svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวน้ำไผ่กว่าร้อย ค้านทำเหมืองแร่ทองแดง

17 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อุตรดิตถ์ _ ชาวบ้านน้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ กว่า 100 คน เดินทางกว่า 200 กม. ยื่นหนังสือคัดค้านทำเหมืองแร่ทองแดง แจงเป็นพื้นที่ต้นน้ำคลองตรอน แหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงประชาชน

 วันที่ 17 กรกฎาคม ที่ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวบ้านจากหมู่ 3,5,6 ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ จำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางมาในสภาพเสื้อผ้าเปียกชุมเนื่องจากฝนตก จาก ต.น้ำไผ่ จากยังตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ กว่า 200 กิโลเมตร เพื่อขอยื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองแดง หลังอุตสาหกรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ติดประกาศมีผู้ประกอบการยื่นคำขอทำเหมืองแร่ที่บ้านห้วยเนียม กว่า 124 ไร่
เมื่อมาถึงศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวบ้านได้ชูป้ายผ้าที่มีข้อความคัดค้านการทำเหมืองแร่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อส.ดูแลเรื่องความปลอดภัย และให้ชุมนุมอย่างสงบ จากนั้นนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจากอุตสาหกรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มารับทราบปัญหา พร้อมรับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้าน
นายวิทูร มะลิวงษ์ ตัวแทนชาวบ้านห้วยเนียม กล่าวว่า ชาวบ้าน ต.น้ำไผ่ ซึ่งเคยประสบภัยน้ำท่วมดินโคลนถล่มเมื่อปี 2554 พร้อมใจเดินทางมาพบผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่บ้านห้วยเนียม หลัง สนง.อุตสาหกรรมจังหวัด ได้นำหนังสือติดประกาศให้ทราบทั่วกันว่าบริษัทนำโชค ไมนิ่ง จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองแดง เนื้อที่ประมาณ 124 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา ในพื้นที่ป่า สปก.บ้านห้วยเนียม หมู่ 5 ต.น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ เมื่อชาวบ้านทราบเรื่องจึงรวบรวมเอกสาร ทำหนังสือคัดค้านไม่ต้องการให้เกิดธุรกิจดังกล่าวในพื้นที่
"เขตที่ดิน ซึ่งนายทุนได้ยื่นขอทำเหมืองเป็นแร่ทองแดง ชาวบ้านเองไม่ทราบว่าคนนอกพื้นที่ทราบได้เช่นไรมาบริเวณดังกล่าวมีแร่ที่มีค่า และเป็นเขต สปก.อยู่ในส่วนของต้นน้ำคลองตรอน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงประชาชน ทั้ง อ.น้ำปาด อ.ทองแสนขัน อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ และไหล่ลงสู่แม่น้ำน่าน และเคยเกิดดินโคลนถล่มครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ปัจจุบันนอกจากเป็นพื้นที่ป่าแล้ว ชาวบ้านยังเข้าทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ"นายนวิทูร กล่าวนายวิทูร กล่าวว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมามีความพยายามของนายทุน ยื่นมาครั้งหนึ่ง โดยขอประทานบัตรกว่า 1,250 ไร่ มาครั้งนี้ลดลงเหลือ 124 ไร่และขอเข้าประทานบัตรนานถึง 25 ปี ซึ่งชาวบ้านไม่เคยเห็นชอบ ไม่ผ่านประชาคม ไม่ผ่านประชุมสภา อบต.น้ำไผ่ เพราะไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จึงรวมตัวยื่นหนังสือคัดค้าน
นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ขอให้ชาวบ้านสบายใจได้ ราชการจะดำเนินงานทุกขั้นตอนตามระเบียบ หากเจ้าของพื้นที่คัดค้านไม่ต้องการ เหมืองแร่ดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น

logoline