svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

(คลิปข่าว) กทพ.เดินหน้าสู้คดีค่าชดเชย "บีอีเอ็ม" 9 พันล้าน

15 พฤศจิกายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

(ชมคลิปเต็มด้านล่าง) กทพ.เดินหน้าสู้คดีค่าโง่บีอีเอ็ม 9 พันล้านบาท กรณีปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานครและศรีรัช พร้อมชงบอร์ดพีพีพีพิจารณา 3 ทางเลือก สารพัดคดีวงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ระบุ ได้เสนอให้คณะกรรมการ กทพ.พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาชดเชยค่าเสียหายแก่เอกชนในกรณีฟ้องร้องหลายโครงการ โดยการสู้คดีจากกรณีคณะอนุญาโตตุลาการ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายแก่บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือบีอีเอ็ม เกี่ยวกับคดีการขอปรับค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัชปี 2551 เป็นค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำนวนรวม 9,091.79 ล้านบาท
มติคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ กทพ.เจรจากับเอกชนทุกเรื่องที่เกิดการฟ้องร้อง ปัจจุบัน กทพ.ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อมาพิจารณาเรื่องดังกล่าว พร้อมเตรียมเจรจากับภาคเอกชนแล้ว ซึ่งคดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้จ่ายชดเชย กำหนดจ่าย 19 ธ.ค.นี้ ส่วนคดีที่ยังอยู่ในขั้นของอนุญาโตตุลาการ กทพ.ก็จะต้องเดินหน้าสู้คดีไปตามกระบวนการก่อน เพราะเรายังมีทางสู่ในชั้นศาล ควบคู่ไปกับการเจรจาด้วย
ด้านประธานกรรมการ กทพ. สุรงค์ บูลกุล ระบุ จากการประเมินมูลค่าของคดีที่ กทพ.ถูกเอกชนฟ้องร้องนั้น รวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

(คลิปข่าว) กทพ.เดินหน้าสู้คดีค่าชดเชย "บีอีเอ็ม" 9 พันล้าน

เช่น คดีการขอปรับค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัชปี 2551 เป็นค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำนวนรวม 9,091.79 ล้านบาท และคดีสร้างทางแข่งขัน วงเงิน 1,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญา รวมแล้วกว่า 4 พันล้านบาท
โดยกรอบเวลาที่ศาลปกครองสูงสุดกำหนดให้ชำระเงินวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ทำให้บอร์ดและคณะอนุกรรมการพิจารณาเร่งศึกษาแนวทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการพีพีพี ตัดสินเลือกให้ทันภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี
เบื้องต้นยังกำหนดไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ขยายอายุสัมปทานของโครงการทางด่วนขั้นที่ 1 (เฉลิมมหานคร) และขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ที่จะสิ้นสุดสัญญา 28 ก.พ.2563 ให้แก่เอกชนเพื่อแลกกับการชำระค่าเสียหายดังกล่าว
2. กทพ.เดินหน้าบริหารทางด่วนช่วงดังกล่าวเอง และจะต้องจัดหาวงเงินมาชดเชยค่าเสียหายแก่เอกชน และ 3. กทพ.เปิดประมูลหาเอกชนรับสัมปทานบริหารจัดเก็บค่าผ่านทางทางด่วนช่วงดังกล่าว และมอบให้เอกชนผู้ชนะการประมูลสิทธิ์เป็นผู้รับภาระทางการเงินที่เกิดจากการฟ้องร้องคดี ทั้งหนี้สินและทรัพย์สิน

(คลิปข่าว) กทพ.เดินหน้าสู้คดีค่าชดเชย "บีอีเอ็ม" 9 พันล้าน

ปัจจุบัน กทพ.มีวงเงินจากการระดมทุนผ่านกองทุนทีเอฟเอฟ 4.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นจะใช้วงเงินดังกล่าวไปพัฒนาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร วงเงิน 31,244 ล้านบาท รวมทั้ง กทพ.จะเร่งศึกษาพัฒนาโครงการลงทุนขนาดเล็กที่ช่วยสร้างขีดความสามารถในการเดินทางเชื่อมต่อเพิ่มเติม เช่น ทางยกระดับเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ วงเงิน 3 พันล้านบาท และก่อสร้างทางด่วนขั้นที่3สายเหนือ ตอน N2 เฟสที่1 เอกมัย-รามอินทรา-เกษตรนวมินทร์ วงเงิน 480 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำเงื่อนไขการประมูล คาดว่าภายในเดือน พ.ย.นี้ จะสามารถประกาศทีโออาร์เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ โดยตั้งเป้าที่เปิดประมูลเดือนธ.ค.2561 คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะเดือน มี.ค.2562 และเริ่มงานก่อสร้าง พ.ค. 2562 ใช้เวลาก่อสร้างรวม 39 เดือน เปิดให้บริการในเดือน ส.ค. 2565

(คลิปข่าว) กทพ.เดินหน้าสู้คดีค่าชดเชย "บีอีเอ็ม" 9 พันล้าน

logoline