svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชีวิต "ผู้ต้องขังหญิง" หลังกำแพง "เรือนจำต้นแบบ"

25 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ต้องขังหญิงสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก จึงไม่แปลกที่ปัญหาความแออัดภายในเรือนจำของไทยยังแก้ไม่ได้ โดยเฉพาะในรอบสิบปีที่ผ่านมาจำนวนของผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าผู้ต้องขังชาย ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ปี 2560 พบว่าผู้ต้องขังหญิงมีจำนวนสูงถึง 38,678 คน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2551 ที่มีผู้ต้องขังหญิงเพียง 26,321 คนเท่านั้น

แต่ทว่าเรือนจำในประเทศไทยมักถูกออกแบบเพื่อรองรับผู้ต้องขังชายเป็นหลัก ทำให้ผู้ต้องขังหญิงที่มีความต้องการพื้นฐานด้านเพศสภาวะต่างจากผู้ต้องขังชาย ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจึงเป็นที่มาของการเกิด "ข้อกำหนดกรุงเทพ" โดยริเริ่มจากพระดำริในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเล็งเห็นถึงความต้องการของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำที่มีความแตกต่างในด้านกายภาพ เพศสภาพ ที่ควรจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ  
การพิจารณาผู้ต้องขังหญิงเป็นพิเศษนั้น ไม่ได้หมายความว่าได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เพียงแต่การนำข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามาใช้ จะให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรจะได้รับเรือนจำพระนครศรีอยุธยาถือเป็นเรือนจำต้นแบบของ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย 
ที่นี่มีการแบ่งโซนกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้ต้องขังหญิงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมุมอ่านหนังสือ เรียนหนังสือ การฝึกอาชีพต่างๆ เช่น ร้านเสริมสวย ทำเบเกอร์รี่ กาแฟ จากเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ภายในเรือนจำ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น
นอกจากนั้น ที่นี่ยังมีห้อง Happy Center ที่เป็นเหมือนคลินิกทางจิตที่จะช่วยฟื้นฟู และปรับสภาพจิตใจของผู้ต้องขังให้ดีขึ้น
อย่าง ผู้ต้องขังหญิงรายนี้ เธอเลือกที่จะเรียนหนังสือในเรือนจำเพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลา เมื่อพ้นโทษก็จะได้วุฒิการเรียนติดตัวนำไปประกอบอาชีพได้ต่อไป
ส่วนผู้ต้องขังหญิงคนนี้ เธอมาฝึกงานในร้านกาแฟของเรือนจำ หวังเก็บออมเงินปันผลที่ได้จากการฝึกงานเอาไว้เป็นทุนสำหรับตั้งตัว เพราะเธอมีความฝันว่าอยากเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองหลังจากพ้นโทษในอีกไม่นานนี้ 

เมื่อโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้เสมอ โดยเฉพาะ "เรือนจำต้นแบบ" ที่ยึดถือแนวปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียม และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เริ่มต้นใหม่ นับเป็นกระบวนการลดการทำความผิดซ้ำ และลดจำนวนผู้ต้องขังให้น้อยลงอย่างถาวร

logoline