svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เกษตรพึ่งตนเอง... ทางรอดเจ๋งๆ คนเคยผ่านคุก

02 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 1 พันไร่ ภายในทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก จังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในโครงการฝึกอาชีพผู้ต้องขังอย่างครบวงจร ภายใต้การขับเคลื่อนของ "โครงการกำลังใจในพระดำริ" พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ โดยทางกรมฯได้ทำโครงการศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ สุกรขุน และการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพด้านเกษตรกรรมให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งที่นี่เป็นทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย

การทำเกษตรกรรม นับเป็นอาชีพ "ฐานราก" ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ตรงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และการพึ่งตนเอง หรือ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เหตุนี้เองการฝึกอาชีพเกษตรกรรมให้กับผู้ต้องขัง ย่อมทำให้พวกเขาได้รับความรู้ และสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้หลังพ้นโทษออกไปแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องไปสมัครงานกับภาคเอกชนที่อาจต้องถูกตรวจสอบประวัติ หรือถูกกีดกันเนื่องจากเป็น "คนเคยผ่านคุก"

ผู้อำนวยการทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก บอกกับทีมล่าความจริงว่า นอกจากฝึกวิชาชีพด้านเกษตรกรรมให้กับผู้ต้องขังแล้ว สิ่งสำคัญกว่าที่มอบให้ก็คือ วิธีการลดต้นทุนการผลิต และความรู้ในการหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าของตนเอง ป้องกันการขาดทุนและการถููกแทรกแซงจากพ่อค้าคนกลาง

ปัจจุบันหลายๆ เรือนจำได้ขยายขอบเขตงานคล้ายๆ กับทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก บางแห่งจับมือกับธุรกิจเอกชนรายใหญ่ให้เข้าไปจัดโครงการฝึกอาชีพด้วยการทำการเกษตรจริงๆ บนพื้นที่จริง และภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการก็จะรับตัวผู้ต้องขังที่มีคุณภาพ มีความตั้งใจจริง เข้าไปทำงานหลังพ้นโทษแล้ว

นอกเหนือจากการสร้างอาชีพด้านเกษตรกรรมแล้ว ล่าสุดกระทรวงกลาโหม ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ยังมีแนวคิดในการคัดเลือกผู้ต้องขังที่มีความสามารถเฉพาะทางให้เข้าไปช่วยงานภาครัฐ โดยเตรียมคัดเลือกผู้ต้องขังในคดีผลิตอาวุธปืน และดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธปืน จำนวน 70 คน เพื่ออบรมทักษะที่ถูกต้อง แล้วนำไปช่วยงานราชการในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยรัฐบาลจะมีตำแหน่งให้ 33 อัตราในสังกัดกองทัพบท แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคหรือช่างผลิต 20 อัตรา และเจ้าหน้าที่บริการอีก 13 อัตรา

นอกจากนั้น ที่ประชุมสภากลาโหมนัดส่งท้ายปี ยังมีมติให้ดึงผู้ต้องขังที่มีความสามารถด้านอื่นๆ ไปช่วยงานราชการ และสี่งเสริมเอสเอ็มอีด้วย เช่น ผู้ที่มีความสามารถในการซ่อมรถจักรยานยนต์

ภารกิจ "คืนคนดีสู่สังคม" เป็นเป้าหมายที่ท้าทายหน่วยงานปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรมอย่างกรมราชทัณฑ์ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว ทักษะชีวิตเหล่านี้ยังจะเป็น "ภูมิคุ้มกัน" ให้กับ "คนเคยผ่านคุก" ไม่ให้ย้อนกลับสู่วงจรเดิมๆ อีก

logoline