svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ฟื้นป่าน่าน...เมื่อชาวบ้านยอมคืนผืนป่าที่เคยบุกรุก

01 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์การบุกรุกพื้นที่ป่าที่วิกฤติมากที่สุด กระจายอยู่ใน 12 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบูรณ์ , พิษณุโลก , สุโขทัย , น่าน , ลำปาง , อุบลราชธานี , เชียงใหม่ , แม่ฮ่องสอน , ตาก , นครราชสีมา , เลย และกระบี่ จะเห็นได้ว่าจังหวัดน่านติดกลุ่มที่มีปัญหาหนักหนาที่สุดด้วย

หากย้อนภาพของเมืองน่่านเมื่อหลายสิบปีก่อน จะพบว่าเต็มไปด้วยภูเขาเขียวขจี มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพของภูเขาหัวโล้นกลับปรากฏให้เห็นจนน่าตกใจ ทำให้รัฐบาล คสช.ต้องเข้าไปจัดการ ใช้เวลาถึง 3 ปี ทั้งกวดขัน บังคับใช้กฎหมาย และความเข้าใจ ทำให้วันนี้พื้นที่ป่าในจังหวัดน่านได้รับการดูแลดีขึ้น กุญแจสำคัญของความสำเร็จ คือ การลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวบ้านในด้านการปลูกพืชตามแนวคิดป่า 7 ชั้น เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพ ทำให้ชาวบ้านเห็นการเปลี่ยนแปลง และยอมคืนพื้นที่ป่าให้กับรัฐมากกว่า 4 พันไร่

สาโรจน์ พนมพิบูล ผู้ใหญ่บ้านน้ำงาว อำเภอเมืองน่าน แกนนำชาวบ้านที่ร่วมกันคืนพื้นที่ป่ากว่า 4 พันไร่ให้กับภาครัฐด้วยความสมัครใจ เล่าว่า สาเหตุที่ตัดสินใจคืนพื้นที่ป่า เพราะพวกตนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดน่านตลอดหลายปี จึงอยากคืนพื้นที่ป่าให้กลับเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงต้องการลบภาพจำที่สังคมมองว่า พวกตนเป็นคนที่บุกรุกทำลายป่า

มุมมองของสาโรจน์ ไม่ต่างอะไรกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าเมี่ยน แบะเติบโตบนดอยน้ำงาว พวกเขาบอกว่า ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและต้องให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะหากปล่อยให้ป่าไม้เสื่อมโทรม ชาวเขาที่ต้องอาศัยธรรมชาติในการเลี้ยงชีพต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน

นอกจากการให้ความรู้กับชาวบ้าน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ วิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ เพราะหากชาวบ้านรู้สึกว่าข้าราชการเป็นที่พึ่งของพวกเขาได้ ความไว้วางใจแบะความร่วมมือก็จะเกิดขึ้น

ด้านผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ บอกกับทีมล่าความจริงว่า วิธีการที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน ก็คือ การน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และยุทธศาสตร์ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาปรับใช้

เมื่อรัฐกับชาวบ้านประสานมือกัน ก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา รวมทั้งการ "ทวงคืนผืนป่า" เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย

logoline