ระบุไว้ในกฎหมายยังได้ลงลึกถึงกรณีที่อาจเกิดปัญหา หากว่าไม่สามารถจัดสรรจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ให้ลงตัวเท่ากับ 150 ที่นั่งได้ วิธีการคำนวนระบุไว้ในพระราขบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ พ.ร.ป.เลือกต้้ง มาตรา 128

เช่น กรณีจัดสรร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ตามสูตรเบื้องต้นไปแล้ว ปรากฏว่าได้จำนวนไม่ครบ 150 คน วิธีการคือ 1 ให้นำตัวเลขของ "ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งจำนวนเต็มและทศนิยม 4 หลัก" ของแต่ละพรรคมา แล้วจัดสรรจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในจำนวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบให้เทียบจากเศษทศนิยม 4 ตำแหน่ง พรรคใดที่เศษตัวเลข 4 ตำแหน่งสูงที่สุดก็จะได้จำนวน ส.ส. เพิ่มอีก 1 ที่นั่ง ทำเช่นนี้ไล่ไปจนครบจำนวน 150 ที่นั่ง

ขั้นตอนคำนวนที่ว่านี้แม้ว่าจะดูยุ่งยากถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ แต่ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการจัดสรรปันส่วนให้ทุกพรรค มี ส.ส. เข้าสภาในสัดส่วนที่สมควรได้รับเทียบจากคะแนนที่ประชาชนเทใจให้

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่บางพรรคการเมือง ได้จำนวน ส.ส.เขต หรือจำนวนผู้สมัครที่ชนะที่ 1 ในแต่ละพื้นที่ "มากกว่า" จำนวน "ส.ส.พึงมี"ที่พรรคนั้นควรได้รับ ถ้าเกิดสถานการณ์นี้จะทำอย่างไร

(คลิปข่าว) บัญญัติไตรยางค์ย้อนกลับ... สูตร(ไม่ลับ) คำนวณปาร์ตี้ลิสต์


พรป.เลือกตั้ง มาตรา 128 ระบุวิธีการคำนวนไว้เช่นกัน ใน "วงเล็บเจ็ด" ระบุว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองใดได้จำนวน ส.ส.ที่ชนะเขตเท่ากับหรือมากกว่า "จำนวน ส.ส.พึงมี" แน่นอนว่าถ้าจำนวนเท่ากันก็ไม่มีปัญหา เป็นที่รู้กันว่าพรรคนั้นก็หมดสิทธิ์ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้ว เพราะเต็มโควต้า แต่หากว่า พรรคใดได้ จำนวน ส.ส.ที่ชนะจากเขต "มากกว่า" จำนวน "ส.ส.พึงมี" กฎหมายให้คงจำนวนนั้นไว้ เพราะถือว่า ส.ส. เหล่านี้มาจากเสียงประชาชน

ส่วนปาร์ตี้ลิสต์แน่นอนว่าก็จะไม่ได้อีกแล้ว พูดง่ายๆคือ "เกินโควต้า" แต่ไม่ตัดออก ดูจากตรงนี้แล้วก็ถือว่ายกประโยชน์ให้พรรคนั้นไป แต่ผลกระทบที่เกิดจะไปตกอยู่กับพรรคอื่นแทน เนื่องจากจำนวน ส.ส.เขตที่เกินมานั้น จะไป "กินที่ว่าง" สำหรับปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอื่น ทำให้ 150 ที่นั่งของปาร์ตี้ลิสต์ลดน้อยลงไป คือเหลือไม่ถึง 150 ที่นั่ง และถ้าคิดตามสูตรคำนวณพื้นฐาน ก็จะทำให้จำนวนรวมของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคต่างๆ ที่ควรได้ / รวมแล้วมี "มากกว่า" ที่ว่างที่เหลืออยู่ (หลังจากโดนกินที่ไปแล้ว)

(คลิปข่าว) บัญญัติไตรยางค์ย้อนกลับ... สูตร(ไม่ลับ) คำนวณปาร์ตี้ลิสต์


วิธีแก้ไขคือ "การปรับจำนวนใหม่ตามอัตราส่วน โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 150 คน" ซึ่งวิธีที่ใช้คำนวณ เราคุ้นเคยอยู่แล้วสมัยตอนเรียนคณิตศาสตร์ นั่นก็คือการเทียบ "บัญญัติไตรยางค์" โดยคำนวนทีละครั้ง ครั้งละ 1 พรรค ตัวเลขที่ใช้มี 3 ตัว คือ

1 จำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคควรได้รับ (ไม่นับพรรคที่ได้ ส.ส.เขต เท่ากับหรือมากกว่า จำนวน ส.ส.พึงมี เพราะโควต้าเต็มไปแล้ว)

2 เอาข้อ 1 มาบวกรวม เป็นจำนวนทั้งหมด (หมายถึงจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของทุกพรรครวมกัน)

3 จำนวนรวมที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ "ตามปกติ" ซึ่งก็คือ 150

(คลิปข่าว) บัญญัติไตรยางค์ย้อนกลับ... สูตร(ไม่ลับ) คำนวณปาร์ตี้ลิสต์

ตัวเลขทั้งสามตัวจะนำมาคิดเทียบโดยหลักคิดที่ว่า "เมื่อจำนวนรวมปาร์ตี้ลิสต์เกินกว่าที่ควรเป็น" คือเกิน 150 ทำให้คำนวณเป็นรายพรรคแล้วได้มาเท่านี้ หากจำนวนรวมต้องปรับให้เป็น 150 พรรคการเมืองจะได้จำนวนปาร์ตี้ลิสต์เท่าไหร่

นำมาสู่สูตรคำนวน คือ จำนวนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค คูณด้วย 150 แล้วหารด้วยจำนวนรวมปาร์ตี้ลิสต์

นี่คือวิธีการคำนวนหาจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งเบื้องต้นและแอดวานซ์ ในกรณีที่คำนวนแล้วไม่ลงตัวเป๊ะๆ แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเมื่อผลคะแนนวันเลือกตั้งออกมาแล้วจะแปลว่าสามารถคำนวนจำนวน ส.ส. ได้ 100 % เพราะยังต้องรอให้กระบวนการตรวจสอบสำเร็จเสร็จสิ้น ทั้งแจกใบเหลือง ใบส้มหลังเลือกตั้ง ก่อนประกาศรับรองผลเลือกตั้ง และ กกต.ยังสามารถสอย ส.ส.ในสภาได้อีก แม้ประกาศรับรองผลเลือกตั้งไปแล้ว หากพบความผิดในระยะเวลา 1 ปีหลังตั้งรัฐบาล

logoline