svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผู้ว่าฯตรัง จี้ อธิบดีกรมอุทยานฯ บอกให้ชัด! กลุ่มล่าพะยูน กลุ่มไหน

17 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตรัง - ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ขอความเป็นธรรมกรณีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อ้างวิกฤตล่าพะยูน นำเขี้ยว กระดูก เนื้อผัดเผ็ด ยันเป็นจังหวัดเดียวที่ยังมีการดูแลอนุรักษ์พะยูนอย่างเข้มแข็ง อาจารย์.มทร.ศรีวิชัยตรัง ชี้ข้อมูลบั่นทอนความรู้สึกนักอนุรักษ์ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและกลุ่มอนุรักษ์พะยูน ขอความชัดเจนขบวนการล่าพะยูนเป็นคนกลุ่มไหน

(17ตุลาคม2560) ที่ห้องแถลงข่าวชั้น2ศาลากลางจังหวัดตรัง นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประจำสัปดาห์โดยมีประเด็นกรณี ที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลในการการอนุรักษ์พะยูนและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศ ถึงสถานการณ์พะยูนในประเทศไทยว่า จัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนัก ในเรื่องที่อยู่อาศัยและการทำลายแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งคาดว่าในน่านน้ำไทยมีพะยูนไม่เกิน200ตัว และมีอยู่ในเขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ประมาณ130-150ตัว โดยกลุ่มผู้ล่าพะยูนมีความเชื่อว่า กระดูกพะยูน สามารถนำไปทำยาโด๊ป เขี้ยวนำไปทำเครื่องรางของขลัง เนื้อนำไปปรุงอาหารนั้น
ด้านนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง แถลงว่า หากมีข้อมูลกระบวนการล่าพะยูน ไม่ว่าจะเป็นเขี้ยว กระดูก หรือส่วนต่างๆ ถ้าคนพูดหรือใครมีข้อมูลสามารถแจ้งมาที่ตนได้เลย ตนพร้อมจะจัดการ แต่อย่าพูดให้เป็นข่าวกับสังคมอย่างเดียว โดยไม่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน และจะต้องให้ข่าวกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย ถ้าไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ อย่างน้อยก็ให้ไว้ใจผู้ว่าฯ ตนจะได้จัดการกับบุคคลพวกนี้อย่างเฉียบขาดต่อไป ส่วนที่ระบุว่าตรังเหลือพะยูนอยู่200ตัว ถ้าคิดในแง่ดี จังหวัดตรังยังเหลืออยู่ แต่จังหวัดอื่นๆไม่มีเหลือแล้ว เช่น จังหวัดจันทบุรีไม่มีใครพูด พะยูนหายไปจากทะเลนานแล้ว จึงขอความเป็นธรรมให้กับคนตรังด้วย เพราะคนตรังดูแลพะยูนอย่างดีที่สุดแล้ว และเป็นจังหวัดที่มีพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศ และจะร่วมกับทุกภาคส่วนดูแลพะยูน หญ้าพะยูน ม้าน้ำให้เป็นแหล่งสุดท้าย เราจะไม่เน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่จะร่วมกันทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้สิ่งแวดล้อมอยู่คู่กับประเทศไทย และเป็นสิ่งแวดล้อมโลกด้วย"
ส่วนทางด้าน นายอภิรักษ์ สงรักษ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ในฐานะทำงานด้านการอนุรักษ์พะยูน (สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์) กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครเป็นคนพูดและให้ข่าวออกมาในลักษณะเช่นนี้ แต่มีการพูดในลักษณะภาพรวม ไม่ได้เจาะจงมาที่จังหวัดตรังโดยตรง แต่ที่สุดก็กระทบกับคนตรัง เนื่องจากทะเลตรังมีพะยูนมากที่สุด และที่มีการพูดว่าเนื้อพะยูนนำมาปรุงอาหาร กก.ละ150บาท นั้นเป็นการตั้งมูลค่าที่ต่ำมาก ขณะที่ปลาทะเลชนิดอื่น ราคา กก.ละไม่ต่ำกว่า300บาท การให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นการบั่นทอนการทำงานของนักอนุรักษ์อย่างมาก ทำให้นักอนุรักษ์อาจเกิดความขัดแย้งกับนักวิชาการได้ ตนไม่ทราบเจตนาของผู้พูด แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการพูดน่าจะมีการสังเคราะห์มากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม หลังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาปูดข่าวเรื่องนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก เตรียมออกมาเคลื่อนไหว จัดประชุม เรียกร้องให้อธิบดีกรมอุทยานฯออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อข้อแถลงดังกล่าว และให้นำหลักฐานออกมายืนยันว่าขบวนการล่าพะยูนเป็นคนกลุ่มไหน มีหลักฐานหรือไม่ เนื่องจากปีที่ผ่านพบว่ามีพะยูนเสียชีวิตประมาณ6ตัว ส่วนใหญ่เกิดจากอาการเจ็บป่วย รวมทั้งติดเครื่องมือประมง โดยแต่ละครั้งจะมีการนำซากไปแจ้งความและนำไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต ณ มทร.ศรีวิชัยตรัง และศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันที่สำคัญสวนทางกับข้อมูลด้านวิชาการที่นักวิชาการจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำการบินสำรวจประชากรพะยูนในท้องทะเลตรังเป็นประจำทุกปี และพบว่าหลังปี2555เป็นต้นมา ซึ่งทุกฝ่ายร่วมกันอนุรักษ์อย่างจริงจัง ทำให้ประชาชนกรพะยูนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสถิติผลการบินสำรวจโดยปี2541 2553มีจำนวน150 200ตัว,ปี2554จำนวน150ตัว,ปี2555จำนวน134ตัว,ปี2556จำนวน125ตัว สาเหตุที่พะยูนหายไปจากทะเลตรังในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนมากถึง75ตัว เพราะติดเครื่องมือประมงที่เป็นอันตราย จากนั้นทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายราชการ ประชาชนและชุมชนร่วมมือกันดูแลรักษากำจัดเครื่องมือประมงที่เป็นอันตราย เป็นผลให้ประชากรพะยูนจากการบินสำรวจเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นมาเรื่อยๆ โดยในปี2557พบจำนวน135ตัว,ปี2558จำนวน145ตัว,ปี2559จำนวน160ตัว และในปี2560ที่บินระหว่างวันที่24 30มีนาคม2560พบพะยูนจำนวน169ตัว ทั้งนี้ พบพะยูนคู่แม่ลูกมากกว่า10คู่และพบว่าประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นที่สุดในรอบ10ปี ซึ่งหากสามารถควบคุมการตายของพะยูนให้ได้ไม่เกินปีละ5ตัว ในอีกประมาณ3 4ปีข้างหน้า ประชากรพะยูนในทะเลตรังจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ200ตัว ขณะที่แหล่งหญ้าทะเลก็เพิ่มขึ้นพบกว่า25,000ไร่ โดยพะยูนพบมากที่สุดบริเวณ เกาะตะลิบง - เกาะมุกด์ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

logoline