svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"PRIMETIME กับ เทพชัย" : อิสรภาพชั่วคราว..ผ่านบำบัดนักโทษ PART2

27 ธันวาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อชีวิตหลังการพ้นโทษจากเรือนจำ อาจเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการใช้ชีวิตของอดีตผู้ต้องขังหลายคน จนอาจทำให้เขาพ่ายเเพ้และหวนกลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้ง สิ่งใดที่ระบบราชทัณฑ์ของไทยจะช่วยเตรียมชีวืตหลังพ้นโทษของพวกเขาได้?

ถึงแม้จะไม่ใช่ก้าวที่จะนำไปสู่อิสรภาพ  แต่ก็เป็นก้าวที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดสำหรับนักโทษเหล่านี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับไปสู่ชีวิตปกติในสังคมอีกครั้ง นักโทษกลุ่มนี้มีเวลาอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวันจาก 7 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาพร้อมจะหันหลังให้อดีตที่ขมขื่นและโหดร้ายเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็น 10 ชั่วโมงที่นักโทษคนนี้และเพื่อนๆ ทิ้งความเลวร้ายในเรือนจำกลางฉะเชิงเทราไว้เป็นการชั่วคราว และใช้ชีวิตเสมือนหนึ่งพวกเขาอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง
"พวกเขาตอกบัตรเพื่อเข้างานในทุกเช้า ซื้อหาอาหารสำหรับมื้อกลางวัน พักผ่อนหย่อนใจในช่วงบ่าย และตอกบัตรเลิกงานในตอนเย็น ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดอิสรภาพชั่วคราวสำหรับวันนั้น..."
แต่เมื่อชั่วโมงทำงานหมดลง  คนเหล่านี้ก็ต้องกลับไปอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่แสนโหดร้าย เช่นเดียวกับนักโทษอีกหลายหมื่นหลายแสนคนในเรือนจำทั่วประเทศไทย โลกที่ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในสภาพที่แออัดยัดเยียดและอุดอู้  พื้นที่สำหรับการหลับนอนแทบไม่มีเหลือ
ภาวะที่แออัดยัดเยียดและสภาพเรือนจำที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เพียงส่งผลต่อสภาพร่างกายของพวกเค้าเท่านั้น.. เพราะหากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างนี้ สภาพจิตใจของพวกเค้าต่างหากที่อาจจะยากเกินเยียวยา แต่สิ่งที่อาจจะเลวร้ายกว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยแรงกดดันและความแออัดในเรือนจำ คือชีวิตใหม่ในโลกภายนอกที่มาพร้อมกับอิสรภาพ 
เมื่อนักโทษเข้าสู่เรือนจำ ทุกทีจะศูนย์ฝึกอาชีพ เตรียมความพร้อมผู้ต้องขัง  รับจ้างแรงงาน  ทั้งงานปัก  งานฝีมือ  ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้ภาคเอกชนได้ด้วย เพียงแต่ว่า สภาพในเรือนจำที่แออัด ยัดเยียดอย่างที่เห็น จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่อาจไม่ได้สร้างความสุขและเตรียมความพร้อมให้พวกก่อนพ้นโทษได้อย่างแท้จริงครับ
