svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร

29 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พระบรมราชสรีรางคาร ในหลวง ร.๙ อัญเชิญไปบรรจุ ณ ฐานพุทธบัลลังก์ ๒ พระประธานอุโบสถหลวง "พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันนี้  (29 ตุลาคม 2560)  เวลา 10.30 น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเวลา 17.30 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และ วัดบวรนิเวศวิหาร
ซึ่ง พระบรมราชสรีรางคาง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะถูกบรรจุที่ ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

พระพุทธอังคีรส พระประธานพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ 
บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ 
และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร




วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒  มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก 
สิ่งก่อสร้าง พระอุโบสถ พระวิหาร พระจดีย์ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์งดงามมาก มีมหาสีมารอบกำแพงวัด พร้อมทั้งโปรดให้สร้าง พระพุทธอังคีรส เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ 
บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ 
และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร


พระพุทธอังคีรส เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อน พระนาม "พระพุทธอังคีรส" แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อต้นรัชกาลที่ ๕ กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก ๑๘๐ บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์
ที่ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก ๔๘ บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒), พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔), พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) และพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) และพระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี 
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ไม่เพียงแต่จะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕ แต่ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๗ อีกพระองค์หนึ่งด้วย
ส่วน พระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ ๘) บรรจุใต้ฐานพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม



พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ 
บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ 
และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร


วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง ๔ พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งยังเป็นวัดประจำ รัชกาลที่ ๖ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และ วัดประจำรัชกาลที่ ๙ (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)
ซึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา ตามโบราณราชประเพณี  โดย พระองค์ทรงผนวช เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ถึงวันที่ ๕ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๙๙  รวมเป็นเวลา ๑๕ วัน  ขณะที่มีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา 

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ 
บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ 
และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร


ระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จมาประทับ ณ  "พระตำหนักปั้นหย่า" หรือ "พระตำหนักปั้นหยา" ที่ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระตำหนักปั้นหยา เป็นตึก ๓ ชั้น สถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรป เดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ทรงผนวช  หลังจากนั้นที่นี่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชและเสด็จมาประทับที่วัดแห่งนี้  
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เผยว่า ระหว่างที่ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงดำรงสมณเพศพระภิกษุ พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด  เสด็จลงพระอุโบสถ ทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย เสด็จออกรับบิณฑบาตเหมือนพระภิกษุทั่วไป ที่สำคัญพระองค์ไม่สวมฉลองพระบาทตลอด 15 วันที่ทรงผนวช แม้ว่าหนทางนั้นจะลำบากเพียงใดก็ตาม สมกับเป็นพระราชาผู้ทรงธรรมโดยแท้

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ 
บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ 
และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร



โดยวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๔๙๙ วันลาสิกขา ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ยังทรงปลูกต้นสักไว้ที่ด้านหลังพระตำหนักปั้นหยา และในวันที่ ๒๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ พระองค์ทรงเสด็จมาปลูกต้นจัน ปัจจุบันนี้ต้นไม้ที่พระองค์ทรงปลูกได้เจริญเติบโตสูงใหญ่ ให้ร่มเงาและความร่มรื่นแก่ผู้ที่ได้เดินทางมาวัดบวรนิเวศวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหาร มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ ๒ องค์เป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และ พระพุทธชินสีห์  

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ 
บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ 
และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร


พระพุทธชินสีห์ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดาและพระเหลือ เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพ.ศ.๒๓๗๒ 
พระพุทธชินสีห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่างๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๐ ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก ๒ องค์คือพระพุทธชินราชและพระศรีศาสดา
ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์  เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราช และเป็นที่บรรจุ พระบรมราชสรีรางคาร ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) 

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ 
บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ 
และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร


ทั้งนี้ ราชประเพณีบรรจุ พระบรมราชสรีรางคาร ที่วัดประจำรัชกาล เกิดขึ้นครั้งแรกในคราว พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ 
โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกธรรมเนียมการลอยพระบรมราชสรีรางคาร และทรงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ใต้พุทธบัลลังก์พระประธานในพระอุโบสถของพระอารามประจำรัชกาลแทน
ซึ่ง พระบรมราชสรีรางคารพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑-๔ ตามราชประเพณีดั้งเดิมสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้ทำการเชิญไปปล่อยยังท่าน้ำวัดปทุมคงคา หรือวัดยานนาวา
นับแต่นั้นมา พระราชพิธีบรรจุ พระบรมราชสรีรางคาร ที่วัดประจำรัชกาล ก็เป็นพระราชประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
อนึ่ง ขออธิบายความอย่างง่ายๆ ความหมายของ พระบรมอัฐิ กับ พระบรมราชสรีรางคาร 
"อัฐิ" หมายถึง กระดูกคนที่เผาแล้ว ส่วน "สรีรางคาร" หรือ อังคาร หมายถึง เถ้าถ่านที่ปะปนกับกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เผาแล้ว
พระบรมอัฐิ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ส่วน พระบรมราชสรีรางคาร  อัญเชิญบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร

พระบรมราชสรีรางคาร ร.๙ 
บรรจุ ณ พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธฯ 
และ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร

logoline