svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดขั้นตอน กฎหมาย หลังจบคดีแพ่ง "พันธมิตรฯ"ยึดสนามบิน

21 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากที่ศาลฎีกายกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของแกนนำพันธมิตร 13คน ในคดียึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทำให้จำเลยต้องร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 522 ล้านบาทเศษ

  ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้น  ตามขั้นตอนในทางปฏิบัติ จำเลยก็จะขอเจรจาประนอมหนี้กับทางโจทก์ซึ่งในกรณีนี้  ก็คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด  เพื่อขอชดใช้ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน หรือขอผ่อนจ่าย ซึ่งหากสามารถประนอมหนี้กันได้ ก็จะไม่เข้าสู่กระบวนการบังคับคดี แต่ถ้าหากทางโจทก์ ไม่พอใจในข้อเสนอประนอมหนี้ของทางจำเลย   ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ก็จะยื่นคำร้องให้กรมบังคับคดี ดำเนินการยึดทรัพย์จำเลยต่อไป                ทั้งนี้   ทนายความชื่อดัง  อธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการบังคับคดี ว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีกับจำเลยและศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ทางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะทำการยึดทรัพย์จำเลย เพื่อนำออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เนื่องจากคดีนี้ จำเลยต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้จำนวนกว่า 522 ล้านบาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงสามารถเลือกยึดทรัพย์เอากับจำเลยที่เป็นเป้าหมายเนื่องจากเห็นว่าเป็นคนมีฐานะให้ชดใช้เงินเต็มจำนวนได้ เช่น จากคนคนเดียวหรือสองคน หรือจะยึดทรัพย์ทั้ง 13 คนก็ได้ และตราบใดที่ยังยึดทรัพย์สินได้ไม่ครบตามจำนวนหนี้  เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถติดตามยึดทรัพย์จำเลยที่มีขึ้นภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่มีการออกหมายบังคับคดีได้ และหากจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้้ตามคำพิพากษาได้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย ก็สามารถยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้ต่อศาลล้มละลายเป็นคดีล้มละลายตามมาได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ และหากศาลเห็นว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงก็จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย เพื่อให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย และเจ้าหนี้อื่นของจำเลยถ้าหากมี ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
 "จากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็จะเรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อตกลงกันว่าใครจะได้รับชำระหนี้ก่อนหลัง ซึ่งตามกฎหมายก็จะจัดลำดับชั้นของหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนหลัง ขณะเดียวกันลูกหนี้ก็ต้องยื่นคำขอประนอมหนี้เข้ามา โดยปกติก็ขอชำระหนี้แค่จำนวนหนึ่งไม่ครบเต็มตามจำนวนเงินที่ศาลพิพากษาให้ชดใช้ หากเจ้าหนี้ยอม ตกลงกันได้ ลูกหนี้ก็จะไม่ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่หากลูกหนี้ไม่ยื่นคำขอประนอมหนี้เข้ามา หรือยื่นคำขอประนอมหนี้เข้ามาแต่ตกลงกันไม่ได้ ศาลก็จะพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่จำเลยก็ยังยื่นขอประนอมหนี้หลังศาลพิพากษาล้มละลายได้อีก แต่หากตกลงกันไม่ได้ก็จะยึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ และผลจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ทำให้ไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้ และดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่ได้"
ทนายความคนดังกล่าว กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย เมื่อพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลได้พิพากษา กฎหมายให้ปลดบุคคลดังกล่าวจากการเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต คือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อหลบเลี่ยงไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ กฎหมายให้ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี จึงจะพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายก็สามารถทำนิติกรรมต่างๆ ได้เหมือนเดิมและหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้ถือว่าหมดสิ้นไป 

logoline