svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทักษะที่โลกต้องการในศตวรรษที่ 21

03 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้เขียนได้อ่านบทความที่น่าสนใจในเชิงบทวิเคราะห์และความเห็นจาก Christian Bodewig, Program Leader for Inclusive Growth in European Union Member States


ซึ่งปรากฏบนเว็บไซด์ของ World Bank จึงได้นำมาเสนอให้ผู้อ่านเพื่อการเตรียมการทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21
ยุคของหุ่นยนต์กำลังเริ่มขึ้นและกำลังจะมาแย่งงานของพวกเรา จริงหรือไม่? สื่อและบทความต่างๆได้พูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ต่อชีวิตของเรามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของระบบอัตโนมัติต่อการจ้างงานที่ได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการตกงานในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถามอย่างเช่น พนักงานออฟฟิศที่มีทักษะที่เหมาะสมกับตลาดแรงงานนั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่? พวกเขาเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพการจ้างงานที่มาพร้อมกับคำว่า "Industry4.0" หรือ "ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่" หรือยัง? ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์รูปแบบใดที่ประเทศต่างๆ ควรนำมาใช้ในการพัฒนาแรงงานในศตวรรษที่ 21?
การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ ต้องนิยามคำว่า "ทักษะ" ก่อน และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะ โดยชุดทักษะของแรงงานมีองค์ประกอบ คือ ทักษะด้านความรู้ความเข้าใจเช่น การอ่านออกเขียนได้ มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์พื้นฐาน และมีความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอีกด้วย รวมทั้งการแก้ปัญหาขั้นสูงและทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะทางสังคมและพฤติกรรม เช่น ความซื่อตรง ความอดทนและการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ และทักษะทางวิชาชีพเฉพาะด้าน เช่น ทักษะที่จำเป็นในการทำงานเป็นวิศวกรหรือช่างเทคนิคด้านต่างๆ เป็นต้น
การสร้างทักษะทางความรู้ความเข้าใจทางสังคมและอารมณ์ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กตอนต้นโดยมีทักษะด้านสังคมและพฤติกรรมมากมายที่ยังคงต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่สำหรับการสร้างทักษะด้านความรู้ความเข้าใจนั้นต้องสร้างก่อนจะถึงช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แต่สมองของเราก็จะหยุดที่จุดๆ หนึ่งในการพัฒนาโดยอัตโนมัติ ในทางตรงกันข้าม ทักษะทางเทคนิคจะเรียนรู้ได้หลังจากช่วงวัยรุ่นไปจนโตและในโรงเรียนอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยและในขณะทำงาน โดยต้องมีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางเทคนิคอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านทักษะควรจัดลำดับโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านความรู้ความเข้าใจและทักษะทางสังคมและพฤติกรรมในวัยเด็กและโรงเรียนก่อน ทั้งนี้เพราะทักษะด้านความรู้ความเข้าใจและทักษะทางสังคมและพฤติกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาทักษะทางเทคนิคตลอดชีวิต ทำให้แรงงานมีความคล่องตัวในการปรับตัวต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
แรงงานที่มีฝีมือได้เริ่มมาแทนที่หุ่นยนต์ในการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัยเนื่องจากมีการปรับตัวและยืดหยุ่นมากกว่า ในทางตรงกันข้ามในวัยทำงานที่มีทักษะด้านการรู้หนังสือและคณิตศาสตร์ไม่ดี จะมีปัญหาในการเรียนรู้และปรับปรุงทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นในการแข่งขันในตลาดงานที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
ตำแหน่งงานทั่วโลกซึ่งรวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีลักษณะทำประจำซ้ำๆ (routine) กำลังมีแนวโน้มที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ และงานรูปแบบที่มีการโต้ตอบมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านความรู้ความเข้าใจทางสังคมและพฤติกรรมขั้นสูง (เช่น งานในภาคบริการ) กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก
เยาวชนและคนในวัยทำงานจำนวนมากในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังมีปัญหาขาดทักษะทางสติปัญญาขั้นพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU) ในประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป หนึ่งในห้าหรือมากกว่าของเด็กอายุ 15 ปีได้คะแนนการทดสอบทางคณิตศาสตร์และความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของโครงการการประเมินนักศึกษานานาชาติ (Program for International Student Assessment (PISA) ต่ำกว่าเกณฑ์
คนที่มีความสามารถต่ำมักมาจากภูมิหลังที่ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไม่ได้เป็นโอกาสสำหรับการยกระดับทางสังคมเสมอไป ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีในด้านเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประเทศที่มีจำนวนประชากรในช่วงคนหนุ่มสาวลดลงและที่มีประชากรสูงอายุในสัดส่วนที่สูงขึ้น จนอาจเกิดปัญหาด้าน productivity และการดูแลสวัสดิการสังคม
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านทักษะ จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อนโยบายด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ดังนี้คือ
ประการแรก รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐานทางสติปัญญาขั้นพื้นฐาน เช่น การอ่านและคณิตศาสตร์ เน้นการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กที่มาจากภูมิหลังที่ด้อยโอกาสซึ่งเป็นตัวแทนของเด็กที่มีความสามารถต่ำใน PISA โดยเริ่มด้วยการขยายการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพและการแทรกแซงการศึกษา (เพิ่มเติมเป็นพิเศษ) เพื่อช่วยกระตุ้นการพัฒนาสมองในช่วงปีแรกๆ และที่สำคัญ การเสริมสร้างทักษะทางสังคมและพฤติกรรมในโรงเรียน เช่น การพัฒนาผ่านทาง "วิถีความคิด (Growth mindset)" อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความได้เปรียบให้เด็กได้โดยการเพิ่มความเชื่อมั่นและเป้าหมายของนักเรียน
ประการที่สอง รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสจากช่วงเวลาการศึกษาในโรงเรียนที่ค่อนข้างยาวนานตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมที่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาทักษะ นวัตกรรมในชั้นเรียนและการสอน เช่น รูปแบบของ Escuela Nueva ในโคลอมเบียที่ได้ปรับใช้ความสำเร็จของเวียดนามใน PISA 2012 ที่จะสามารถช่วยเสริมทักษะขั้นสูงเช่น การแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการทำงานเป็นทีม
ประการที่สาม เป็นคำตอบสำหรับความล้าหลังทางทักษะทางเทคนิคที่รวดเร็วคือ นอกเหนือจากการทำให้สมองฉับไวแล้ว การปรับตัวของเนื้อหาการสอนด้านเทคนิคและการฝึกอบรมที่รวดเร็วขึ้น โดยการร่วมมือในเชิงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น อีกทั้ง เทคโนโลยีและ Big Data สามารถช่วยในการจับภาพและทำความเข้าใจวิวัฒนาการของความต้องการทักษะทางเทคนิคในการประกอบอาชีพได้ดีขึ้น ซึ่งเราอาจต้องยอมรับว่างานในบางส่วน มีความจำเป็นที่ต้องปล่อยให้หุ่นยนต์ทำงานแทนเรา
ผู้เชี่ยวชาญด้านอนาคตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านได้ให้ความเห็นว่า ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ จะมีผลให้ประเทศที่นิ่งเฉยตามไม่ทันในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งประเทศที่มีความพยายามเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ช้ากว่าประเทศอื่น อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เหมือนกับที่เราทิ้งเครื่องพิมพ์ดีดยุคโบราณไว้ในพิพิธภัณฑ์

ReferencePreparing for the Robots: Which Skills for 21st Century Jobs?http://www.worldbank.org/en/news/opinion/2016/03/02/preparing-for-robots-which-skills-for-21st-century-jobs
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)www.เศรษฐพงค์[email protected]

logoline