คำถามที่ตามมาก็คือ หากนักโทษยังต้องอยู่ในเรือนจำในสภาพแบบนี้ต่อไป อะไรจะเป็นหลักประกันว่า ทันทีที่ก้าวออกไปสู่อิสรภาพพวกเขาจะสามารถเริ่มชีวิตใหม่ได้และจะไม่หวนกลับมาที่นี่อีก สิ่งที่ไพร์มไทม์ค้นพบคือ กระบวนการบำบัดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายใต้ระบบราชทัณฑ์ที่มีอยู่อาจเพียงแค่การประวิงเวลาเท่านั้น ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเตรียมพร้อมให้นักโทษปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และให้โอกาสในการเรียนรู้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีมากกว่าลูกกรงและความหดหู่ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้คนเหล่านี้มองชีวิตในแง่มุมใหม่
หนึ่งในผู้ประกอบการ ที่ตัดสินใจร่วมมอบอิสรภาพชั่วคราวให้กับพวกเค้านั้น นั่นก็คือ โรงงานประกอบรถยนต์ที่บางปะกง และนั่นคือการจุดประกายความหวังให้พวกเค้า มีนักโทษชั้นดี 20 คน ได้ทำงานอิสระอย่างเต็มที่  จะเป็นช่างเชื่อม ช่างเจาะ อ๊อกเหล็กก็ได้ อย่างตามที่ถนัด ที่สำคัญ  พวกเค้าเข้างาน 8 โมงเช้า  เลิก 5 โมงเย็น  มีพักเที่ยงกินข้าว  แสกนบัตรเข้าออกงาน  เหมือนชีวิตหนุ่มสาวออฟฟิศ หรือพนักงานปกติทั่วไป"
ถ้านักโทษเหล่านี้พร้อมจะกลับไปใช้ชีวิตปกติในสังคมได้อีกครั้ง จุดเริ่มต้นอาจจะอยู่ที่ทุกนาทีที่พวกเขาทดลองใช้ชีวิตในโรงงานแห่งนี้ ความพร้อมในการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองของนักโทษอาจจะเป็นคำตอบส่วนหนึ่ง แต่ความตั้งใจและความุ่งมั่นของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการให้อากาศนักโทษ ก็มีความสำคัญพอๆ กัน
ศรีวัฒน์ ไตรจักรภพ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทพานทอง อัลไลแอนซ์ จำกัด บอกรับรายการไพร์มไทม์ว่า "...ผมจะเข้าไปเลือกด้วยตัวเอง ว่านักโทษชั้นดี ชั้นเยี่ยมคนไหน ที่เคยเรียนอะไรมา หรือว่ามีทักษะอย่างไรบ้าง ผมจะไปด้วยตัวเองทั้งหมด แล้วก็คัดเข้ามาเองทั้งหมด เพื่อให้เหมาะกับงาน อย่างที่นี่ทำธุรกิจประกอบรถทัวร์ รถขนาดใหญ่ เราต้องการช่างเชื่อมช่างเหล็กเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผมจึงคัดน้องๆผู้ต้องขังมาทั้งหมดด้วยตัวเอง  พอมาถึง ก็เลือกทำงานอย่างที่ตัวเองถนัด ผมให้อิสระเต็มที่ มาถึง 8 โมงเช้า แสตมป์บัตร จากนั้นเริ่มทำงาน พักเที่ยง 1 ชั่วโมง ซื้อข้าวกินข้าว มีเวลาพักผ่อนฟังเพลง ฟังวิทยุ  บ่ายโมงทำงานต่อ พอห้าโมงเย็น ก็แสตมป์บัตรเลิกงาน ขึ้นรถกลับเรือนจำเราให้พวกเค้าใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ให้ค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน ได้ค่าแรงขั้นต่ำ เท่าเทียมกันทั้งหมด มีเพื่อน มีฝูง มีดนตรี มีชีวิต เราให้ชีวิตกับพวกเค้า..."
