svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

(คลิปข่าว) ชาวบ้านยังไม่รับข่าวดีอุ้มราคา "ก๊าซ-น้ำมัน"

25 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. จะมีมติเป็นข่าวดีไปแล้วเมื่อวานนี้ คือใช้เงินจาก "กองทุนน้ำมัน" อุ้มราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อกดราคาลงมาให้เหลือ 363 บาท สำหรับถังบรรจุขนาด 15 กิโลกรัมที่นิยมใช้กันตามบ้านเรือนและร้านอาหารตามสั่ง รวมทั้งตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทก็ตาม แต่จากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปกลับยังไม่รู้สึกว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่นักวิชาการด้านพลังงานมองว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาผิดทาง




ที่ประชุม กบง.เมื่อวานนี้ มีมติบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นราคาของก๊าซแอลพีจี หรือแก๊สหุงต้มที่ใช้ตามบ้านเรือน ซึ่งปัจจุบันระดับราคาอยู่ที่ 395 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ด้วยการใช้เงินจาก "กองทุนน้ำมัน" ชดเชยราคาก๊าซเพิ่มขึ้น เพื่อให้ราคาอยู่ในระดับ 363 บาทต่อถัง โดยจะมีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคมเป็นต้นไป นอกจากนั้น กบง.ยังคาดการณ์ว่าราคาก๊าซในตลาดโลกจะลดลง เพราะหลายภูมิภาคเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซกลับสู่ภาวะปกติ คือ 353 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

การปรับลดราคาก๊าซหุงต้ม แม้จะมีข่าวดีไปแล้ว แต่ผลยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะต้องรอถึงวันจันทร์หน้า วันนี้พ่อค้าแม่ค้า โดยเฉพาะกลุ่มที่ขายอาหารตามสั่ง จึงต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นได้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ก็ขายของได้ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว

ความเห็นของนักวิชาการด้านพลังงาน มองว่า แม้รัฐบาลจะประกาศราคาก๊าซหุงต้มใหม่ที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน แต่ราคาขายปลีกจริงๆ ยังสูงอยู่เหมือนเดิม เท่าที่สำรวจตลาด มีการขายกันถึงถังละ 425 บาท และยังบวกค่าขนส่งด้วย หากระยะทางเกิน 3 กิโลเมตร

สาเหตุของราคาก๊าซหุงต้มที่ขยับสูงขึ้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ไม่ได้เกิดจากราคาในตลาดโลกอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่รัฐบาลปล่อยให้มีการขึ้นราคาก๊าซได้อย่างเสรี โดยอ้างราคาตลาดโลก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ราคาก๊าซหุงต้มของไทยสูงกว่าตลาดโลกอยู่ และเป็นปัญหาจากการบริหารจัดการภายใน คือ กำหนดราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงแยกก๊าซไทยสูงกว่าตลาดโลกประมาณ 2-3 บาท ทั้งที่ก๊าซหุงต้มส่วนใหญ่ผลิตได้จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย นอกจากนั้นยังมีการจัดสรรก๊าซแอลพีจีในประเทศให้กับบริษัทปิโตรเคมีกลุ่มหนึ่งไปก่อน ทำให้ก๊าซที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ของภาคครัวเรือน ซึ่งปัญหาลักษณะเดียวกันนี้เกิดกับน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยเช่นกัน
เรื่องราคาก๊าซหุงต้มและน้ำมันเชื้อเพลิงยังไม่จบเพียงเท่านี้ และเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจกันมาก โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างราคาที่บางฝ่ายมองว่ากำหนดอย่างไม่เป็นธรรมสักเท่าไหร่ และที่ผ่านมาสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ก็เคยเสนอให้รัฐบาล คสช.แก้ไข แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้คงต้องคุยกันยาวๆ ล่าความจริงจะมีรายงานพิเศษมาเสนอในสัปดาห์หน้า

logoline