svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กฏหมาย เพิ่มสิทธิ "ลูกจ้าง"??

17 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ผมต้องการให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ได้รับการคุ้มครอง และมีสภาพการจ้าง การทำงานที่เป็นธรรม มีหลักประกันการทำงานที่เหมาะสม" "บิ๊กบี้" พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศนโยบายต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน

พลเอก ศิริชัยระบุว่าอย่างไรก็ตามการปรับปรุง จะเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้เหมาะสมกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาจส่งผลกระทบต่อวงการแรงงานในวงกว้าง


เพื่อให้ตอบโจทย์ "แรงงานต้องได้รับความเป็นธรรม" จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทราบ รวมทั้ง มีโอกาสในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแนวทางการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ "ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับนี้" ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์

กว่า 1 ปี ที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ในฐานะเจ้าภาพ หลังผ่านการยกร่างระดับกรม และผ่านความเห็นชอบระดับกระทรวงแล้ว กสร.ได้จัด"สัมมนาไตรภาคี" เพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้แทนจากฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คน ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแนวทางการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความครบถ้วนสมบูรณ์ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิดโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2560 ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน เนื่องจากพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น มีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางอย่างไม่สอดคล้อง หรือ เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้คุ้มครองลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเเก้ไขเพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้สูงขึ้น

กฏหมาย เพิ่มสิทธิ "ลูกจ้าง"??

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดี กสร.


สำหรับ เนื้อหาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ... นั้น"นายอภิญญา สุจริตตานันท์"รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เผยกับ"คม ชัด ลึก"ว่า เป็นเรื่องการเพิ่มเติมสิทธิของลูกจ้างเพื่อป้องกันการเอาเปรียบจากนายจ้าง สร้างความเป็นธรรมให้กับลูกจ้าง ซึ่งมีเนื้อหาสาระเพิ่มเติมจากพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อยู่ประมาณ 6 ประเด็น ดังนี้

1.กำหนดอัตราดอกเบี้ยกรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าตอบแทน และเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว จากเดิมซึ่งใช้อัตราร้อยละ 7.5 ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นร้อยละ 15 ต่อปี

2.เขียนให้ชัดเจนมากขึ้นกรณีเปลี่ยนตัวนายจ้าง จะต้องได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง ให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่นายจ้างเดิมมีต่อลูกจ้าง

3. การดำหนดให้ลากิจ(เดิมไม่มี)ไม่น้อยกว่า 3 วัน ต่อปีและได้รับค่าจ้าง


4.ให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาตรวจครรภ์ กฏหมายเดิมให้ลาเพื่อการคลอดบุตร 90 วัน มีการตีความกฏหมายใหม่และแก้ไขให้มีความชัดเจนว่า ลาเพื่อไปตรวจครรภ์ระหว่างที่ยังตั้งครรภ์ได้รวมระยะเวลา 90 วัน เป็นการใช้สิทธิร่วมกับลาคลอดเดิมนั่นเอง

"ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อคลอดบุตร 90 วัน เดิมลาเฉพาะหลังคลอดบุตร 90 วันเท่านั้น แต่พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ใช้สิทธิในส่วนนี้ด้วย ระยะเวลาเท่าเดิม 90 วัน โดยลูกจ้างได้ค่าแรง 45 วันจากประกันสังคม และ45 วันจากนายจ้าง รวมได้ค่าจ้างครบ90 วันเต็ม"นายอภิญญา อธิบายว


5. กรณีลูกจ้างทำงานครอบ 20 ปี หากถูกเลิกจ้างแบบไม่มีความผิด มีสิทธิได้รับเงินชดเชยในอัตราค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน กฏหมายเดิมกำหนดทำงานครบ 10 ปีได้รับค่าชดเชยค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน และ6. กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ ลูกจ้างมีสิทธิขอ"ค่าชดเชยพิเศษ"ในอัตราเดียวกับชดเชยเลิกจ้าง

"กรณีย้ายสถานประกอบกิจการแล้วลูกจ้างได้รับผลกระทบ ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องมายังคณะกรรมการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(ไตรภาคี) เพื่อวินิจฉัยว่าการย้ายสถานประกอบกิจการมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีพตามปกติของลูกจ้างหรือไม่ หากคณะกรรมการฯลงมติว่ามีผลกระทบต่อลูกจ้างจริง จะได้รับค่าชดเชยพิเศษตามกฏหมาย ที่เน้นตามอายุการทำงานเป็นหลัก อัตราค่าชดเชยพิเศษเหมือนกับการได้สิทธิกรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้างแบบไม่มีความผิด ทั้งนี้หากลูกจ้างบอกเลิกสัญญาก็ไม่มีสิทธิรับเงินค่าชดเชยพิเศษ"นายอภิญญา กล่าว

กฏหมาย เพิ่มสิทธิ "ลูกจ้าง"??

ค่าชดเชยพิเศษที่จะได้รับตามมาตรา 118 มีดังนี้หากลูกจ้างทำงาน 120 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน1ปี ลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่า อัตราค่าจ้างจำนวน 30 วัน ,หากทำงาน 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 3 ปี จะได้รับเงินชดเชย 90 วัน,หากทำงาน 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน,หากทำงาน เกิน 10 ปีขึึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 300 วัน,แต่ล่าสุด ได้เพิ่มกรณีลูกจ้างทำงานเกิน 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับชดเชย 400 วันเทียบเท่ากับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดนั่นเอง

ขณะที่ "นายชาลี ลอยสูง" รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ระบุว่า ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ...หากมีผลบังคับใช้จะเกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตลูกจ้าง แต่ยังเป็นการปรับแก้ไขกฏหมายที่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เป็นเพียงการปะผุ ปรับปรุงกฏหมายใหม่ตามข้อร้องเรียนของลูกจ้างได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น ยังมีอีกหลายมาตราที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิก เช่น มาตรา 75 การเหมาช่วงเวลาทำงาน

กฏหมาย เพิ่มสิทธิ "ลูกจ้าง"??

นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท.


"แรงงานกลุ่มยานยนตร์ กลุ่มโรงงานทอผ้า กลุ่มปิโตเลี่ยม กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นกลุ่มที่ถูกเหมาช่วงทำงาน ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นศาลพิพากษามาแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานแบบไหน หากทำงานในหน่วยงานหรือบริษัทเดียวกัน ให้ถือเป็นลูกจ้างต้องได้รับสิทธิคุ้มครองแรงงานเท่ากับพนักงานประจำของบริษัทนั้นๆ แต่จุดนี้ไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นแรงงานนอกระบบ และแรงงานต่างด้าวอาจจะถูกเอาเปรียบจากนายจ้างต่อไป"รองประธาน คสรท.ตั้งข้อสังเกต

เหนืออื่นใด หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. ...จะถูกส่งให้คณะกรรมการกฤาฏีกาตรวจร่าง เนื้อหา ความสอดคล้อง จากนั้นส่งกลับมายังครม. เพื่อให้กระทรวงแรงงานยืนยันว่าไม่มีการปรับแก้ไข และครม.จะส่งเข้าสู่กระบวนการออกกฏหมาย ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป

อย่างไรก็ตาม นี่คืออีกก้าวของความพยายามของรัฐบาล"บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"ที่จะขจัดปัดเป่าปัญหาของลูกจ้างให้ได้รับความเป็นธรรมในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับใช้ มาแล้ว 19 ปี แต่ยังพบว่ามีช่องโหว่อีกมากมาย ที่ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะการถูกเลิกจ้าง จนนำไปสู่ปัญหาการร้องเรียน และกลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง



กมลทิพย์ ใบเงิน รายงาน

logoline