svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

หมกเม็ดกฎหมายลูก เลื่อนเลือกตั้งยาว!

18 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"โรดแมพเลื่อนเลือกตั้ง" มาอีกแล้ว ล่าสุดมีการออกมาแฉข้อมูลว่า ในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวาระ 2 ชั้นแปรญัตติ ซึ่งดำเนินการโดย "คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ" นั้น ได้มีการ "จัดประชุมลับ" เพื่อเพิ่มเงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 90 วัน พอข่าวนี้ออกมา ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองออกมารุมถล่มกันทันที โดยชี้ว่านี่คือการ "หมกเม็ดกฎหมาย" เพื่อเลื่อนเลือกตั้งให้ คสช.

ผู้ที่ออกตัวแรงสุดในเรื่องนี้ คือ คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า ปกติกฎหมายเกือบทุกฉบับ ในมาตรา 2 จะเขียนหรือบัญญัติไว้ว่า "ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป" ฉะนั้นหากมีการไปเขียนถ้อยคำใหม่ ให้กฎหมายใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษานานถึง 90 วัน หรืออาจจะเว้นว่างไว้เหมือนเป็น "เช็คเปล่า" ให้เติมเองตามใจชอบ แบบนี้ก็เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ ช่วยพรรคทหาร ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจากโรดแมพเดิม คือเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เป็นกลางปีหน้าทันที

คุณนิพิฏฐ์ ยังบอกว่า คนที่คิดแบบนี้ได้ ต้องเป็นระดับเซียนทางกฎหมาย ซึ่งทาง คสช.มีเซียนแบบนี้อยู่หลายคน การเลื่อนเลือกตั้งออกไปจึงสามารถทำได้สบายมากแบบเนียนๆ ใครที่คิดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ตามที่ผู้มีอำนาจประกาศไว้ ก็ขอให้ไปเปิดฟังเพลง "ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง" ของรวงทอง ทองลั่นทม ฟังไปก่อนก็แล้วกันคุณนิพิฏฐ์ ยังย้ำด้วยว่า ส่วนตัวไม่เคยเชื่อว่าปี 61 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ และวันนี้ภาพก็ยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆอีกคนที่ออกมาวิจารณ์เช่นกัน คือ คุณสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่า ถ้าเรื่องที่เป็นข่าวว่ามีการ "จัดประชุมลับ" เพื่อให้กฎหมายบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุกเบกษา 90 วัน เป็นความจริงแล้วล่ะก็ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและคสช.ในสายตาประชาชนอย่างแน่นอนฟังฝ่ายที่กล่าวหาไปแล้ว หันมาฟังฝ่ายที่ถูกกล่าวหาบ้าง คุณเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกมาชี้แจงโดยยืนยันว่า ไม่มีการประชุมลับตามที่เป็นข่าว และท้าให้ไปถามกรรมาธิการวิสามัญฯ คนอื่นๆ ได้เลย

ล่าความจริงได้ข้อมูลจากกรรมาธิการฯท่านหนึ่ง ท่านชี้แจงแบบนี้ว่า เป็นเพียงแนวที่จะช่วยให้พรรคการเมืองสามารถเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งได้ทัน โดยเฉพาะการทำ "ไพรมารี โหวต" ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา แนวทางการเขียนกฎหมายขยายให้มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นทางออกให้ทำกิจกรรมการเมืองต่างๆได้ทัน แต่เรื่องนี้ยังไม่สรุป เพราะยังต้องรอประชุมกันอีกหลายครั้งกรรมาธิการฯเขาชี้แจงมาแบบนี้ ก็พอฟังได้ และเรื่องทำท่าจะจบ แต่คนที่ไม่ยอมให้จบ กลับเป็น "คุณวิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ออกมาบอกว่า หากจะขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายจริง สนช.จะถามรัฐบาลก็ได้ หรือจะพูดคุยกันเองภายใน สนช.ก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเมื่อออกกฎหมาย หรือพระราชบัญญัติแล้ว จะต้องให้มีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น จึงสามารถเขียนกำหนดว่าจะให้มีผลใช้บังคับเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น บางฉบับให้ใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 30 วัน 60 วัน 90 วัน หรือ 120 วันก็ได้ จุดประสงค์ที่รอเวลาให้มีผลใช้บังคับ ก็เพื่อให้คลี่คลายปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น
ท่านรองนายกฯ วิษณุ ซึ่งเป็นมือกฎหมายของรัฐบาลและ คสช. พูดแบบนี้ ก็ต้องบอกว่า แนวโน้มยื้อบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไปอีก 90 วันก็คงจะจริงแล้ว และการเลือกตั้งใหญ่ปลายปีนี้ก็คงไม่เกิดขี้นค่อนข้างแน่

logoline