svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ว่าด้วยเรื่อง "กัญชา" รักษาโรค หลังสธ.ปลดล็อกพ้น "ยาเสพติด" 

17 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังศึกษาวิจัยกันมานานหลายปีสรรพคุณของกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรค ในที่สุดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎกระทรวงปลด "กัญชา" (Cannabis) ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมี 4 รายการ ประกอบด้วย กัญชา กระท่อม ฝิ่น และเห็ดขี้ควาย โดยการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 โดยให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงสามารถอนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืชกัญชาเพื่อสกัดเป็นยารักษาโรคในพื้นที่ที่รัฐมนตรีกำหนด

ในทางการแพทย์ กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคและบรรเทาอาการได้หลากหลาย แก้อาการไอ อ่อนล้า โรคข้อ กัญชา ใช้บรรเทาหอบหืด เพราะขยายหลอดลมและลดการหดตัวของหลอดลม แก้อาการสั่นเพ้อ ปวดหัวไมเกรน และปวดประจำเดือน แม้การใช้จะลดลงเมื่อมีการสังเคราะห์ยากล่อมประสาท และยาแก้ปวดอื่น หรือกระทั่งโรคมะเร็ง กัญชาก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อรักษาผลข้างเคียง ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด ใช้เป็นสารกระตุ้นความอยากอาหาร กัญชาจะช่วยชะลอน้ำหนักลดในโรคมะเร็ง และโรคเอดส์ หรือการใช้รักษาโรคต้อหิน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสรรพคุณพืชกัญชา

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเห็นด้วยอย่างยิ่งระหว่างนำคณะเข้าพบนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และผู้บริหารระดับสูง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 เมื่อรู้ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงปลดล็อก "กัญชา" พ้นจากพืชยาเสพติดแล้ว โดยเขาระบุว่า หากให้พืชกัญชาสามารถปลูกได้ถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี 

ทั้งยังได้เตรียมเปิดเวทีถกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การเภสัชกรรม ป.ป.ส. หัวข้อ "กัญชาเป็นยารักษาโรค" ในระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์นี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีนักวิชาการ แพทย์ นักกฎหมาย และผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก จากนั้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ก็จะนำคณะลงพื้นที่สำรวจพื้นที่นำร่องเป็นที่แรกประมาณ 5,000 ไร่บริเวณเขตเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร เพื่อเข้าไปพูดคุยกับผู้ที่รับผิดชอบในพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสงคราม ถือเป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์พืชกัญชาที่ดีที่สุดในอดีตและในประวัติศาสตร์ได้มีการพูดถึงหลายครั้ง หลังจากที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

หลังจากนั้น ในเดือนมีนาคม 2561 สภาเกษตรกรฯ จะจัดเวทีวิชาการเรื่อง "พันธุกรรมของกัญชา" เนื่องจากกัญชาเป็นพืชเมืองร้อน พันธุกรรมและสรรพคุณทางยาที่ดีจะอยู่ในเขตเมืองร้อนทั้งนั้น ซีกโลกตะวันตกไม่มี เพราะสภาพพื้นที่ภูมิอากาศเหมาะสมกับการขึ้นตามธรรมชาติของต้นกัญชา พร้อมทั้งการสร้างตัวยานั้นมีคุณค่าและปริมาณสูง  

ขณะนี้ได้เตรียมมอบให้สภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร คัดเกษตรกรที่มีคุณภาพร่วมทำโครงการ ต้องมีหลักปฏิบัติที่ดี มีจริยธรรมสูง เพราะเป็นพืชควบคุมและมูลค่าสูง เกษตรกรต้องไม่นำไปใช้ผิดประเภท ด้วยจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติและจะมีผลกระทบต่อโครงการ การพยายามทำให้พืชกัญชาและกระท่อมเพื่อให้แพทย์สามารถจะใช้เป็นยารักษาโรคได้นั้นเป็นเรื่องที่สภาเกษตรกรฯ ได้ขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา พ.ร.บ.ยาเสพติด มาหลายครั้งแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

"ขณะนี้มีหลายประเทศส่งออกตัวยาที่สกัดจากพืชกัญชาแล้ว ซึ่งสาร THC หรือสารตัวยาจะต่ำ ความเข้มข้นน้อย เมื่อเทียบกับบ้านเรามีความเข้มข้นมากกว่าเยอะ และยังมีหลายประเทศอยู่ระหว่างที่จะทำ ประเทศไทยอาจจะช้า แต่ก็มีโอกาสมากกว่าและศักยภาพสูงกว่า ต้นทุนถูกกว่าไม่ต้องปลูกในมุ้ง, โรงเรือน ต่างประเทศต้องทำโรงเรือนทำให้ต้นทุนสูงมาก" ประธานสภาเกษตรกรฯ เผย  

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 ประพัฒน์ เคยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติด เพราะเห็นว่ากัญชาเป็นพืชสมุนไพร ที่มีงานวิจัยรับรองว่าใช้รักษามะเร็งแบบลับๆ มานานแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ขณะที่ประเทศไทยกัญชายังเป็นพืชยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ในขณะบางประเทศถูกกฎหมาย โดยเฉพาะในยุโรปหลายประเทศและในอเมริกามีการใช้กัญชารักษาโรคกันอย่างแพร่หลาย

