svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

พบเส้นทางเงิน "โกงคนจน" โยง "ซี 10 พม."

19 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กว่า 49 จังหวัดแล้วที่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ตรวจพบการทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ กระทรวง พม. ในปีงบประมาณ 2560

เจ้าหน้าที่ใช้เวลาเพียง 1 เดือน ก็พบการทุจริตจำนวนกว่า 100 ล้านบาท คิดเป็น 85% ของงบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ เรียกได้ว่าไปที่ไหนก็พบร่องรอยการทุจริตที่นั่น

พบเส้นทางเงิน "โกงคนจน" โยง "ซี 10 พม."


จังหวัดที่ตรวจสอบพบความผิดปกติที่ผ่านมามีจำนวน 44 จังหวัด วันนี้เพิ่มเป็น 49 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ กำแพงเพชร พังงา สกลนคร และจันทบุรี นอกจากนั้นยังมีการทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งในส่วนของนิคมสร้างตนเองอีก 2 แห่ง ที่จังหวัดอุดรธานี และขอนแก่น โดยคณะกรรมการ ป.ป.ท. รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 7 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี ตราด น่าน และเตรียมส่งเรื่องเพิ่มอีก 27 จังหวัด

แผนประทุษกรรมการทุจริตทั้งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 49 จังหวัด และนิคมสร้างตนเองอีก 2 จังหวัด ล้วนมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน คือปลอมเอกสารการเบิกเงินทั้งหมด โดยผู้มีรายชื่อไม่ได้รับเงินเลย หรือปลอมเอกสารบางส่วน แต่ผู้มีรายชื่อก็ไม่ได้รับเงินเช่นกัน หากได้รับก็รับเพียงบางส่วน และสุดท้ายคือผู้ที่ได้รับเงินมีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความพยายามล็อบบี้ชาวบ้านให้บอกกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ว่าได้รับเงินครบถ้วนแล้ว เพื่อเอาตัวรอดให้พ้นผิด

ข้อมูลจาก ป.ป.ท. ระบุว่า นิคมสร้างตนเองที่เป็นเป้าหมายในการตรวจสอบ ได้รับงบประมาณเกิน 5 ล้านบาททั้งสิ้น อย่างนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จังหวัดอุดรธานี งบประมาณ 7,030,000 บาท นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี งบประมาณ 5,030,000 บาท นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น งบประมาณ 11,700,000 และนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล งบประมาณ 10,980,000 บาท พฤติการณ์ที่ตรวจสอบพบก็คล้ายๆ กับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่มีลักษณะมุ่งเน้นให้เงินทุนกลุ่มวิชาชีพมากกว่า และมีการเบิกสงเคราะห์หลายครั้งต่อปี

พบเส้นทางเงิน "โกงคนจน" โยง "ซี 10 พม."


ข้อมูลเชิงลึกที่ทีมล่าความจริงได้รับก็คือ สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เลือกตรวจสอบนิคมสร้างตนเองในพื้นที่ภาคอีสานก่อน นอกจากเป็นเพราะงบประมาณการเบิกจ่ายอยู่ในระดับสูง 5-10 ล้านบาทแล้ว ยังพบว่าอดีตผู้ปกครองนิคม และอดีต ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในพื้่นที่แถบนี้ ล้วนเติบโตไปดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวง พม.ทั้งสิ้น จึงเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการ "ส่งส่วยเงินทอน" แลกกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ

วิธีการทอนเงินมี 2 วิธี วิธีแรก คือการถือเงินสดไปให้กับข้าราชการระดับสูงในกระทรวง พม. กับอีกวิธีหนึ่ง คือการโอนผ่านบัญชีธนาคารของลูกน้องคนสนิทของข้าราชการระดับสูงในกระทรวง พม.


ข้อมูลจากแหล่งข่าวยังพบว่า ขณะนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวน 40 คน พบพิรุธที่ข้าราชการระดับ ซี 10 ของกระทรวงง พม.คนหนึ่ง มีเงินโอนเข้าบัญชีหลักล้านบาท หลายครั้งในช่วงสิ้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่กระทรวง พม.มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกันด้วย จึงน่าเชื่อว่าเงินก้อนนี้อาจเป็น "เงินคนจน" ที่อาจถูกยักยอกมาใช้สำหรับการซื้อขายตำแหน่ง

logoline