svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"โรคซึมเศร้า" ภัยร้ายเงียบที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป

21 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายคนอาจจะมองว่า "โรคซึมเศร้า" เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราวและไม่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่ในความจริงแล้วมันรุนแรงกว่าที่คิด อย่างที่ได้เห็นในหลายข่าวว่ามีผู้คน หรือแม้กระทั่งคนมีชื่อเสียง ตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยสภาวะของโรคซึมเศร้า

ถึงแม้ในปัจจุบันผู้คนจะได้ให้ความสำคัญกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น เพียงแค่ค้นหาคำว่า "โรคซึมเศร้า" ก็จะเจอข้อมูลภาพอ่านง่ายมากมาย รวมทั้งวิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังละเลย และมองว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือคนที่อ่อนแอ 

โรคซึมเศร้า เป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดและ พฤติกรรมต่างๆ แต่ผู้คนส่วนมากมักจะคิดว่าเป็นความผิดปกติภายในจิตใจ จึงทำให้เกิดความอายและไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง

"ศาสตราจารย์นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล" จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเอาไว้ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

"ที่มาของโรคนั้น ทั่วไปมักจะเข้าใจว่ามาจาก "ความกดดัน" แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น "ความกดดันทั้งจากครอบครัว การงาน การเรียน เรื่องพวกนี้ทำให้เราเสียใจและเศร้าใจได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโรคซึมเศร้า คนที่เป็นโรคนี้เป็นคนที่มีความเสี่ยงระดับหนึ่งอยู่แล้ว และเมื่อมาเจอเรื่องพวกนี้เข้า จึงทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้า" 

"โรคซึมเศร้า" ภัยร้ายเงียบที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป


โดยความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้นั้น มีทั้งเรื่องของพันธุกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของยีนที่ผิดปกติ เรื่องของฮอร์โมน ที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเลี้ยงดู หากมีการพลัดพรากจากพ่อแม่ในวัยเด็ก ก็จะมีแนวโน้มความเสี่ยงสูงเช่นกัน สารสื่อประสาทที่ชื่อว่า ซีโรโทนิน ถ้ามีต่ำกว่าปกติ จะทำให้การสื่อสารเซลล์ประสาททำงานได้ไม่ดีในบางส่วนของสมอง ซึ่งจริงๆ มีสารอีกหลายตัว แต่ตัวนี้คือตัวหลัก จึงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมา

อาการของโรค1. อาการซึมเศร้า2. เบื่อหน่าย คนทั่วไปมักคิดว่า คนเป็นโรคซึมเศร้าต้องเศร้าร้องไห้เสียใจ แต่มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ร้องไห้ ซึมเศร้า แต่เป็นแบบเซ็ง เบื่อ ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่มีชีวิตชีวา เพื่อนชวนไปไหนก็ไม่อยากไป อยู่ๆ ก็เบื่อไปหมด ไม่มีความเพลิดเพลินใจ

โรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตาย พอซึมเศร้าแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า คนเราจะมีชีวิตไปทำไม แต่ที่เจอบ่อยคือ ซึมเศร้าร่วมกับพวกที่มีโรคเรื้อรังทางด้านกาย เช่น มะเร็ง เนื้องอก อัมพาต ซึ่งทำให้เกิดแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ เพราะเขารู้สึกว่าเป็นภาระกับผู้อื่น

สิ่งที่ต้องสังเกตคือ นิสัยเราเปลี่ยนไปจากเดิมไหม โดยอาจมีคนทักว่า "ทำไมเงียบลง ผอมลง ทำไมช่วงนี้ไม่พูดไม่จา ดูซึมๆ ไป" สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เราก็ต้องกลับมามองตัวเองว่า เปลี่ยนไปจริงหรือไม่ ช่วงที่เริ่มเป็นแรกๆ อาจจะสังเกตไม่เห็น แต่เรื่อยๆ อาการจะเห็นชัดขึ้น อารมณ์ต่างๆ จะเหมือนกราฟที่ค่อยๆ ตกลงมา

"โรคซึมเศร้า" ภัยร้ายเงียบที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป



ช่วยแก้ปัญหาขั้นต้นด้วยการฟัง หลักการสำคัญคือ ฟังให้เยอะ เพราะส่วนใหญ่พอเขาจะเริ่มพูด เรายังไม่ทันฟังเลย บางทีก็ให้กำลังใจไปว่า สู้ๆ แต่จริงๆ เราต้องฟังเขาก่อน เป็นยังไงเหรอ เกิดอะไร ให้เขาได้ระบายสิ่งที่อัดอั้น คนเราถ้าได้พูดอะไรออกมาความเครียดก็จะลดลง

วิธีป้องกันที่ดี คือ มีเพื่อน มีคนปรึกษา มีคนพูดคุยกัน ลดความเครียดในตัวเรา สำคัญที่สุดอยู่ที่มุมมองของปัญหา ถ้ามุมมองเราดี ความกดดันต่างๆ ก็ลดลง ปรับความคิด ปรับอารมณ์ ผ่อนคลาย อย่าจมกับเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่"

สำหรับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยังได้เน้นย้ำว่าการรับฟังอย่างตั้งใจเป็นวิธีดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้ผลที่สุด ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตเองก็มี "สายด่วนสุขภาพจิต 1323" สำหรับผู้ป่วยโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ยังได้จัดทำข้อมูลภาพเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเอาไว้ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่แฟนเพจของ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

logoline