แต่ไม่ว่าพวกเขาเหล่านี้จะพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมใหม่ในโรงงานแห่งนี้แค่ไหน แต่ทุกคนก็ยังมีสถานะเป็นนักโทษหลายคนอาจเคยผ่านชีวิตที่คนในสังคมทั่วไปยอมรับไม่ได้ด้วยซ้ำ   อะไรทำให้ผู้ประกอบการอย่างศรีวัฒน์ ไว้วางใจคนแปลกหน้าเหล่านี้
"..ผมบอกตรงๆว่า ผมใช้ใจ ผมเชื่อใจ เพราะพวกเค้าคือนักโทษชั้นดี ชั้นเยี่ยม ผ่านกระบวนการบำบัด ใกล้จะพ้นโทษ.. ผมเชื่อมั่นในแววตาของพวกเค้า ตอนที่ผมเข้าไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง.. แววตาพวกเค้าคืออยากแสดงความสามารถ.. ดังนั้น เราจึงเชื่อใจซึ่งกันและกัน.." ความเชื่อใจที่ศรีวัฒน์มีต่อคนเหล่านี้ได้รับการตอกย้ำจากคนที่ถือว่าใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้มากที่สุด แต่ใช่ว่า ผู้ประกอบการทุกรายจะมั่นใจถึงขนาดใช้เพียงแค่หัวใจเป็นเครื่องยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย
ความเชื่อใจที่นักโทษชั้นดีได้รับจากผู้ประกอบการ อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรางวัลแห่งการสู้อดทนฟันฝ่า แต่ความสามารถของพวกเค้าที่แท้จริง ยังมีคุณค่ามากไปกว่านั้น เพราะมัน อาจนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าของพวกเค้าในอนาคต หนึ่งในอดีตนักโทษ ที่เคยได้รับโอกาสพลิกชีวิตตัวเอง  ไม่เคยลืมห้วงเวลาที่มีความหมายที่สุดที่มีผลมาจนถึงชีวิตทุกวันนี้
อดีตผู้ต้องขัง ที่พ้นโทษ บอกรับรายการไพร์มไทม์ว่า "..มีความสุขมากครับในตอนนั้น เหมือนได้รับชีวิตอิสระ คือมันไม่อึดอัด มันสบายใจ มันเห็นท้องฟ้า เห็นเมฆ เห็นบรรยากาศการทำงาน ที่ผมสูญเสียมัญไป แล้วผมเคยมีประสบการณ์การทำงานช่างมาก่อนด้วย ก็จะสบายมาก เอาวิชาความรู้เก่ามาใช้ ทุกวันนี้ก็ตั้งใจทำงาน หลังได้รับอิสรภาพ เฮียก็รับเข้ามาทำงานต่อเลย มีความสุขมากๆ ตอนที่เรายังฝึกงานอยู่ก็พยามยามตั้งใจทำให้ดีที่สุด.."
อิสรภาพชั่วคราวนอกเรือนจำ อาจทำให้ผู้ต้องขังได้เตรียมพร้อม ก่อนต้องเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงที่พร้อมทิ่มแทงพวกเขา จนอาจต้องหวนกลับมาในเรือนจำอีกครั้งในอนาคตและมัน ก็เป็นเวลาอีกพักใหญ่ ก่อนที่พวกเค้าจะได้รับอิสรภาพที่สูญเสียไปนั้น คืนกลับมา แต่ห้วงเวลาสุดท้าย ก่อนที่พวกเค้าจะได้รับอิสรภาพที่แท้จริง ลำพังแค่โลกเสมือนจริงจำลองนั้น ก็อาจยังไม่เพียงพอเพราะมันเป็นช่วงเวลาที่พวกเค้าต้องพร้อมที่สุดทั้งร่างกาย และจิตใจ ใน 3 เดือนสุดท้าย ก่อนพ้นโทษ
