svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) ระบบตรวจสอบไม่ทำงาน ...วิกฤติธรรมาภิบาลมหาลัย!

23 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว "ล่าความจริง" ได้นำเสนอรายงานพิเศษ เป็นสถานการณ์ภาพรวมการตรวจสอบทุจริตและข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวกับ "ธรรมาภิบาลในรั้วมหาวิทยาลัย" เรื่องนี้เป็นหนึ่งในวิกฤติของระบบการศึกษาไทยจริงๆ ถึงขนาดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต้องใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 เข้าไปจัดการปัญหา แต่ผ่านมาร่วม 2 ปี / ปัญหาก็ยังอยู่ที่เดิม

(คลิปข่าว) ระบบตรวจสอบไม่ทำงาน ...วิกฤติธรรมาภิบาลมหาลัย!


เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว "ล่าความจริง" ได้นำเสนอรายงานพิเศษ สรุปบทเรียนของ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและเสนอแนะมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่จัดทำเป็นรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี พบว่ามี 3 ปัจจัยหลักๆ ที่เอื้อให้การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย

(คลิปข่าว) ระบบตรวจสอบไม่ทำงาน ...วิกฤติธรรมาภิบาลมหาลัย!



หนึ่ง การที่มหาวิทยาลัยของรัฐมีกฎหมายเป็นของตัวเอง ซึ่งแม้จะทำให้การบริหารงานคล่องตัว แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการ "เปิดช่อง" ให้ผู้ที่ยึดกุมอำนาจการบริหาร สามารถเอื้อประโยชน์กับฝ่ายกำกับตรวจสอบ ทำให้เกิดการสมรู้ร่วมคิดกัน เรียกว่า "สภาเกาหลัง"

(คลิปข่าว) ระบบตรวจสอบไม่ทำงาน ...วิกฤติธรรมาภิบาลมหาลัย!



สอง การที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายกำกับควบคุม อยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนาน อย่างเช่น อธิการบดี และนายกสภามหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง บางคนอยู่ในตำแหน่งมานานถึง 20 ปี จนสร้างอิทธิพลครอบงำสถาบัน

(คลิปข่าว) ระบบตรวจสอบไม่ทำงาน ...วิกฤติธรรมาภิบาลมหาลัย!




และสาม ปัญหาขององค์กรตรวจสอบเอง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ , ป.ป.ท. , ป.ป.ช. หรือแม้แต่ สตง. มีขั้นตอนการไต่สวนข้อมูลข้อเท็จจริงยาวมาก จึงใช้เวลาตรวจสอบนาน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีทั้งเงินและอำนาจ สามารถเตะถ่วงกระบวนการตรวจสอบ หรือยื้อเรื่องจนขาดอายุความได้ บางกรณีกว่าจะชี้มูล ผู้ถูกกล่าวหาก็พ้นจากตำแหน่ง หรือหมดวาระไปแล้ว
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ปัจจัยที่ก่อปัญหามากที่สุด ก็คือกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลในมหาวิทยาลัยเองที่พิกลพิการ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้จริง แต่กลับเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันแทน ซึ่ง "ล่าความจริง" มีตัวอย่างมานำเสนอให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

(คลิปข่าว) ระบบตรวจสอบไม่ทำงาน ...วิกฤติธรรมาภิบาลมหาลัย!




นี่คือหนังสือตอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในภาคเหนือ กล่าวหาว่าผู้บริหารของมหาวิทยาลัยบางคน นำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว คือการทอดผ้าป่าเสริมบารมีตัวเอง ฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัยอ้างว่า ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วสรุปว่าไม่มีมูลเพียงพอ จึงส่งเรื่องกลับไปให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบ จากนั้นสภามหาวิทยาลัยก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และลงความเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล นี่คือข้ออ้างของฝ่ายผู้บริหารมหาวิทยาลัย

แต่คุณผู้ชมลองดูเอกสารที่ ป.ป.ช.ทำถึงมหาวิทยาลัย ใช้คำว่า "ป.ป.ช.มีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา" คำถามก็คือ ถ้อยคำแบบนี้ ป.ป.ช.เขาชี้ว่าข้อกล่าวหามีมูล หรือไม่มีมูลกันแน่

