svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) แม่ทัพภาค3 โยน "กรมศิลป์-ผู้ว่าฯ" แก้ปัญหาศาลพระนเรศวร

18 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งประเด็นที่ "ล่าความจริง" ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและรายงานทั้งข่าว ทั้งสกู๊ปพิเศษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็คือความเคลื่อนไหวของชาวจังหวัดพิษณุโลกบางส่วน ในนาม "กลุ่มคนรักษ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" รวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังใหม่ ที่พวกเขาเชื่อว่าบดบังศาลสมเด็จพระนเรศวรฯหลังเดิม ซึ่งเคยตั้งโดดเด่นอยู่กลางพระราชวังจันทน์

ความคืบหน้าก่อนหน้านี้ ทางสำนักศิลปากรที่ 6 จังหวัดสุโขทัย ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างพระตำหนักหลังใหม่ที่ผิดแบบ จนบดบังความสง่างามของศาลสมเด็จพระนเรศวรฯหลังเดิม และกำลังรวบรวมข้อมูลให้อธิบดีกรมศิลปากรตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะแก้ไขแบบ หรือจะรื้อถอนไปสร้างที่อื่น แต่ที่ผ่านมายังไม่มีคำชี้แจงจากผู้ริเริ่มโครงการอย่างกองทัพภาคที่ 3 ทำให้ล่าสุด "ทีมล่าความจริง" ได้ไปขอสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม

พลโท วิจักขฐ์ สิริบรรณสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ชี้แจงกับ "ล่าความจริง" ว่า โครงการนี้มีการอนุมัติก่อสร้างก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งแม่ทัพ ทราบมาว่าขณะนั้นมีการทำประชาพิจารณ์กับประชาชนชาวพิษณุโลกแล้ว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย โดยในช่วงต้นของการก่อสร้างมีทหารช่างเข้าไปดำเนินการ แต่หลังจากนั้นเป็นความดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมศิลปากร แม่ทัพภาคที่ 3 บอกกับเราเพียงแค่นี้ และย้ำว่าการจะดำเนินการรอย่างไรต่อไปให้เป็นการพิจารณาของทางจังหวัดกับกรมศิลปากร

"ล่าความจริง" ติดต่อขอข้อมูลจากหนึ่งในกรรมการดำเนินการก่อสร้างและจัดหารายได้ โครงการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นกรรมการจากฝ่ายกองทัพภาคที่ 3 ได้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคที่ พลเอก ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 คือก่อนปี 58 ซึ่งเป็นยุคที่ พลเอก สาธิต พิธรัตน์ เข้าดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 และเริ่มลงมือก่อสร้างจริง ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นก่อนที่ พลเอกสาธิต เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งช่วงนั้นมีการพูดคุยหารือกันกับหลายหน่วยงาน ทั้งเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่ ตัวแทนของทางจังหวัด อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และกองทัพภาคที่ 3 กระทั่งมีการออกแบบ "ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหลังใหม่" หรือที่เรียกกันว่า "พระตำหนักฯ" ซึ่งทุกฝ่ายเห็นชอบ แต่เมื่อเริ่มก่อสร้างจริง ปรากฏว่าไม่ตรงตามแบบที่ออกแบบไว้ นักวิชาการกรมศิลปากรจึงให้ปรับแบบใหม่ ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักไป และขณะนี้ต้องรอการชี้ขาดจากกรมศิลปากร


กรรมการรายนี้ ยืนยันด้วยว่า ทุกคน ทุกหน่วยงานที่รวมตัวกันริเริ่มโครงการก่อสร้าง "พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ล้วนมีเจตนาที่ดี เพื่อต้องการปรับปรุงให้ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีความยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติกว่าเดิม เมื่อมีประชาชนหรือนักท่องเที่ยวเข้าไปสักการะ จะได้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนที่มีประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกบางส่วนออกมาต่อต้านนั้น คณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างฯ มองว่าอาจเกิดจากความไม่เข้าใจในเจตนาดีของคณะกรรมการฯ โดยขณะนี้คณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างฯ ชุดปัจจุบัน ได้เตรียมข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อหาทางออกร่วมกับอธิบดีกรมศิลปากร

3 คำถามที่ยังไร้คำตอบ "ปัญหาศาลพระนเรศวรฯ"


สรุปก็คือ คนที่จะให้คำตอบสุดท้าย ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น "อธิบดีกรมศิลปากร" ซึ่งหากเราพลิกดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติโบราณสถานฯ จะพบว่าในมาตรา 7 ทวิ เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า "ในกรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตภายในเขตโบราณสถาน ให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจสั่งระงับการก่อสร้าง และให้รื้อถอนอาคารภายใน 60 วัน ถ้ายังฝ่าฝืนก็ให้กรมศิลป์ดำเนินการรื้อถอนได้เองเลย"
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในขณะนี้ก็คือ


1.สรุปแล้วการก่อสร้างพระตำหนักฯหลังใหม่ อธิบดีกรมศิลปากรอนุญาตให้ก่อสร้างแล้วหรือยัง ซึ่งตามกฎหมายต้องอนุญาตเป็นหนังสือด้วย


2.ถ้าการก่อสร้างไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร เหตุใดจึงไม่มีคำสั่งให้รื้อถอนภายใน 60 วันตามกฎหมาย


และ 3.หากการก่อสร้างได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรแล้ว แต่ต่อมามีการก่อสร้างผิดแบบ (ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับตรงกันว่าสร้างผิดแบบ) จะเข้าข่ายก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องรื้อถอนหรือไม่

สุดท้ายเรื่องนี้ต้องรอการคำตอบสุดท้ายจากอธิบดีกรมศิลปากรคนเดียวเท่านั้น

logoline