สถานเหล่านี้ดูแล้ว น่าจะเป็นที่พัก แปลงเกษตรกรรม หรือโรงเลี้ยงสัตว์ ของชาวบ้านปกติทั่วไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นที่คุมขังช่วงสุดท้าย ก่อนกรมราชทัณฑ์จะคืนอิสรภาพให้กับเหล่านักโทษ เรือนจำโครงสร้างเบาคือชื่อเรียกของสถานที่แห่งนี้ มันเป็นเรือนจำ ที่ไม่มีรั้วล้อมรอบ  มีเพียงลวดหนาม 3 ชั้น พร้อมโรงฝึกอบรมและพื้นที่ในการจัดกิจกรรมสำหรับนักโทษที่นี่ เรือนจำแห่งนี้มีสภาพที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่คุมขังทั่วไป ชีวิตที่ไร้อิสรภาพและเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอย่างเช่นที่เรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ยังอยู่ในความทรงจำของอดีตนักโทษคนนี้

หนึ่งในผู้ต้องขังในเรือนจำเพชรบูรณ์ บอกรับรายการไพร์มไทม์ว่า "..มันต่างกันมาก ที่นั่นผมคิดว่ามันเหมือนกับที่กักกัน มันไม่ได้เอื้อให้พวกผมดัดนิสัย หรืออบรมบ่มเพราะเลยนะ เพราะมันทั้งคับแคบ อึดอัดจริงๆ คือคนไม่เคยเข้าอาจจะนึกไม่ออก ต้องเข้าไปเอง  ผมไม่อยากกลับไปอยู่แบบนั้นอีก ส่วนที่นี่มันคือชีวิต มันมีความสุข มันมีอิสระ เราไม่เห็นกำแพงที่มันรู้สึกหดหู่ เรามีเพี่อน เราได้ฝึกอาชีพ ในช่วงโค้งสุดท้าย แล้วฝึกอย่างจริงจัง เรือนจำแบบนี้มันทำให้เราไม่รู้สึกถูกจองจำครับ  มันทำให้เรามุ่งมั่นจะฝึกฝนอย่างจริงจังที่สุด เหมือนมันเป็นแรงจูงใจให้เราตั้งใจเพื่อออกไปข้างนอกได้ดีที่สุด..."
ไม่ใช่เพียงแค่ความแตกต่างในด้านอาคาร  เรือนนอน วัสดุอุปกรณ์ หรือบรรยากาศที่สร้างความรู้สึกอิสระเท่านั้น   แต่เรือนจำโครงสร้างเบาแห่งนี้ ยังถูกออกแบบเพื่อเตรียมตัวให้นักโทษพร้อมที่จะกลับออกไปสู่สังคมภายนอกอีกครั้ง แต่ตราบใดที่ยังมีอดีตนักโทษกระทำผิดซ้ำและหวนกลับมายังสถานที่เหล่านี้อีก ก็คงมีคำถามอย่างแน่นอนว่าความพยายามของระบบราชทัณฑ์ในการบำบัดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักโทษเหล่านี้ได้ผลแค่ไหน 
พันตรีนภานันท์  โพธิชัยคะ หัวหน้าครูฝึก บอกรับรายการไพร์มไทม์ว่า"..ทุกคนที่เข้ามาที่นี่ เหลือโทษไม่ถึง 1 ใน 3 และเมื่อถึง 3 เดือนสุดท้าย พวกเค้าจะต้องเข้าหลักสูตรอย่างเข้มข้น ฝึกหนักทั้งหมด เน้นทั้งหมด ทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด สติปัญญา  อารมณ์ และแน่นอน วิชาชีพที่พวกเค้าถนัด เราจะฝึกพวกเค้า 12 สัปดาห์เต็ม ก็คือ 3 เดือนพอดี รวมทั้งหมด 714 ชั่วโมง ด้านร่างกาย  เราจะฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ต้องขัง  ฝึกระเบียบแถว  ฝึกออกกำลังกายทุกเช้า เย็น  ให้พวกเค้าพร้อมทางร่างกาย  พูดง่ายๆ คือเราใช้หลักสูตรทหารใหม่ของกองทัพบกเลย สำหรับนักโทษหญิง ก็มีการปรับให้เหมาะสมกับพวกเค้าครับ
