svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แฉ "เรือเหาะ-เรือเหี่ยว" เคยตก 2 รอบ

14 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สกายดรากอน" เรือเหาะของกองทัพบก จัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2552 ในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.เรือเหาะเคยประสบอุบัติเหตุตกอย่างน้อยๆ 2 ครั้ง ในปี 2555 และ 2557

เรือเหาะของกองทัพบกนี้ มีชื่อสุดเท่ว่า "สกายดรากอน" จัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2552 ในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.โดยเป็นการจัดซื้อแบบวิธีพิเศษ งบประมาณสูงถึง 350 ล้านบาท หวังให้เป็น "ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศ" ที่ทรงประสิทธิภาพ เพราะมีกล้องตรวจการณ์ที่ใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

ช่วงที่มีการจัดซื้อ มีเสียงทักท้วงว่า ระบบเฝ้าตรวจแบบ "เรือเหาะ" เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ชายแดนใต้หรือไม่ เพราะ "ระบบเรือเหาะ" ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสมรภูมิทะเลทราย เนื่องจากมีทัศนวิสัยกว้างไกล มองเห็นเป้าหมายหรือศัตรูได้ง่าย แต่พื้นที่ชายแดนใต้มีแต่ป่าเขา และฝนตกชุก ไม่น่าจะเหมาะกับ "ระบบเรือเหาะ"

เรือเหาะ "สกายดรากอน" ถูกส่งมอบถึงประเทศไทยในปี 2553 ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องการตรวจรับ เพราะเจอ "รูรั่ว" และไม่สามารถนำขึ้นบินได้ในระยะความสูงตามสเปค เคยมีความพยายามส่งซ่อมและเปลี่ยนผ้าใบหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ
ยิ่งไปกว่านั้น เรือเหาะยังเคยประสบอุบัติเหตุตกอย่างน้อยๆ 2 ครั้ง คือครั้งแรก วันที่ 13 ธ.ค.ปี 2555 เรือเหาะประสบอุบัติเหตุขณะร่อนลงจอดที่โรงเก็บเรือเหาะ หลังเสร็จภารกิจลาดตระเวนทางอากาศเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีรายงานว่านักบินไม่สามารถควบคุมเรือเหาะได้ ทำให้เรือเหาะไถลไปกับพื้นรันเวย์ จนทำให้ตัวเครื่องได้รับความเสียหายกว่า 50%

ครั้งที่สอง วันที่ 5 ก.ย.2557 เรือเหาะต้องร่อนลงฉุกเฉินระหว่างทดลองบิน บริเวณบ้านต้นทุเรียน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งนา โดยกองทัพชี้แจงภายหลังว่าเป็นเพราะระบบ "คันบังคับ" ขัดข้อง

นี่คือปัญหาการใช้เรือเหาะที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นกระแสวิจารณ์อย่างมากจนชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันว่า "เรือเหี่ยว" ไม่ใช่ "เรือเหาะ" ถือเป็นหนึ่งในโครงการอื้อฉาวของกองทัพบก พอๆ กับการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดเก๊ จีที 200 ที่มีสภาพไม่ต่างอะไรกับ "ไม้ล้างป่าช้า" หมดงบไปกว่า 1 พันล้านบาท

logoline