เขาให้เหตุผลว่าปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งกันมาก จะเห็นว่าในแต่ละปีมีการสั่งยาเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ไทยต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และถ้าทำได้เพื่อลดภาระของรัฐบาล เห็นได้จากงานวิจัยที่ระบุอย่างเด่นชัดว่ากัญชาสามารถรักษามะเร็งได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย มะเร็งที่ร้ายแรงที่ต้องใช้วิธีฉายแสงยังเอาไม่อยู่ แต่กัญชาเอาอยู่ อย่าลืมว่า กัญชามีหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีสารออกฤทธิ์จำนวนไม่เท่ากัน งานวิจัยจะบอกได้ว่า กัญชาตัวไหน พันธุ์ไหน เหมาะกับการรักษามะเร็งชนิดใด

นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย เคยอธิบายถึงการรักษาทางเลือกของผู้ป่วยมะเร็งว่า ปกติเวลาแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็ง จะใช้วิธีการรักษาตามมาตรฐานที่มีคือ การฉายแสงกับเคมีบำบัด แต่จะมีเปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่รักษาแล้วเสียชีวิตภายหลังตามมาเสมอ เพราะผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มที่มีการกลายพันธุ์ของ TP53 (TP53 เป็นชื่อยีนที่คอยปกป้องมะเร็ง) โดยสารสกัดจากกัญชา ที่ทำหน้าที่เหมือน TP53 ซึ่งขณะนี้มีผลงานวิจัยรองรับแล้วว่า สารสกัดจากกัญชา สามารถรักษามะเร็งได้จริง โดยในรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการถอนออกจากบัญชียาเสพติด และมีการเปิดศูนย์รักษาอย่างเป็นทางการแล้ว รวมถึงประเทศแคนาดา และประเทศอื่นๆ กำลังดำเนินการเช่นกัน  

ขณะเว็บไซต์วิกพีเดีย สารานุกรมเสรี รายงานสารสำคัญในกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์นอกจากการนำพืชกัญชามาใช้เป็นยา ปัจจุบันมีการพัฒนายามาจากพืช เช่นสกัดออกมา หรือสังเคราะห์ทางเคมีให้มีโครงสร้างเช่นเดียวกับสาร cannabinoid ตัวอย่างเช่น มารินอล (marinal) เป็นสารสังเคราะห์ dronabinol หรือ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) อยู่ในรูปยาเม็ด มีข้อบ่งใช้ ต้านการอาเจียน กระตุ้นความอยากอาหาร ใช้ป้องกันคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล และยังใช้เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ มีจำหน่ายในรูปยารับประทานเป็นเม็ดแคปซูลอ่อนกลมทั้งในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา แต่เป็นยาที่ให้จ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เพิ่งประกาศให้ปลูกกัญชาได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถูกจัดอยู่ในวงจัดกัดใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์เพื่อรักษาโรคเท่านั้นไม่สามารถใช้การอย่างอื่นได้  ขณะที่หลายประเทศทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ปลดล็อกพืชกัญชาพ้นจากยาเสพติดเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันเท่านั้น 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ทางการรัฐแคลิฟอร์เนียได้ประกาศให้การเสพ "กัญชา" เพื่อความบันเทิง กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายใน 10 เมืองของรัฐ ขณะสหรัฐอเมริกายยังออกกฎหมายให้ 14 มลรัฐ ประกอบด้วย อลาสกา, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, ฮาวาย, รัฐเมน, มิชิแกน, เนวาด้า, นิวเจอร์ซี่, นิวเม็กซิโก, โอเรกอน, โรดไอแลนด์, เวอร์มอนต์ และมลรัฐวอชิงตัน สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้เช่นกัน

ส่วนประเทศในยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์ก็อนุญาตให้มีการสูบกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีร้านไว้สูบกัญชาโดยเฉพาะแบ่งแยกชัดเจน สามารถหาซื้อทั่วไป แต่ยังไม่อนุญาตให้ผลิตและปลูกได้

ขณะที่อุรุกวัยนั้นเป็นประเทศทางผ่านที่ประเทศใกล้เคียงมักเป็นเส้นทางลำเลียงส่งทั้งกัญชาและโคเคน ทางรัฐบาลก็มีแนวคิดที่จะทำให้มีการปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมาย เพื่อลดปริมาณการลักลอบส่งสินค้าให้กลายมาเป็นการสร้างรายได้ให้รัฐบาลและประเทศได้ อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้กัญชาที่มีคุณภาพดีกว่าด้วย  

ในมุมการท่องเที่ยว กัญชาอาจเป็นทำเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล หากมีการจัดระเบียบให้ดีและควบคุมอยู่ในพื้นที่จำกัด อย่างกรณีงานฟูลมูลปาร์ตี้ที่หาดริ้น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ที่โด่งดังจนเป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ ก็เกิดมาจากสถานที่มั่วสุมสูบกัญชาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ระยะหลังเจ้าหน้าที่เข้มงวดในเรื่องกัญชา จนต้องหันมาใช้เห็ดขี้ควายแทน

มีรายงานจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวอย่าง Hotel.com ที่ระบุชัดว่าปัจจุบันการค้นหาสถานที่ซื้อขาย ที่พักหรือโรงแรม ที่อนุญาตให้สูบกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายเพิ่มสูงขึ้นมาก พืชกัญชาจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนความต้องการของลูกค้าในการเติบโตของธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองเจ้าของเฟซบุ๊ก กัญชาชน ที่ระบุว่า 

ถ้าพูดถึงกัญชาถูกกฎหมายคิดว่า กัญชาสามารถทำให้การท่องเที่ยวบ้านเรากลับมาเฟื่องฟู มีเงินเข้าสู่ประเทศมหาศาล เป็นการเพิ่มอาชีพ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจอีกมากมาย ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ 1.ศักยภาพ เนื่องจากประเทศเรามีศักยภาพในด้านต่างๆ มากพอที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง ควบคุมได้จริง มีข้อได้เปรียบมากมายในประเทศของเรา แต่สิ่งที่อ่อนแอ คือ ทัศนคติทางสังคม ที่มักจะไม่ยอมรับในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่จริง แต่กลับซุกมันไว้ใต้พรม พูดง่ายๆ คือ มีได้แต่อย่ายอมรับ อย่าทำให้ถูกกฎหมาย ด้วยเหตุผลทางด้านจริยธรรม หรืออะไรก็ตาม

2.ความเจ็บปวดของผู้บริโภค ซึ่งประเทศเราล้อมรอบไปด้วยประเทศที่มีกฎหมายรุนแรง ขาดมุมมองด้านสิทธิ การสูบกัญชาเพื่อผ่อนคลายอาจกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง แม้แต่นักท่องเที่ยวตะวันตกก็มักจะเจอประสบการณ์เลวร้ายจากการบังคับใช้กฎหมายในประเทศเรา จนไปโพสต์ตามเว็บบอร์ดต่างประเทศ ให้เสียชื่อเสียงประเทศเราอยู่บ่อยๆ สิ่งเหล่านี้คือความเจ็บปวดที่เขาต้องเจอ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม โคโลราโดถึงมีนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 75% ในเวลาไม่กี่เดือน  หลังออกกฎหมายให้กัญชาเป็นพืชถูกกฎหมายไม่ใช่ยาเสพติด

3.กลยุทธ์ทะเลสีน้ำเงิน กลยุทธ์ทางการตลาดที่พูดง่ายๆ คือ การสร้างอุปสงค์หรือความต้องการขึ้นมาใหม่ โดยเป็นตลาดที่ยังไม่เคยมีใครตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ เป็นตลาดที่สด ใหม่ โดยไม่ต้องไปแย่ง หรือแบ่งกับใคร ปัจจุบันทั่วโลกมีคนที่สูบกัญชามากกว่า 200 ล้านคน แต่โลกนี้มีสถานที่สามารถตอบสนองความต้องการกลุ่มคนดังกล่าวไม่มากนัก

และ 4.ส่งผลเสียน้อย อย่างที่รู้กันว่าคนที่สูบกัญชามักไม่ไปก่อปัญหาทะเลาะวิวาท ต่อยตี ก่ออาชญากรรม เมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 "กัญชา"จัดเป็นพืชล้มลุกประเภทหญ้า

กัญชาเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลังที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบ และยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้ง แล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ

จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบ นอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้ว ยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้ง จึงได้เป็นนำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบ และยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประมาณ 4-8%

สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชามีหลายชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดที่มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC ที่มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา สาร THC นี้ในเบื้องต้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพตื่นเต้น ช่างพูด และหัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะกดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อนๆ เซื่องซึม และง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้

 "บิ๊กตู่"งงปลูกกัญชา 5 พันไร่เพิ่งรู้วันนี้ 

วานนี้(16 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังการประชุมครม. ถึงกรณีมีการปลูกกัญชา 5,000 ไร่ ในพื้นที่ทหารที่ จ.สกลนคร ว่า เพิ่งได้ยินข่าววันนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่ามาได้อย่างไร สอบถามกระทรวงสาธารณสุขที่ว่าจะออกเป็นกฎกระทรวงอะไรก็ไม่มี ใครไปคิดมาเองหรือเปล่าไม่รู้ วันนี้ต้องไปดูว่าที่ต่างประเทศเขาทำอะไรในเรื่องเหล่านี้บ้าง ลองไปตามดูก็แล้วกัน อย่างกัญชง เราก็เอามาทำเฉพาะในเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเราต้องควบคุมให้ได้ด้วย เพราะเป็นพืชที่มีสารเสพติด

โดยกัญชงจะมีสารเสพติดน้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นกัญชา ก็มีสารเสพติดมากหน่อย แต่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จะปลูกกัญชากันมากเพื่อนำไปเป็นยา แต่ของเราถ้าปลูกก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกประเภท ซึ่งคนไทยก็ยังรับไม่ได้ก็ต้องค่อยๆ ศึกษากันไปก่อน

logoline