svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทางแก้...วังวนคนคุก!

02 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงก่อนสิ้นปี "ล่าความจริง" ได้นำเสนอวิกฤตการณ์นักโทษล้นเรือนจำ เป็นรายงานพิเศษมาแล้ว 2 ตอน ทั้ง 2 ตอนนอกจากสะท้อนปัญหาผู้ต้องขังที่มีจำนวนมากเกินกว่าความสามารถของเรือนจำจะรับไหวแล้ว ยังพบปัญหา "ผู้คุม-พัศดี" และผู้ที่ทำหน้าที่ "พยาบาล" คอยดูแลนักโทษทุกเพศทุกวัย อยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างหนักด้วย บางเรือนจำมีผู้ต้องขังเกือบหมื่นคน แต่มีพยาบาลดูแลแค่ 2-3 คน

เหตุนี้เอง พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ จึงมุ่งเน้นเป็นพิเศษเพื่อมอบนโยบายให้แก่ผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศในช่วงก่อนสิ้นปี พร้อมเข้าตรวจเยี่ยมเรือนจำกลางบางขวาง เพื่อสังเกตการณ์มาตรการคุมขังนักโทษในคดีอุกฉกรรจ์ และผู้ต้องโทษประหารชีวิต ทั้งยังได้ตรวจเยี่ยมโรงฝึกอาชีพช่าง แดน 8 ของเรือนจำบางขวางด้วย ซึ่งกรมราชทัณฑ์เตรียมสถานที่แห่งนี้ไว้เพื่อรองรับผู้ต้องขังที่ต้องโทษคดีผลิตอาวุธปืนเถื่อน หรือ "ปืนไทยประดิษฐ์" ที่กองทัพบกจะส่งนายทหารผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฝึกทักษะ เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอาวุธปืน รองรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตามนโยบายของสภากลาโหม

พลอากาศเอก ประจิน มอบนโยบายการทำงานให้กับกรมราชทัณฑ์ว่า ที่ผ่านมายังมีปัญหาใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ

1.ปริมาณผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ขณะนี้มีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศราว 320,000 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนเจ้าหน้าที่และผู้คุมที่มีสัดส่วนน้อยมาก ที่สำคัญนักโทษส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด ซึ่งเป็นผู้เสพและผู้จำหน่ายรายย่อย ฉะนั้นกรมราชทัณฑ์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรมจึงต้องไปหารือกับหน่วยงานต้นน้ำ เพื่อแก้ไขให้สังคมมีความเข้มแข็ง ไม่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดและการกระทำผิดกฎหมาย

2.สังคมภายนอกไม่ยอมรับผู้พ้นโทษออกจากเรือนจำ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำ ไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน จึงต้องหวนกลับเข้าสู่วงจรของการกระทำความผิดซ้ำ จึงต้องให้กรมราชทัณฑ์ปรับปรุงรูปแบบการ "คืนคนดีสู่สังคม" โดยจะเน้นด้านการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังตามภูมิลำเนาของแต่ละราย เพื่อให้มีตำแหน่งงานรองรับในท้องถิ่น หลังจากผู้ต้องขังพ้นโทษและกลับไปอยู่บ้าน

3.ปัญหาผู้พ้นโทษกลับมากระทำผิดซ้ำ ที่ผ่านมามีอัตราผู้ต้องขังที่พ้นโทษกระทำผิดซ้ำเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยปีแรก (หมายถึงพ้นโทษไปแล้วและกระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปีหลังพ้นโทษไป) มีผู้กระทำผิดซ้ำ รอยละ 19 ปีที่ 2 มีผู้กระทำผิดซ้ำร้อยละ 24 และปีที่ 3 มีผู้กระทำผิดซ้ำ ร้อยละ 27 รวมตัวเลข 3 ปี มีผู้กระทำผิดซ้ำถูกส่งกลับเรือนจำเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ต้องขังที่พ้นโทษ (นี่ถือว่าวิกฤติมาก) จึงเป็นการบ้านของกรมราชทัณฑ์ที่ต้องสร้างความพร้อมให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกกับสังคม และเปิดตลาดงานรองรับให้มากที่สุด

logoline