มหาวิทยาลัยชื่อดังอีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ถูกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. ชี้มูลความผิดในโครงการเดินทางไป "ทัวร์ต่างประเทศ" โดยอ้างว่าเป็น "การศึกษาดูงาน" แต่ไม่ได้ไปดูงานจริง เพราะใช้ชื่อว่า "ทัวร์ยุโรปเมืองโรแมนติกในฝัน" ใช้งบประมาณสูงถึง 6 ล้านบาทเศษ มีผู้บริหาร กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอาจารย์ร่วมคณะถึง 40 คน แถมยังไม่มีการประกวดราคาตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งๆ ที่มูลค่าโครงการสูงถึง 6 ล้านบาท


กรณีนี้ คตง.ชี้มูลตั้งแต่ปีที่แล้ว ให้ถอดถอนผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดทัวร์ แต่จนถึงป่านนี้ สภามหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีมติให้ถอดถอน แถมยังเสนอเรื่องขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี ซึ่งเป็นคนที่ถูก คตง.ชี้มูลด้วย จนมีหนังสือตีกลับจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. แต่ทางสภามหาวิทยาลัยก็ไม่ขยับทำอะไรต่อ

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด แต่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯก็ยังมีปัญหาคล้ายๆ กัน อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนฯ ที่สร้างอาคารสูง 15 ชั้่นมานานกว่า 10 ปีแต่ยังไม่แล้วเสร็จ จนถูกขนานนามว่า "มหาวิทยาลัยตึกร้าง" ปรากฏว่ามีคณาจารย์ทำเรื่องร้องเรียนปัญหาการทุจริตและความไร้ธรรมาภิบาลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยไปยังองค์กรตรวจสอบต่างๆ ถึง 9 เรื่อง แต่ผ่านมาหลายปี กลับไม่มีอะไรคืบหน้า

นี่คือเอกสารสรุปที่กลุ่มคณาจารย์ทำถึงองค์กรตรวจสอบต่างๆ ทั้ง สตง. และ ป.ป.ช. ซึ่งล้วนเป็นเรื่องเก่าที่เคยร้องเรียนเอาไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น เช่น กรณีการก่อสร้างอาคารเรียนสูง 15 ชั้น ซึ่งสร้างมานานกว่า 1 ทศวรรษแล้วยังไม่เสร็จเสียที มีการบอกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาไปแล้ว 2 ราย แถมยังมีการของบประมาณเพิ่มเพื่อติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ทั้งๆ ที่อาคารยังสร้างไม่เสร็จอีกด้วย

อีกกรณีหนึ่ง คือการทำหลักฐานเท็จเบิกจ่ายงบจัดสัมมนาของมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อนักเรียนโรงเรียนในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นเอกสารทั่วไปในอินเทอร์เน็ต มาแอบอ้างเป็นผู้เข้าร่วมการสัมนา บางคนเสียชีวิตไปแล้วก็มี แต่กลับมีชื่อมาร่วมสัมมนา แม้กรณีนี้มหาวิทยาลัยจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ปรากฏว่าผลการสอบสวนให้ลงโทษแค่ตักเตือน ภายหลังมีผู้นำเรื่องไปร้องต่อ ป.ป.ช. และ ป.ป.ช.ส่งหนังสือเร่งรัดให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จึงเพิ่งมีการส่งนิติกรไปแจ้งความ


นอกจากนั้นยังมีกรณีการรื้อถนนในมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จไม่นาน เพื่อของบประมาณก้อนใหม่ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการนิทรรศการถวายความอาลัย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีลักษณะของการจัดซื้อจัดจ้างในราคาสูงเกินจริง โดยเฉพาะป้ายไวนิล และสติ๊กเกอร์ติดบอร์ดเรื่องทั้งหมดนี้มีการร้องเรียนไปยังองค์กรตรวจสอบต่างๆ แต่กลับพบปัญหากระบวนการไต่สวนล่าช้า หรือบางกรณีแม้ไม่ล่าช้า แต่เมื่อมีการชี้มูลความผิดจากองค์กรตรวจสอบ แล้วส่งเรื่องกลับมายังมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการใดๆ แถมเก็บเรื่องเงียบไว้ในลิ้นชัก

นี่คือปัญหาธรรมาภิบาลในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งการตรวจสอบไม่มีความคืบหน้า แถมยังมีการกลั่นแกล้งกลุ่มอาจารย์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอีกด้วย ดังที่เอกสารสรุปข้อร้องเรียนฉบับนี้เขียนไว้ในย่อหน้าสุดท้ายที่ว่า การตรวจสอบทุจริตในสถาบันอุดมศึกษา เหมือนไม่สามารถเอาผิดใครได้ นี่จึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่อีกข้อหนึ่งของ คสช. ในฐานะที่เคยประกาศว่าเป็นรัฐบาลปราบโกง ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

logoline