ส่วนด้านจิตใจ  ก็จะเน้นหลักสูตรอบรม มีวิทยากรบรรยายเล่าเรื่องชีวิตจริง ในสังคม เอาให้เห็นว่าสถานการณ์ภายนอกตอนนี้มันเป็นยังไง มันสุ่มเสี่ยงแค่ไหน  เค้าอาจจะต้องออกไปเจอกับอะไร  เพื่อให้เค้าไม่ไปกระทำผิดซ้ำ พยายามปลูกฝังไปในจิตใจส่วนลึกให้ได้มากที่สุด ทำให้เค้าเห็นว่า อิสรภาพที่สูญเสียไป มันยากนะ ถ้าจะเอากลับคืนมาได้อีก
เราจะให้พวกเค้าทำทั้งฝึกสมาธิ  ฝึกจริยธรรม  เรียนรู้การช่วยเหลือ ผ่านโครงการต่างๆ ซ่อมแซมถนนหนทาง  ทำโครงการช่วยเหลือชาวบ้าน ให้สังคมภายนอกได้รับรู้ว่าพวกเค้าพร้อมแล้ว ทั้งหมดใช้เวลาวันละ 2 ชั่วโมงแต่สำคัญที่สุด คือการเตรียมพร้อมด้านอาชีพ  เราทำหมดเลย ฝึกฝนทักษะ ทั้งหมด เอาตามความถนัด ทั้งการทำเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว เย็บปักถักร้อย เอาให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่เพชรบูรณ์รวมถึง หากใครอยากจะออกไปทำบริษัทเอกชน โรงงาน เราก็มีผู้ประกอบการเข้ามาช่วยเหลือแนะนำ  รับสมัครงาน ที่นี่อีกด้วย ทั้งหมดเราเตรียมให้พวกเค้าตลอด 12 สัปดาห์ อย่างเข้มข้น.."
ท่ามกลางความสงสัยของคนไม่น้อยต่อหลักสูตรนี้นักโทษหลายคนยังมีความเชื่อว่ามันน่าจะมีส่วนผลักให้พวกเค้าพ้นจากวังวนแห่งความเลวร้าย และไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก ความพยายามครั้งล่าสุดผ่านหลักสูตรอันเข้มข้นใน 3 เดือนสุดท้ายที่เรือนจำโครงสร้างเบาของกรมราชทัณฑ์ จึงกลายเป็นความหวังครั้งสำคัญของเหล่านักโทษ  ก่อนที่พวกเค้า จะต้องออกไปเผชิญหน้ากับชีวิตจริงอันโหดร้ายในที่สุด
อาจารี ศรีสุนาครัว ผู้บัญชาการเรือนจำกลาง จ.เพชรบูรณ์ บอกรับรายการไพร์มไทม์ว่า "...ที่นี่อบรมกทุกอย่างด้วยความพอเพียงทำให้นักโทษทุกคนตั้งใจอยู่อย่างพอเพียง พอมี พอกิน พอใช้ เราปลูกฝังเค้าให้ลึกลงไปที่สุด ทุกอย่างคือปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พวกเราชาวเรือนจำเพชรบูรณ์ พยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อพวกเค้าและเชื่อว่า พวกเค้าทุกคนที่นี่ จะน้อมนำหลักปรัชญาของในหลวง ไปใช้ ตั้งใจฝึกฝนให้ดีที่สุดจากทุกๆหลักสูตร  ในทุกๆนาที  ออกไปประกอบสัมมาอาชีพ  ทำประโยชน์ให้สังคม และไม่คิดจะหวนกลับมาที่นี่อีกช่วงวันสุดท้ายเราสัญญาซึ่งกันและกัน ว่าเราจะเจอกันอีกครั้งที่นอกเรือนจำ ไม่ใช่ที่นี่..."
แม้จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยัน กับความพยายามครั้งล่าสุดของกรมราชทัณฑ์ ว่าจะไม่ทำให้เหล่านักโทษหวนกลับมาทำผิดซ้ำ และกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งที่นี่ แต่อย่างน้อย ก็เป็นความพยายามที่น่าจะดีที่สุดของระบบยุติธรรมของไทย ที่ให้ความเชื่อมั่นในเหล่านักโทษที่สู้อดทนฟันฝ่า มา

logoline