svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดทัพเรือ โมเดลป้องกัน "หมาบ้า" ยั่งยืน

12 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปี แถมยังมีข่าวคราวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตจัดซื้อวัคซีนปลอม ไม่ได้คุณภาพ แม้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเร่งหาวิธีแก้ไข แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แม้กระทั่งแนวคิดการ "เซ็ตซีโร่" ก็ถูกกลุ่มคนรักสุนัขคัดค้านอีก

ศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดทัพเรือ โมเดลป้องกัน "หมาบ้า" ยั่งยืน

จริงๆ แล้วการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นทุกปี หนักบ้างเบาบ้างแตกต่างกันไป ต้นตอหนึ่งของการแพร่ระบาด เกิดจากปัญหา "สุนัขจรจัด" ซึ่งสุนัขเหล่านี้มีอยู่ทุกที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งในค่ายทหาร อย่างที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ของกองทัพเรือ ก็มีมากกว่า 1 พันตัว แต่คุณผู้ชมเชื่อไหมว่า ทหารสามารถบริหารจัดการสุนัขเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี สุนัขทุกตัวได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและโรคอื่นๆ อย่างครบถ้วน แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่โรคพิษสุนัขบ้า ยังมีปัญหาอื่นๆ พ่วงตามมาอีก พวกเขาจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร ทีมล่าความจริงลงพื้นที่ไปหาคำตอบมาฝากกัน ติดตามกับ คุณอัญชลี อริยกิจเจริญ

พื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในความดูแลของกองทัพเรือ มีการตั้ง "ศูนย์ดูแลสุนัขจรจัด" ขึ้นมา 3 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้องหมาเร่ร่อน สร้างความรำคาญให้กับคนในพื้นที่ และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา ปัจจุบันมีสุนัขจรจัดมากกว่า 1 พันตัว และแมวจรจัดอีกหลักร้อยตัว

ศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดทัพเรือ โมเดลป้องกัน "หมาบ้า" ยั่งยืน



การบริหารจัดการของทั้ง 3 ศูนย์เป็นไปด้วยดี แม้งบประมาณที่ได้รับอาจไม่เพียงพอต่อการดูแลน้องหมาน้องแมวเหล่านี้ แต่ก็ยังสามารถทำงานตามภารกิจได้ เพราะมีผู้ใจบุญบริจาคทั้งเงิน ยา อาหารสด และอาหารเม็ดเข้ามาเรื่อยๆ แต่ละเดือนมากน้อยต่างกันไป

ส่วนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังแพร่ระบาด และวัคซีนขาดตลาดอยู่ในปัจจุบัน แถมยังมีปัญหาเรื่องวัคซีนด้อยคุณภาพ แต่ปรากฏว่าทั้ง 3 ศูนย์ของกองทัพเรือกลับไม่มีความกังวล ซ้ำยังจับสัตว์ทุกตัวฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ และการทำหมันด้วย แต่ในอนาคตหากวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ายังขาดตลาดหนักขึ้น ก็ต้องวางแผนบริหารจัดการกันใหม่

ศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดทัพเรือ โมเดลป้องกัน "หมาบ้า" ยั่งยืน

แน่นอนว่า เมื่อบริหารจัดการได้ดี ย่อมมีคนนอกนำสุนัขและแมวมาฝากเลี้ยง หรือไม่ก็เอามาปล่อยทิ้งไว้ในพื้นที่กองทัพเรือ ทั้งที่แต่ละศูนย์ก็รับดูแลเต็มอัตราแล้ว ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องหาวิธีนำสัตว์เหล่านี้ออกจากพื้นที่ ซึ่งก็คือการให้ไปอยู่กับเจ้าของใหม่นั่นเอง แต่นั่นก็เป็นเรื่องยาก จึงต้องมีกระบวนการสร้างคุณค่าให้กับน้องหมา เพื่อให้ผู้ใจบุญต้องตาต้องใจ และนำมันไปเลี้ยง

ด้วยความที่ "ศูนย์ฝึกทหารใหม่" มีพลทหารเวียนเข้ามาประจำการอยู่แล้ว ผู้บังคับบัญชาจึงคัดเลือกพลทหารที่เต็มใจและมีใจรักสุนัข มาช่วยกันฝึกน้องหมาเหล่านี้ โดยมีครูพี่เลี้ยงจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินมาช่วยสอนให้ก่อน เริ่มจากง่ายไปหายาก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ปัจจุบันมีครูฝึก 2 รุ่นแล้ว จากนั้นพลทหารจะเวียนไปประจำการที่ศูนย์ฯอื่น เพื่อช่วยสอนน้องหมาชุดใหม่ต่อไป
แม้การฝึกสุนัขจรจัดจะเป็นการสร้างคุณค่าเพื่อให้มีผู้สนใจรับไปอุปการะ แต่บางคนมองว่าอาจไม่ได้ผล จึงมองไปที่เรื่องของความซื่อสัตย์มากกว่า อย่างชายคนนี้รับน้องหมาจากศูนย์ฯ กองเรือยุทธการ ไปดูแลเกือบ 30 ตัว ให้ข้อคิดที่น่าสนใจ

ทุกวันนี้ แต่ละศูนย์ฯ ขอแจ้งงดรับสุนัขและแมว เพราะพื้นที่รองรับไม่เพียงพอ พร้อมฝากข้อคิดถึงผู้เลี้ยงทุกคน ว่าควรให้ความรักความเอาใจใส่ ดูแลจนถึงวินาทีสุดท้าย อย่าให้น้องหมาน้องแมวต้องมาเป็นภาระกับสังคม เพราะนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของโรคพิษสุนัขบ้าด้วย

logoline